กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดตัวแอปพลิเคชันที่ช่วยในการคัดแยกผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ในชื่อ “หมอชนะ” ซึ่งปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์จะต้องดูแลคนมากกว่าร้อยคนต่อแพทย์เพียงคนเดียว และไม่สามารถติดตามผู้ติดเชื้ออย่างแท้จริงได้ และยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อหรือยัง ซึ่งแอปหมอชนะตัวนี้ จะมาช่วยเหลือในส่วนนี้ได้ เพราะถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ง่าย ลงทะเบียนไม่ยุ่งยาก แค่กรอกเบอร์โทรศัพท์และถ่ายภาพตัวเอง หลังจากนั้นวิธีใช้ก็เพียงแค่ให้คุณตอบคำถาม 4 คำถามสั้น ๆ ดังนี้

  1. บอกอาการ ณ ปัจจุบันที่ตรงกับคุณ
  2. ได้เดินทางไปต่างประเทศในช่วงเวลา 14 วันนี้หรือไม่?
  3. ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงภายใน 14 วันนี้หรือไม่?
  4. ประกอบอาชีพใกล้ชิดกับชาวต่างชาติหรือไม่?

หลังจากนั้นตัวแอปฯ จะแสดงผลว่าเราอยู่ในเกณฑ์ไหน โดยจะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกันดังนี้

1 กลุ่มความเสี่ยงต่ำ (สีเขียว) เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
2. กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) อาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่เคยมีประวัติไปต่างประเทศ เมื่อหมดอาการ ระบบจะปรับเป็นสีเขียวให้อัตโนมัติ
3. กลุ่มความเสี่ยงสูง (สีส้ม) กลุ่มผู้มีความเสี่ยง มีประวัติไปต่างประเทศในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ยังไม่แสดงอาการ ควรกักตัว 14 วันเพื่อรอดูอาการ และหากมีอาการก็ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที
4. กลุ่มความเสี่ยงสูงมาก (สีแดง) กลุ่มผู้มีความเสี่ยง มีประวัติไปต่างประเทศในช่วง 14 วันที่ผ่านมา และแสดงอาการ จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

โดยผู้ที่ใช้แอป หมอชนะ หลังจากกรอกข้อมูลเรียบร้อย ระบบจะทำการแสดง QR Code ออกมาว่าแต่ละคนอยู่ในเกณฑ์ไหน ซึ่งถ้าอยู่ในกลุ่มสีส้ม และสีแดง จะมีผู้เชี่ยวชาญโทรมาให้คำแนะนำทันที และถ้าต้องการเดินทางไปพบแพทย์ ก็จะสามารถแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ได้ทันทีผ่านการเปิดหน้าจอ QR Code นี้อีกด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

ระบบไม่เพียงแค่ใช้การกรอกข้อมูลเพื่อแบ่งเกณฑ์ของสีเพียงอย่างเดียว แต่จะมีในส่วนของระบบการตรวจสอบว่า ผู้ใช้แอปเคยได้มีโอกาสเดินทางไปในจุดที่ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้เสี่ยงหรือไม่ในช่วงที่ผ่านมา โดยการตรวจสอบผ่านระบบ GPS และระบบ Bluetooth ซึ่งหากมีการตรวจพบ ระบบก็จะทำการเปลี่ยนค่าสีให้อัตโนมัติ เพื่อให้เรารู้ว่า ณ ตอนนี้เริ่มมีความเสี่ยงเกิดขึ้นกับเราแล้ว

เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ทางทีมผู้พัฒนาได้ให้ความมั่นใจว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ได้กรอกไว้จะไม่ถูกนำไปใช้ในด้านอื่น และจะทำการลบทิ้งทั้งหมดหลังจากจบวิกฤติ COVID-19 นี้ทันที เราจึงมั่นใจว่าข้อมูลที่กรอกไปจะปลอดภัยแน่นอน และการใช้แอปหมอชนะนี้ จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ถูกปฎิเสธการรักษาอีกด้วย

ประโยชน์ของแอป “หมอชนะ”

แอปหมอชนะนอกจากจะช่วยให้ตัวเราทราบถึงความเสี่ยงของตัวเองในการติดโรค COVID-19 แล้ว ยังสามารถช่วยให้การประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล และช่วยในการติดตามกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้การช่วยเหลือได้อีกด้วย ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้งานแอปนี้อย่างแน่นอน

ใครคือผู้พัฒนาแอป “หมอชนะ”

แอป “หมอชนะ” เป็นผลลัพธ์ของการผนึกกำลังระหว่าง “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ” นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ภายใต้ชื่อ “Code for Public” และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้ชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยบูรพา

ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ. ทีโอที บจก. ไปรษณีย์ไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพล สภากาชาดไทย

แอปหมอชนะ

ตลอดจนองค์กรเอกชนจากหลากอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ได้แก่ Dtac AIS และ True ด้านการเงินธนาคาร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ด้านเทคโนโลยี ได้แก่ บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี บจก. Blockfint บจก. Cleverse บจก. ทรูเวฟ (ประเทศไทย) บจก. Invitrace บจก. เอเทน เทคโนโลยีส์ (ไทยแลนด์) บจก. NODSTAR Longdo Map ด้านพลังงาน ได้แก่ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ ด้านยานยนต์ โลจิสติกส์และก่อสร้าง ได้แก่ บจก. เจแปนคาร์ แอดแซสเซอรี่ แอนด์ พาร์ท บจก. ฮอนด้า ประเทศไทย บจก. เค.คอนเนค เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) บจก. โกลบเทค ด้านบริการสื่อสารและบันเทิง ได้แก่ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ Rabbit Digital Group Likehouse บจก. แมด อะไรดี ร่วมด้วยสื่อมวลชนและกลุ่มพลังอิสระเพื่อสังคม ได้แก่ บมจ. มติชน บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป สำนักข่าวอิศรา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และมูลนิธิสะพานบุญ เป็นต้น

ผมขอขอบคุณทุก ๆ ภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันสร้างแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา ซึ่งการร่วมมือกันครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัลในปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญมาก และอยากขอบคุณโดยเฉพาะคือกลุ่มสตาร์ตอัปที่ได้ช่วยกันสร้างสิ่งดี ๆ เพื่อมาช่วยพี่น้องประชาชนให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นในช่วง COVID-19 นี้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นในวันนี้คือการนำเอาความสามารถของทุก ๆ คนมารวมกัน กลายเป็นแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ซึ่งคำนี้จะเป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนอยากให้เป็น พวกเราจึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้

ซึ่งแอปพลิเคชันนี้อาจไม่ใช่แอปที่ดีที่สุด แต่ทีมจะช่วยกันพัฒนาแอปพลิเคชันให้ใช้งานได้อย่างราบรื่น และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชนจะต้องช่วยกันใช้งานแอปหมอชนะนี้ และเชื่อว่าแอปนี้จะตอบโจทย์ทั้งวันนี้และในอนาคต เพราะสามารถบอกได้ทั้งหมดว่า ตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และแอปพลิเคชันนี้สร้างออกมาเพื่อวันนี้ เพื่ออนาคต ซึ่งข้อมูลส่วนตัวที่ลงทะเบียนทั้งหมด ปลอดภัย 100% ไม่มีการเผยแพร่ออกไปให้ใครใช้งานข้อมูลส่วนนี้แม้แต่คนเดียว และแอปพลิเคชันนี้ไม่มีเจ้าของ แต่มาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย เพื่อสร้างให้ประชาชนให้ได้ประโยชน์ได้มากที่สุด อยากให้ช่วยกันโหลดมาใช้งานกันทุก ๆ คน เพื่อปกป้องทั้งประชาชนและเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เรียกได้ว่าแอปนี้เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน จึงอยากให้ทุก ๆ คนช่วยกันใช้งานเพื่อช่วยให้คนไทยพ้นวิกฤติ COVID-19 กันได้ทุกคนครับ สามารถโหลดแอปหมอชนะได้แล้วทั้งบน iOS และ Android

 

 

ดาวน์โหลดแอปหมอชนะ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส