“นีโอ” ผนึกกำลัง ภาครัฐ-เอกชน จัดใหญ่ “e-Biz Expo 2016” ชูแนวคิด “Digital in Your Hand” ขนกุนซือ แวดวง อี-บิซิเนส ร่วมแชร์ประสบการณ์ หวังติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทย รับมือกับเทรนด์ธุรกิจที่หลากหลาย ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลก
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน “e-Biz Expo 2016” งานแสดงบริการด้านอีคอมเมิร์ซครบวงจร ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด
“Digital in Your Hand”
เพื่อตอกย้ำความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีนางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกล่าวถึงนโยบายการสนับสนุน e-Commerce ว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนงาน e-BIZ Expo 2016 เนื่องจากปัจจุบันการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ e-Commerceมีความสำคัญจึงต้องกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจของไทยใช้ e-Commerce เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพมาตรฐาน
ด้าน นางสาวบุษยา ประกอบทอง ผู้จัดการทั่วไปนีโอ กล่าวว่า งาน “e-Biz Expo 2016” จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจไปจนถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก ทั้งนี้ภายในงานได้นำองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงโซลูชั่นด้านต่างๆ จากบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำกว่า 100 บริษัท มาคอยให้คำปรึกษา พร้อมเสนอช่องทางดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย ที่จะได้รู้จักกับกลุ่มธุรกิจดิจิทัลต่างๆ มากมาย ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการได้ทันทุกการเปลี่ยนแปลงในวงการอีบิสซิเนส ถือเป็นการตอบโจทย์ผู้ประกอบการทุกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้คาดการณ์ว่า จะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 10,000 คน เนื่องจากกระแสความนิยมในธุรกิจออนไลน์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้จะมีเม็ดเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท
สำหรับการจัดงาน “e-Biz expo 2016” ครั้งนี้ ใช้พื้นที่กว่า 5,000 ตร.ม. เพื่อรองรับ 4 โซนที่รวบรวมผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซชั้นนำ
- โซนผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซชั้นนำ (E-Commerce Show ) อาทิ Ascend Group ผู้นำการให้บริการด้าน e-Businessในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมขยายธุรกิจไปยังประเทศในกลุ่ม AEC ให้บริการครอบคลุมทุกส่วนธุรกิจ ที่มีศักยภาพให้บริการด้านดิจิทัลที่สามารถเกื้อหนุนและผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยให้ก้าวขึ้นสู่ระดับโลก, WeLoveShopping, iTrueMart, Ready Planet, และอีคอมเมิร์ซระดับโลกอย่าง Alibaba พร้อมให้คำปรึกษาและวางแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
- โซนระบบการชำระเงินออนไลน์( E-Payment Show )อาทิ กรุงศรี e-biz โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)ที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์หลากหลาย เพื่อให้ผู้ประกอบการสัมผัสประสบการณ์การใช้งานอย่างแท้จริง พร้อมสัมมนาหัวข้อเด็ดต่อยอดธุรกิจสู่โลกดิจิทัล, Paypaid กับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในการต่อยอดธุรกิจให้เติบโต , True Money
- โซนผู้ให้บริการระบบขนส่งที่สนับสนุนและรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Logistic Show )อาทิ Kerry Express ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชื่อดัง ครอบคลุมพื้นที่ 99.9 % ในประเทศไทย ด้วยบริการ Bangkok Sameday รับส่งพัสดุถึงที่ภายใน 2 ชั่วโมง โดย booking ผ่าน Express Application, Aden, ไปรษณีย์ไทย จำกัด
- โซนการตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) โดย Egg Digital, Facebook ซึ่งเป็น social network ที่ได้รับความนิยม และ Google
ทาง SOKOCHAN ก็ได้ไปเปิดบูธในงานนี้ด้วย ซึ่งโซโกะจันถือเป็นอีก 1 บริษัทที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะเขามีการให้บริการทั้งเป็นโกดังเก็บสินค้า, บริการแพ็คสินค้า และรวมไปถึงช่วยส่งสินค้าให้คุณทันทีอย่างง่ายดาย และที่สำคัญมีค่าบริการที่ไม่แพง เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นทำบริษัท E-commerce เป็นอย่างยิ่ง ใครไปที่งาน e-Biz Expo 2016 นี้ก็อย่าลืมแวะเข้าไปพูดคุยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยจ้า โดยบูธจะอยู่ที่จุด P38 ใกล้ ๆ เวทีเล็กเลย
นอกจากนี้ยังมีโซนการให้คำปรึกษาด้านอีคอมเมิร์ซของเมืองไทย อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย และซิป้า ที่ร่วมใจกันมาให้คำปรึกษา เพื่อหวังต่อยอดความคิดให้ผู้ประกอบการไทย พร้อมรับมือกับเทรนด์ธุรกิจที่หลากหลาย และเตรียมความพร้อมทั้งด้านศักยภาพ และองค์ความรู้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ให้นักธุรกิจไทยทัดเทียมคู่ค้าในตลาดโลก
ขณะเดียวกัน ยังมีงานสัมมนา ที่รวมเหล่า Speaker กูรูในวงการ e-Business และดิจิทัลทั้งจากในไทยและในระดับเอเชีย มาเผยข้อมูลแบบเจาะลึกภายในงานนี้ งานเดียว อาทิเช่น Kerry Express, Ascend, Ready Planet, Alibaba, LINE, Facebook, Google, Amazon, e-Bay, Central Online, Zalora โดยหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “ผ่าเทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยปี 2016 ทำอย่างไรให้ธุรกิจเปรี้ยง” โดย คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด , “ลูกค้าประจำสร้างได้ เทคนิคเด็ดมัดใจให้ลูกค้าซื้อซ้ำ” โดย Mr. Ali A. Fancy กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซาโลร่า (ไทยแลนด์) จำกัด, “เจาะลึกโซเชียลมีเดีย ยุคทองของการค้าบนโลกออนไลน์” โดย คุณรฐิยา อิสระชัยกุลผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเอสเอ็มอี Facebook ประจำประเทศไทย, “สร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกค้าคนพิเศษผ่านแชทแอพพลิเคชั่น” โดย คุณอนพัทย์ สุวรรณสุทธิ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ LINE@ LINE ประเทศไทย, “นิยามใหม่ของการขนส่งเพื่อธุรกิจออนไลน์” โดย คุณวราวุธ นาถประดิษฐ Assistant General Manager of Kerry Express (Thailand)Limited, “ปิดการขายได้ 100% ด้วย Google เผยจากประสบการณ์ตรง” โดย คุณภูมิพงศ์ หิรัญพฤกษ์เจ้าของธุรกิจศาลพระภูมิ อินทรศิลป์ และ คุณชาญชัย เพียรักษา จากบริษัท อลูโฮมเดคคอร์เรชั่น จำกัด, และ “ใช้ Social Media เป็นเห็นเงินล้าน” โดย Kru Chai Marketing in Black
และที่สำคัญ หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ได้ขึ้นไปพูดในงานนี้ด้วย เวลา 17:30 – 18:30 น. บอกเลยห้ามพลาด
โดยทีมงานก็ได้เข้าไปรับฟังคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด เผยข้อมูลเรื่อง “ผ่าเทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยปี 2016 ทำอย่างไรให้ธุรกิจเปรี้ยง” มาด้วย โดยเราจะขอนำรายละเอียดที่คุณป้อมได้เผยมาให้อ่านกันที่นี่
คุณป้อมได้นำเอาตัวอย่างบริษัท Startup หนึ่งที่เคยไปถึงจุดสูงสุดได้ว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ เงิน เวลา และความรวดเร็วในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งกราฟที่เห็นนี้คือกราฟการเงินของบริษัท Startup ทุก ๆ บริษัทที่จะต้องมีการลงทุนทางด้านเงินและเวลา รวมไปถึงการโปรโมตต่าง ๆ มากมายเพื่อให้บริษัทเป็นที่รู้จักในตลาด ซึ่งช่วงนี้ทุนจะจมเป็นระยะเวลานานมาก ๆ (อาจเกิน 1 – 2 ปีเลยทีเดียว) แล้วพอหลังจากที่ผ่านช่วงนี้และได้รับการระดมทุนเข้ามา ก็จะสามารถไต่เต้าขึ้นไปสู่ระดับ Break even และทะลุ Early State ที่เป็นช่วงการคืนทุน ซึ่งช่วงนี้บริษัทจะเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากและเข้าสู่ช่วง Later Stage ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะสามารถแยกออกไปได้ 2 รูปแบบคือ การเข้า IPO หรือตลาดหุ้นหรือจะขายบริษัทเพื่อเอาเงินไปทำ Startup อื่นในอนาคตก็ย่อมได้
เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะพบว่า ประเทศแถบนี้ที่มีบริษัท Startup เยอะเป็นอันดับต้น ๆ คือประเทศสิงคโปร์ และอินโดนิเซีย ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับ 3
ในส่วนของบริษัท Startup แบบ E-commerce อันดับต้น ๆ ของโลกนั้นจะมองที่ออเดอร์การสั่งซื้อ, จำนวนผู้เข้าชม และสิ่งสำคัญที่สุดคือ
แต่ก็บอกได้เลยว่าไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใคร ๆ คิด เพราะมันคือการลงทุนในระยะยาวมาก ๆ โดยขั้นตอนที่จะทำให้ตัวบริษัท E-commerce ของเรานั้นสามารถเติบโตถึงเป้าได้คือ
- การลงโฆษณาแบบ Mass ที่ใช้เงินมูลค่ามหาศาลและใช้ระยะเวลานาน
- การนำเอาสินค้าที่จำหน่าย ลดราคาให้ต่ำกว่าทุนเพื่อดึงคนเข้ามาซื้อกับเรา
- การมองหาสินค้าเด่น ๆ ที่มีในตลาดอยู่ตลอดเพื่อดึงให้คนเข้ามาซื้อกับเราสม่ำเสมอ
- และสุดท้ายคือ “เงิน” ที่คุณจะต้องมีจำนวนมหาศาลมาก ๆ กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้
คุณป้อมได้นำเอาตัวอย่างเว็บชื่อดัง Flipkart, Amazon และ Snapdeal ที่เป็นเว็บไซต์ E-commerce ชื่อดังอันดับต้น ๆ ที่เปิดอยู่ในประเทศอินเดียมาเผยว่า ทุก ๆ การใช้จ่าย 1 รูปี (ค่าเงินอินเดีย) ทาง Flipkart จะสูญเสียเงินไปถึง 2.23 รูปี ส่วน Amazon สูญเสียไป 1.90 รูปี และ Snapdeal เสียน้อยที่สุด แต่ก็ยังเสียไปถึง 1.72 รูปีเลยทีเดียว
และแน่นอนว่าปัญหาที่สำคัญของ Startup ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเราเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลาย ๆ บริษัทที่คิดแบบเดียวกับเรา ซึ่งถ้าบริษัทเหล่านั้นมีเงินมากกว่าหรือมีความสามารถดีกว่า เงินที่เราลงทุนไปนั้นอาจจะเสียไปฟรี ๆ เลยก็เป็นได้ ดังนั้นบริษัท Startup จึงไม่เหมือนบริษัททั่วไปที่ใครเปิดก่อนได้เปรียบอีกต่อไป
และสรุปสุดท้ายของคุณป้อมกับทางรอดของ SME ไทยในช่วงการเปลี่ยนแปลงนี้คือ
- เพิ่มช่องทางการขายสินค้า เพราะเดี๋ยวนี้การซื้อขายสินค้าไม่เป็นเพียงแค่การขายที่หน้าร้านอีกแล้ว
- เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อให้งานที่ทำดีอยู่แล้ว ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
- เพิ่มความรู้ให้กับองค์กรทั้งตัวเองและผู้อื่น เพราะคนเราถ้าไม่มีการหาความรู้เพิ่มเติมก็มักจะทำอะไรแบบเดิม ๆ ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดความคิดได้
- สุดท้ายคือ “ลงมือทำ” นั่นเอง!!