เป็นที่รู้กันดีว่าตลอดทั้งเดือนสิงหาคมนี้ (2565) กรุงเทพมหานครได้ถูกเนรมิตให้กลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อเทศกาล “บางกอกวิทยา” ซึ่งล่าสุดผ่านมาจนเหลือเพียงแค่สัปดาห์สุดท้ายแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ ทีมงานแบไต๋ได้มีโอกาสเดินทางไปที่สามย่านมิตรทาวน์ เดินชมโซน Innovation for Life : นวัตกรรมสู่ชีวิตอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2022 จัดขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในรูปแบบ Science Carnival
โดยภายในงานมีการนำเสนอนวัตกรรมระดับประเทศ ทั้ง AI , Robotics , VR , Metaverse และอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้งานในหลากหลายรูปแบบ โดยมี 2 ที่น่าสนใจและเราได้คัดเลือกมาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา ได้แก่ นวัตกรรม VR , Metaverse สำหรับรักษาโรคทางจิต และ หุ่นยนต์ Walkie ช่วยดูแลงานบ้าน ที่สร้างชื่อให้กับนักศึกษาไทยคว้ารองแชมป์โลก การแข่งขัน “RoboCup@Home 2022”
Metaverse x Mental health
ME HUG – ศูนย์บริการด้านสุขภาพจิตและส่งเสริมพัฒนาการทุกช่วงวัย หรือ Me Hug ได้เปิดบริการแบบใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยี VR มาช่วยให้บริการด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์หรือความเครียด โดยรูปแบบของการรักษาจะเริ่มจากการพูดคุยกับผู้ป่วยก่อน เพื่อค้นหาว่ามีปม หรือ มีอะไรติดค้างกับใครบ้าง จากนั้นจะให้ผู้ป่วยสร้างร่างอวทาร์ของคน ๆ นั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง แล้วค่อยเริ่มการรักษา
ดร.กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา และ CEO ของ Me Hug ให้ข้อมูลว่า เดิมทีการรักษาผู้ป่วยโรคดังกล่าวจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Emty Chair คือการให้ผู้ป่วยจินตนาการถึงบุคคลที่ตนเองมีปัญหาด้วยว่าเขามานั่งอยู่ข้างหน้า ก่อนจะให้ทำการพูดคุยเคลียร์ปมที่อยู่ในใจ โดยมีนักจิตวิทยาคอยให้คำแนะนำ แต่ในการรักษามักพบอุปสรรคที่ผู้ป่วยไม่สามารถจินตนาการได้ ดังนั้นการมี VR สามารถเข้ามาตอบโจทย์ได้มาก หลังจากเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ได้รับการตอบรับที่ดีมาก
ขณะเดียวกัน Me Hug ยังนำเทคโนโลยี VR มาช่วยประกอบการรักษาโรคกลัวความสูงด้วย โดยผู้ป่วยในโรคนี้จะเป็นกลุ่มอาการเดียวกับโรควิตกกังวลจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และบางครั้งอาจไม่สามารถรักษาได้ในสถานที่จำกัด จึงพัฒนา VR ฉากพิเศษขึ้นมากเพื่อรักษาโดยเฉพาะ
วิธีการรักษาเริ่มจากการฉายภาพบนที่สูง จากระดับ อาจจะเป็นการยืนบนเก้าอี้ ไปจนถึงจำลองการขึ้นไปอยู่บนหน้าผา โดยมีนักจิตวิทยาคอยให้คำแนะนำไปด้วย จากนั้นจะประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ได้นานแค่ไหน มีพัฒนาการต่อการอดทนต่อสิ่งเร้าได้มากเพียงใด หากมีพัฒาการที่ดีก็จะเปลี่ยนด่านไปอีกขั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยว่าจะสามารถก้าวผ่านได้หรือไม่ ทั้งนี้เทคโนโลยี VR รักษาโรคกลัวความสูงยังไม่เคยถูกนำมาใช้ เพราะยังอยู่ระหว่างการทำวิจัยแต่ในอนาคตอีกไม่นาน น่าจะได้ฤกษ์เปิดให้บริการแน่นอน
หุ่นยนต์ Walkie รองแชมป์โลก ฝีมือ นศ. ไทย
ไทยเรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้สินค้าและบริการหันมาตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างชัดเจน หลายบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มทำการตลาดในกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ผลิตหุ่นยนต์ เร่งพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ออกมามากมาย ดังนั้นคงอีกไม่นานที่เราจะได้เห็นหุ่นยนต์เข้ามาเป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลผู้สูงวัยในบ้านได้
ล่าสุดในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup ในลีก “RoboCup@Home OPL 2022” จัดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2565 ทีมหุ่นยนต์สัญชาติไทยจากกลุ่มนักศึกษาชมรมนักประดิษฐวิศวกรรม แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ EIC (Engineering Innovator Club) แสดงศักยภาพคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ ด้วยผลงาน ‘walkie’ หุ่นยนต์บริการในครัวเรือนอัตโนมัติ (Autonomous Domestic Service Robot)
น้อง ‘Walkie’ ความสูงประมาณ 170 ซม. กว้าง 70 ซม. และยาว 70 ซม. สามารถทำงานบ้านได้ครอบคลุมเกือบทั้งหมด เดินไปตามห้องต่าง ๆ ในชั้นเดียวกันได้ หลบหลีกสิ่งกีดขวาง เก็บของเข้าตู้ ยกข้าวของเครื่องใช้ได้ มี AI ที่ทำให้รู้ว่าของต่าง ๆ อยู่ที่ส่วนใดของบ้าน รวมถึงสามารถพูดคุยกับคนและรับคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส