เทสลา (Tesla) ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกได้ประกาศผลประกอบการณ์ไตรมาสที่ 4 ปี 2021 มีผลกำไรที่ปรับแล้วก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 4,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (135,683 ล้านบาท) สูงกว่าค่าที่ Refinitiv ประมาณไว้แค่ 3,890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (128,953 ล้านบาท) กำไรส่วนหนึ่งหายไปกับภาษีจากแพ็กเกจค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับซีอีโอ 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (11,275 ล้านบาท) รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบ ของใช้โภคภัณฑ์ ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับประกันและเรียกคืนรถมากกว่า 475,000 คัน
เทสลามีรายรับเพิ่มขึ้นเป็น 17,720 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (587,772 ล้านบาท) สูงกว่าที่ Refinitiv คาดการณ์ไว้ที่ 16,570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (549,477 ล้านบาท) ทั้งที่ประสบปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนชิป แต่ยังสามารถทำสถิติส่งมอบรถยนต์ได้ 936,172 คัน และคาดการณ์ว่าปี 2022 จะเติบโตขึ้นมากกว่า 50% เท่ากับว่าจะส่งมอบรถยนต์ได้มากกว่า 1,400,000 คันในปีนี้ เป้าหมายนี้จะสำเร็จได้แม้ว่าผลิตจากโรงงานที่เปิดอยู่ในปัจจุบันคือที่แคลิฟอร์เนียและเซี่ยงไฮ้ (ปีที่แล้วได้เริ่มผลิตที่โรงงานเบอร์ลินและเท็กซัสไม่กี่คัน ถ้าผลิตได้เต็มที่ยอดจะสูงกว่านี้)
ปี 2022 ไตรมาสแรกเทสลาจะผลิตรถยนต์ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ 4680 ในโรงงานเท็กซัสออกมาส่งมอบคันแรก และคาดว่า FSD จะสามารถขับขี่ด้วยตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ในปีนี้ ซึ่งตอนนี้ได้ทดสอบ FSD รุ่นเบต้ากับรถยนต์ในสหรัฐฯ เพิ่มเป็นเกือบ 60,000 คัน
ที่น่าเสียดาย คือ เทสลาจะไม่เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในปีนี้ หวังว่าจะเปิดตัว Cybertruck, Semi และ Roadster ได้ในปี 2023 รวมทั้งปัจจุบันยังไม่ได้พัฒนารถยนต์รุ่นราคาถูก 25,000 เหรียญ (828,662 บาท) ตามที่สัญญาไว้ในงาน Battery Day เมื่อปี 2020 ว่าจะเปิดตัวได้ในอีก 3 ปี
ที่มา : reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส