เทสลา (Tesla) ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 มีรายได้สุทธิที่ยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ที่ 1,100 ล้านเหรียญ (36,224 ล่้านบาท) ตามมาตรฐานการบัญชีของสหรัฐฯ (GAAP) ซึ่งทำได้เกิน 1,000 ล้านเหรียญเป็นครั้งแรก มีอัตรากำไรจากการดำเนินงาน 11.0% รวมทั้งได้ทำลายสถิติในไตรมาสก่อนด้วยยอดการผลิต 206,421 คันและยอดส่งมอบรถยนต์ 201,304 คัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเทสลายังคงมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วโลกต่างประสบปัญหาการขาดแคลนชิปก็ตาม
ส่วนการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่งสำหรับผลิตรถยนต์ SUV ไฟฟ้า Model Y คือ กิกะเบอร์ลินโรงงานแห่งที่ 4 ในเยอรมนีและกิกะเท็กซัสโรงงานแห่งที่ 5 ในรัฐเท็กซัสประเทศสหรัฐฯ ได้มีความคืบหน้าที่จะเปิดโรงงานในปลายปีนี้
รถยนต์ของเทสลาเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรปที่สูงกว่าการส่งมอบรถยนต์ ซึ่งทำให้ลูกค้ารอรถนานขึ้น เพราะโรงงานกิกะเบอร์ลินยังอยู่ในระหว่างติดตั้งอุปกรณ์และทดสอบเครื่องมือ จึงทำให้ช่วงนี้ต้องนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้น
แบตเตอรี่จัดเป็นส่วนประกอบหลักที่มีผลต่อการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ซึ่งเทสลาได้ตรวจสอบประสิทธิภาพและการใช้งานของเซลล์แบตเตอรี 4680 รวมทั้งได้ทำการทดสอบการชนแพ็กแบตเตอรี่เกี่ยวกับความปลอดภัยได้สำเร็จ (ก่อนหน้านี้รถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาไฟไหม้หลังจากเกิดการชนทำให้ชายสองคนเสียชีวิตใกล้กับเมืองฮูสตัน) และขณะนี้กำลังตรวจสอบคุณภาพและปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ยังมีปัญหาคอขวด
เมื่อการผลิตแบตเตอรี่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์แผนการเปิดตัว Tesla Semi รถเทรลเลอร์ไฟฟ้าที่เคยเผยว่าจะมีขึ้นในปีนี้ก็ต้องเลื่อนไปเป็นปี 2022 ส่วนรถสปอร์ตไฟฟ้าสุดหรู Tesla Roadster ที่เคยเผยว่ามีโอกาสน้อยที่จะเปิดตัวทันในปีนี้ก็ไม่ได้มีการพูดถึงเพราะตามคิวแล้วจะเกิดขึ้นหลัง Semi ดังนั้นคงต้องรออีกนาน
เทสลาต้องเร่งแก้โจทย์ใหญ่ที่เคยสัญญาว่าจะพัฒนาให้ Autopilot และ FSD ระบบขับขี่ด้วยตนเองอย่างเต็มรูปแบบที่ทำได้แค่ SAE ระดับ 2 ที่สามารถบังคับเลี้ยว เบรก และเร่งความเร็วโดยต้องมีคนขับควบคุมอยู่ตลอดเวลาให้สามารถขับขี่เองได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม SAE ระดับ 5 ภายในสิ้นปี 2020 ซึ่งเดือนพฤษภาคมได้เลิกใช้เซนเซอร์เรดาร์เพื่อใช้ระบบ Tesla Vision และได้เริ่มปล่อยการอัปเดตซอฟต์แวร์ FSD Beta v9 แล้วในกรกฎาคม
อนาคตของเทสลาจะพุ่งได้มากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นราคาถูกและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องการแบตเตอรีจำนวนมาก รวมทั้งระบบ FSD ที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะมีผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นแซงหน้าไปก่อนได้
ที่มา : cnet
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส