นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป (บริษัทแม่ดีแทค) ร่วมกันแถลงทิศทางและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค
นายศุภชัย กล่าวว่า การควบรวมกิจการเกิดจากทั้งสองบริษัทเห็นตรงกันว่าอุตสาหกรรมผู้ให้บริการมือถือได้รับผลกระทบหนักจากการเปลี่ยนไปของผู้บริโภค และจากการมาของ OTT (Over-The-Top) ผู้ให้บริการระดับโลกที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งไป จากเดิมที่เคยมีรายได้หลักจากการคิดค่าโทรศัพท์และข้อความ SMS ปัจจุบันก็หายไปจนแทบไม่เหลือเพราะมีบริการ Voice Call – Message ผ่านแอป จนต้องหันไปพึ่งรายได้จากการคิดค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินสูงในการสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง 5G นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการกำกับดูแลและความเท่าเทียมที่ต้องหารือเพิ่มเติม ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ทรู-ดีแทคต้องทำการรวมกิจการเพื่อเสริมจุดแข็งในด้านศักยภาพการแข่งขัน
แน่นอนว่าการควบรวมกิจการ ย่อมมีทั้งผลกระทบและผลประโยชน์ที่ตามมา หากมองแต่ผลกระทบโดยไม่ดูถึงผลประโยชน์ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะการควบรวมในครั้งนี้ มีประโยชน์เกิดขึ้นในหลายมิติ ถ้ามองมิติของผู้บริโภคสิ่งที่จะได้จากการควบรวมกิจการก็คือ เครือข่ายสัญญาณที่ครอบคลุมและลื่นไหล เพราะมีเสาถึง 49,800 สถานี รวมถึงได้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง 5G และมีบริการที่สะดวกขึ้นจากการแชร์ศูนย์บริการระหว่างกัน ถ้ามองในมิติของประเทศชาติและระดับโลกการควบรวมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ต และสามารถสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) เพื่อให้ไทยสามารถก้าวมาเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน รวมถึงการตอบสนองนโยบายรัฐเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ที่ถ้าร่วมมือกันทำจะได้ประสิทธิผลมากกว่า
นอกจากนี้นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ปยังกล่าวเสริมอีกว่า จากการเก็บสถิติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าไทยมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคนี้ เนื่องจากคนไทยนิยมทำธุรกรรมผ่านโลกออนไลน์ อย่างการสั่งซื้อสินค้าที่ 9 ใน 10 เข้าถึงแล้ว และตลาดอินเทอร์เน็ตยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น 2020 – 2021 ก็เติบโตถึง 50% แต่ถึงอย่างนั้น ไทยก็ยังขาดยังการลงทุนจากต่างประเทศ และยังขาดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ที่เหมาะสม ทำให้ไทยมีสตาร์ตอัปที่ก้าวถึงระดับยูนิคอร์นเพียง 3 ราย นั่นคือ Bitkub, Ascend และ Flash Express และเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ในปี 2564 มีการลงทุนสูงสุดในสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีประมาณ 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ส่วนแบ่งของประเทศไทยอยู่ที่ 3% ในปี 2564 ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญในการลงทุนเพิ่มขึ้น
การควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค ในครั้งนี้ จึงเกิดการจัดตั้งเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 7,300 ล้านบาท มาสนับสนุนสตาร์ตอัปในไทย ในด้านการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจและอื่น ๆ ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาสร้างโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ตอัปและสนับสนุนผู้ประกอบการให้แข็งแกร่ง
ส่วนความคืบหน้าของการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค นายศุภชัยอัปเดตว่า การควบรวมผ่านความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นกว่า 90% และเตรียมแผนธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าน่าจะดำเนินการเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม (เดือน 10) แต่กรอบเวลานี้อาจขยับขยายได้เนื่องจากทางทรูและดีแทคต้องการหารือกับทาง กสทช. เรื่องข้อกำหนดต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จซะก่อน
นอกจากนี้เรื่องที่สังคมเป็นกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดเรื่องราคาค่าบริการหรือไม่ นายศุภชัยตอบอย่างชัดเจนว่า เรื่องค่าบริการไม่ต้องเป็นห่วง เพราะอย่างไรทาง กสทช. เป็นผู้มีสิทธิ์ในการกำหนดราคาอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเสริมว่าการควบรวมในครั้งนี้ แต่ละฝ่ายจะถือครองหุ้นส่วน 30% สัดส่วนที่เหลือจะเป็นของมหาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การ Takeover อย่างที่หลายคนเข้าใจ และไม่มีความต้องการที่จะกดดันหรือเร่งรัดทางหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องข้อกำหนด