ทาง Facebook ได้ประกาศการเปิดใช้ส่วนร้านค้าสำหรับเพจธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกมาแล้วเป็นที่เรียบร้อย (แน่นอนว่าทางแบไต๋ก็ได้ใช้งานแล้วเช่นกัน) เป็นฟีเจอร์ที่ได้รับการออกแบบให้ธุรกิจร้านค้าต่างๆ ที่ใช้งาน Facebook Fanpage มีทางเลือกใหม่ในการนำเสนอสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ ซึ่งก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาวางขาย มีความโดดเด่นสะดุดตามากขึ้นบนเพจ ส่วนร้านค้าบนเพจจะช่วยให้ผู้คนพบสินค้าใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังสามารถค้นหาสินค้าที่มีวางจำหน่ายจากธุรกิจที่พวกเขาให้ความสนใจ และติดต่อซื้อขายได้ง่ายทันทีผ่านระบบ Messager ของ Facebook อีกด้วย

คุณรฐิยา อิสระชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเอสเอ็มอี Facebook ประจำประเทศไทย

รฐิยา อิสระชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเอสเอ็มอี Facebook ประจำประเทศไทย

รฐิยา อิสระชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเอสเอ็มอี Facebook ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากในประเทศไทย ใช้ Facebook ต่อยอดธุรกิจผ่านการโพสต์และส่งข้อความ เพื่อแบ่งปันข้อมูลสินค้าให้กับผู้คนที่ติดตามเพจ การเปิดใช้งานส่วนร้านค้าในประเทศไทยครั้งนี้ เราได้พัฒนาประสบการณ์ซื้อขายสินค้าให้ดีขึ้น ด้วยการให้ธุรกิจต่างๆ แนะนำสินค้าด้วยรูปภาพที่หลากหลายและน่าดึงดูดกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยให้ผู้คนสั่งซื้อสินค้าผ่านการส่งข้อความได้ เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กทั้งหลายให้เชื่อมต่อ กับผู้ใช้ Facebook จำนวนกว่า 40 ล้านคนในประเทศไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อช่วยพวกเขาผลักดันธุรกิจให้เติบโตต่อไปในที่สุด”

ฟีเจอร์ในส่วนร้านค้าใหม่ ได้แก่

  • การขายสินค้า: โปรโมทสินค้าได้ง่ายๆ ด้วย “ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ”
  • การชำระเงิน: ปุ่มข้อความที่อยู่ถัดจากภาพสินค้าจะช่วยให้ลูกค้าติดต่อกับผู้ขาย เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และจัดการเกี่ยวกับการชำระเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • การสมัครรับข้อมูล: ผู้ใช้ Facebook สามารถสมัครรับข้อมูลจากแถบร้านค้า เพื่ออัพเดทเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด และการแจ้งเตือนอื่นๆ ของทางร้านค้า
  • โฆษณา: Facebook ได้เพิ่มตัวเลือกสำหรับการ Boost Product ให้ธุรกิจต่างๆ สามารถสร้างสรรค์โฆษณาในการโปรโมทผลิตภัณฑ์ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

คุณพรรณทิพา มงคลล่าและคุณตวงทอง อนันต์เดชไพศาล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ N.IX studio

คุณพรรณทิพา มงคลล่า และคุณตวงทอง อนันต์เดชไพศาล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ N.IX studio กล่าวว่า “มี shop ก็เหมือนมีเว็บ e-commerce โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แทนที่เมื่อก่อนลงเป็น album เราก็ลงเป็นรูปสินค้าหลากหลายมุม มีรายละเอียดครบถ้วนขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขายได้จริง ทุกครั้งที่เราลงของใหม่ ไม่ถึงวันก็จะมีคนเข้ามาซื้อ กว่า 50% เลยที่ส่งข้อความเข้ามาตัดสินใจซื้อ เพราะข้อมูลสินค้าใน shop มีครบแล้ว ทำให้การตัดสินใจเร็วและง่ายขึ้น”

คุณสุรีรัตน์ ศรีพรหมคำและคุณประเสริฐ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง  แบรนด์เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery

คุณสุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เจ้าของธุรกิจเจคิว ปูม้านึ่ง Delivery กล่าวว่า “ส่วนร้านค้าของ Facebook ช่วยเรากระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในช่วงวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ เราได้รับยอดสั่งซื้อสินค้ามูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านบาทภายในหนึ่งวัน! ซึ่งเป็นผลลัพธ์หลังจากเราได้เพิ่มส่วนร้านค้าบน Facebook”

‘ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยต่อยอดธุรกิจบน Facebook ด้วยการขายผ่านการพูดคุยได้อย่างไร?’

สำหรับการค้นหาลูกค้ารายใหม่ๆ และการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีอยู่ ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องอยู่ในที่เดียวกันกับลูกค้าของพวกเขา ซึ่งในทุกวันนี้คือการทำให้ธุรกิจเข้าถึงได้ง่าย เพราะผู้คนใช้เวลาบนอุปกรณ์มือถือมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยมีผู้ใช้งาน Facebook ต่อเดือน มากกว่า 40 ล้านคน โดยมีถึง 95 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้งาน Facebook บนมือถือ และด้วยอัตราการครอบครองโทรศัพท์มือถือที่สูงถึง 126 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี พ.ศ. 2558 จึงมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 46.7 ล้านคน ภายใน พ.ศ. 2559

จากการที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่โมบายเฟิร์สอย่างเต็มตัว มีคนไทยถึง 74 เปอร์เซ็นต์ที่ส่งข้อความแบบทันทีในแต่ละวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 34 เปอร์เซ็นต์เมื่อพ.ศ. 2557 และจำนวนผู้ใช้งานชาวไทยที่ส่งข้อความทาง Facebook ให้เพจธุรกิจต่างๆ ในแต่ละเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยผู้ใช้ทั่วโลกเกือบสองเท่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับธุรกิจต่างๆ ในไทยที่จะเข้าถึงผู้ใช้ Facebook ด้วยความรวดเร็วและตอบสนองได้อย่างทันท่วงที

ประเทศไทยได้คว้าโอกาสจากยุคโมบายเฟิร์ส และกลายเป็นผู้นำเทรนด์การขายสินค้าบนโซเชียล (อ้างอิงจากไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอส์ (PwC) ผลวิจัย Total Retail 2016 ในหัวข้อ “They Say They Want a Revolution” เผยแพร่เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ข้อมูลวิจัยเมื่อเดือนกันยายน 2558)

ส่วนร้านค้าบน Facebook นั้นจะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก เพราะกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ของนักช้อปออนไลน์ในไทยใช้ Facebook เพื่อค้นหาสินค้าใหม่ๆ Facebook จึงเป็นก้าวแรกของเส้นทางการซื้อสินค้าออนไลน์ไปแล้ว ฟีเจอร์ส่วนร้านค้าได้รับแรงบันดาลใจจากเทรนด์การขายสินค้าผ่านโซเชียลในประเทศไทย โดยออกแบบให้ธุรกิจร้านค้าต่างๆ มีทางเลือกใหม่ในการนำเสนอสินค้าอย่างโดดเด่นสะดุดตามากขึ้น เพิ่มยอดขายสินค้า รวมถึงช่วยทำให้เพจกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงคุณค่าของธุรกิจบนโลกออนไลน์ด้วย

และเคล็ดลับในการใช้งานส่วนร้านค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมีดังนี้

  1. เพิ่มรายละเอียดธุรกิจของคุณบนเพจ เพื่อช่วยให้ลูกค้าค้นหาและเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจของคุณได้ง่ายขึ้น
  2. กำหนดการตั้งค่าบนเพจ ให้ตรงกับความต้องการทางธุรกิจ โดยเพิ่มปุ่ม Call-to-action เช่น “โทรเลย” หรือ “เลือกซื้อเลย” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกระทำที่ส่งผลสำคัญต่อธุรกิจของคุณ
  3. เพิ่มส่วนร้านค้าบนเพจของคุณ เพื่อนำเสนอสินค้าและเพิ่มยอดขาย
  4. เผยแพร่ร้านค้าของคุณให้ทุกคนรู้จัก โดยการแชร์ไปยังไทม์ไลน์ของคุณ การกระทำดังกล่าวจะช่วยให้มีโพสต์ที่ดึงดูดลูกค้ามาที่ร้านของคุณได้โดยตรง
  5. ใช้ Messenger เพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้าของคุณโดยตรงจากเพจ
    • ตอบสนองอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการช้อปปิ้งเป็นประสบการณ์ส่วนตัว สำหรับผู้บริโภคชาวไทย
    • กุญแจสู่ความสำเร็จ คือยึดถือการบริการเป็นหัวใจหลัก และให้บริการอย่างใกล้ชิดใส่ใจลูกค้า
    • ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งซื้อ หรือการจัดส่งสินค้าผ่านทาง Messenger เพื่อให้ง่ายต่อลูกค้าของคุณในการเก็บหลักฐานยืนยัน และง่ายสำหรับธุรกิจในการต่อยอดบริการหลังการขาย รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า

สรุปข้อมูลและสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Facebook (ณ เดือนมีนาคม 2559)

ทั่วโลก

  • ยอดผู้ใช้ Facebook ทั่วโลก 1.65 พันล้านคนต่อเดือน
  • ยอดผู้ใช้ Messenger ทั่วโลก 900 ล้านคนต่อเดือน
  • ยอดเพจธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วโลก 50 ล้านเพจ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  •  มียอดผู้ใช้งาน Facebook มากกว่า 252 ล้านคน ในทุกๆ เดือน
  • มีมากกว่า 61 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานแอคทีฟต่อเดือนบน Facebook ใช้งานเป็นประจำทุกวัน
  • มากกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ใช้งาน Facebook ในแต่ละเดือน ผ่านทางมือถือ

ประเทศไทย

มียอดผู้ใช้งาน Facebook ต่อเดือน มากกว่า 40 ล้านคน มากกว่า 38 ล้านคน ต่อเดือน ใช้งาน Facebook บนมือถือ และมากกว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ใช้ Facebook เชื่อมต่อกับเพจธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างน้อยหนึ่งเพจ