วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยผลการสอบสวนการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองและนักวิชาการในไทย พบว่ามีอย่างน้อย 30 คน ถูกสปายแวร์เพกาซัสสอดแนมทางมือถือ
สืบเนื่องจากรายงานเมื่อปีที่แล้ว ที่แอปเปิลเจอว่ามีสปายแวร์ชื่อเพกาซัสกระจายไปตามอุปกรณ์ของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และได้ฟ้องร้อง NSO Group ซึ่งเป็นผู้พัฒนาสปายแวร์ตัวนี้ ล่าสุดมีรายงานว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยอย่างน้อย 30 คน ก็ถูกสอดแนมด้วยสปายแวร์ตัวนี้เช่นกัน
กลุ่มเป้าหมายในการโจมตี ส่วนใหญ่มีบทบาทในช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563-2564 ซึ่งด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนทำการสอดแนมดังกล่าว
ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่าจาก 30 รายชื่อที่ถูกเจาะข้อมูล มีนักกิจกรรมทางการเมือง 24 คน, นักวิชาการ 3 คน, และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) 3 คน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ iLaw ร่วมกับ Citizen Lab จากมหาวิทยาลัยโตรอนโตประเทศแคนาดา พร้อม Digital Reach ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ร่วมกันสืบสวน
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกสอดแนมโดยสปายแวร์ และกำลังทำการสืบสวนเพิ่มเติมว่าใครเป็นคนควบคุมการเผยแพร่สปายแวร์ตัวนี้ ซึ่งนายยิ่งชีพสงสัยว่าเป็นรัฐบาลไทย แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ 100%
นายยิ่งชีพกล่าวว่า เว็บไซต์ของ NSO ระบุว่าสปายแวร์ตัวนี้ขายให้กับรัฐบาลเท่านั้น เป็นเหมือนอาวุธสงคราม ซึ่งผู้คนที่โดนโจมตีล้วนเป็นคนที่วิจารณ์รัฐบาลไทย ไม่มีเหตุผลอื่นที่รัฐบาลประเทศอื่นจะซื้อสปายแวร์เพกาซัสมาโจมตีคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้นคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากการโจมตีคนกลุ่มนี้คือรัฐบาล
ทาง iLaw ตั้งเป้าหมายว่าจะฟ้องดำเนินคดีให้ได้เมื่อมีข้อมูลมากพอว่าการโจมตีนี้ร้ายแรงแค่ไหน ความเสียหายเกินขอบเขตอย่างไร และรัฐบาลเล็งเป้าหมายอะไร เพื่อจะได้ประเมินความเสียหายได้ถูก
ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ยังไม่ทราบและไม่เห็นรายงานของ iLaw ขอตรวจสอบข้อมูลก่อนให้ความเห็นใด ๆ
ซึ่งนายชัยวุฒิต่อมาได้ให้ข้อมูลในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 19 ก.ค. DES รู้ว่ามีระบบนี้จริง แต่กระทรวงไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้ เพราะไม่มีอำนาจ มันเป็นงานของฝ่ายความมั่นคงหรือด้านยาเสพติด แต่ต้องเกี่ยวกับคดีพิเศษ คดีสำคัญ ซึ่งเราไม่มีอำนาจทำเรื่องนี้
ที่มา: BBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส