เกิดเรื่องดราม่าในโลกออนไลน์ กับบริการเรียกรถผ่านแอปอย่าง Uber ที่เกิดเหตุการณ์โชเฟอร์รถทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร แต่กระแสชาวเน็ตอีกด้านบอก ฝ่ายผู้โดยสารต่างหาก ที่เป็นฝ่ายเริ่มเรื่องก่อน จนโชเฟอร์เกิดบันดาลโทสะ

เรื่องราวจากผู้เสียหาย

โดยเรื่องนี้ได้ถูกเผยผ่านเฟสบุ๊คของผู้เสียหาย และมีการแชร์ออกไปมากกว่า 4,000 ครั้ง จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คือ ตัวผู้เสียหายได้เรียกรถโดยสารผ่านแอป Uber เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.00 น. โดยเรียกรถประเภท UberX (รถโดยสารขนาดทั่วไป) เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังบ้านพักย่านพุทธมณฑลสาย 4 ระหว่างเส้นทางที่เดินทาง เส้นทางจราจรได้ติดขัดบริเวณถนนมอเตอร์เวย์ และช่วงดังกล่าวเกิดฝนตกขึ้น ฝ่ายคนขับเริ่มหงุดหงิดและบ่นตลอดเส้นทางว่าไม่คุ้มค่าโดยสาร ผู้เสียหายจึงถามว่าจะเดินทางอย่างไรต่อไป ฝ่ายคนขับจึงตอบกลับว่ายังไงก็ได้ ขับไปก็ได้

ฝ่ายผู้เสียหายได้ซักถามค่าโดยสารโดยประมาณขึ้นมาบนหน้าแอปพร้อมเสนอที่จะจ่ายเพิ่ม แต่ฝ่ายคนขับได้บอกว่าไม่เป็นไร ขับต่อไปได้ ระหว่างที่เดินทางไปได้สักพัก ฝ่ายคนขับได้เสนอให้ผู้เสียหายลงรถในเมือง (บริเวณพระราม 9) เนื่องจากคนขับมีประชุมต่อที่ย่านอโศก ผู้เสียหายเกิดความสงสัยว่าจะให้ตนเองเสียค่าโดยสารถึง 2 รอบทำไม ประกอบกับตัวของผู้เสียหายเกิดอาการเพลียและไม่สบายด้วย ถ้ารู้ว่าตนเองไปส่งให้ถึงไปทางไม่ได้ ก็ไม่ควรจะรับผู้โดยสารตั้งแต่ทีแรก

ฝั่งคนขับได้บอกว่าไม่สามารถยกเลิกการส่งผู้โดยสารได้ หากยกเลิก จะถูกทาง Uber ปรับเป็นเงินจำนวน 500 บาท และเสนอว่าจะขับกลับไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผู้เสียหายเกิดความสงสัยว่า ถ้าคนขับจะขับไปส่งที่ต้นทาง แล้วค่าโดยสารที่เสียไปนั้นจะได้กลับมาหรือไม่ เพราะว่าค่าโดยสารถูกหักจากบัตรเครดิตที่ตนเองได้ผูกไว้กับบริการนี้

ระหว่างที่เดินทางมาอีกสักพัก ฝ่ายคนขับได้แจ้งผู้เสียหายว่า จุดหมายที่กำลังไปส่งนั้น (พุทธมณฑลสาย 4) ไม่อยู่ในขอบเขตที่ตนเองสามารถไปส่งได้ แต่ถ้าในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันอย่างพุทธมณฑลสาย 3 ตนเองสามารถไปส่งได้ ผู้เสียหายจึงตอบกลับว่าสามารถลงในละแวกพุทธมณฑลสาย 2 หรือ 3 ได้

แต่จู่ๆ ฝ่ายคนขับได้พูดกับผู้เสียหายขึ้นมาว่า “อย่ามาหัวหมอ” ฝ่ายผู้เสียหายเกิดความสงสัยและตั้งคำถามกับตนเองว่าหัวหมอตรงไหน และฝ่ายคนขับก็ไม่ควรพูดจาทำนองนี้กับผู้โดยสารด้วย

ตนจึงหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาบันทึกวิดีโอ เพื่อนำไปแจ้งกับทาง Uber ในเรื่องของมารยาทของคนขับรายนี้ แต่หลังจากที่บันทึกวิดีโอไว้ ฝ่ายคนขับก็ไม่ได้พูดอะไร

แต่ยังมีการพูดต่อในน้ำเสียงที่เบาลง เหมือนว่าไม่ต้องการให้ผู้เสียหายสามารถบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้ได้

สักพัก คนขับได้ขับรถเข้าปั๊มน้ำมันและหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา ฝ่ายผู้เสียหายจึงทำการบันทึกวิดีโออีกครั้ง เพราะหวั่นว่าฝ่ายคนขับจะทำการกดยกเลิการรับส่ง แต่คนขับกลับไม่ได้ลงมือทำตามที่ผู้เสียหายได้คาดการณ์ไว้

ฝ่ายคนขับได้พูดกับผู้เสียหายว่า “ก็ได้… จะไปใช่ไหม ไปส่งให้ถึงบ้านเลย” และได้ขับกระชากออกมาจากปั๊มน้ำมัน ผ่านจากจุดดังกล่าวมาได้ระยะหนึ่ง ฝ่ายคนขับได้จอดรถและเดินมายังฝั่งผู้โดยสาร พร้อมกับไล่ผู้เสียหายลงจากรถและพูดจาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ฝ่ายผู้เสียหายได้ถามว่า ทำไมถึงไม่ยกเลิกการตัดเงินจากบัตรเครดิตและคืนให้ตนเองก่อน ฝ่ายคนขับก็ยังไล่ต่อ พร้อมกับหยิบกระเป๋าและสัมภาระท้ายรถเขวี้ยงออกมาจากตัวรถ ผู้เสียหายก็ยังถามต่ออีกว่า ถ้าต้องการให้ลง ทำไมไม่พูดให้มันดีๆ และกดยกเลิกงานก่อน

ฝ่ายคนขับได้เกิดบันดาลโทสะ พุ่งเข้าทำร้ายผู้เสียหายทันที!

ผู้เสียหายได้เล่าว่า หลังจากที่คนขับได้พุ่งเข้ามาทำร้าย คนขับได้กระชากคอเสื้อของตนพร้อมกระชากสร้อยทองที่คอหลุดไปด้วย ผู้เสียหายก็สบโอกาสเห็นผู้คนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงตะโกนขอความช่วยเหลือ ซึ่งมีคนพบเห็นพอดี

ฝ่านคนขับเริ่มเห็นท่าไม่ดี จึงรีบขับรถหนีออกจากบริเวณดังกล่าวทันที ส่วนผู้เสียหายได้แต่ยืนอึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าสัมภาระบางส่วนของตนนั้นยังอยู่บนรถ ทั้งของฝากที่ซื้อมาและสายสมอลทอล์คของไอโฟนก็ตกหล่นในรถด้วย

สุดท้าย ผู้เสียหายได้เรียกรถแท็กซี่อีกคันเพื่อเดินทางไปยังบ้านพักของตนเอง ครอบครัวของผู้เสียหายต่างตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ผู้เสียหายได้อธิบายว่า “แค่เห็นหน้าลูกที่ไม่ได้เจอกัน 1 อาทิตย์ ก็ดีใจแล้ว” และได้คิดทบทวนกลับไปว่า ถ้าตนเองได้ตอบโต้กลับไป อะไรจะเกิดขึ้นก็ยังไม่รู้ และในรถคันดังกล่าวนั้นมีอาวุธด้วยหรือไม่

หลังจากเกิดเรื่องดังกล่าว ญาติของผู้เสียหายได้พาแจ้งความที่สน. หัวหมาก เพื่อลงบันทึกประจำวันและขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจกล้องวงจรปิดในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ ส่วนทางญาติก็ช่วยติดต่อไปทาง Uber ประเทศไทย เพื่อขอข้อมูลของคนขับรายดังกล่าว แต่กลับได้คำตอบว่า ทางต้นสังกัดไม่สามารถให้ข้อมูลได้ หวั่นเกิดการทำร้ายร่างการตัวของคนขับ ผู้เสียหายยังสงสัยว่า ตนเองต่างหากที่เป็นผู้เสียหายและถูกทำร้ายร่างกาย ทาง Uber ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมกลับมาว่า ต้องกรอกเอกสารของทาง Uber ก่อน และให้ทางตำรวจกรอกเอกสารดังกล่าวด้วย ถึงจะสามารถขอข้อมูลได้ พร้อมกับแจ้งว่าขอเวลาสักครู่ และจะติดต่อกลับไป แต่สุดท้าย ก็ไม่มีการติดต่อกลับมา

ฝ่ายญาติของผู้เสียหายจึงติดต่อกลับไปอีกครั้ง แต่ทางปลายสายกลับแจ้งว่า…

เรื่องดังกล่าวนี้ ต้องส่งเรื่องกลับไปที่ Uber สำนักงานในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

สุดท้าย ทางตำรวจได้ให้ผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน พร้อมกับย้ำคำพูดที่เจ้าหน้าที่ของ Uber ที่ทางญาติได้ติดต่อไปว่า “ทางเราเป็นเพียงแอปพลิเคชั่น ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้” และผู้เสียหายได้ฝากไว้ว่า หากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีกครั้งกับผู้ใช้บริการรายอื่น ไม่ใช่แค่การทิ้งผู้โดยสารกลางทาง แต่รวมไปถึงการจี้ชิงทรัพย์ และการข่มขืน ทาง Uber จะทำการอย่างไร จะยังยืนยันว่าตนเองเป็นแค่พียงแอปพลิเคชันได้อยู่อีกหรือไม่…

ความเห็นแย้งจากชาวเน็ต หลังได้ชมคลิป!

ความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่มีต่อเหตุการณ์นี้ ล้วนไปในทิศทางเดียวกันกับผู้เสียหาย คือต่อว่าการให้บริการของคนขับรายนี้ แต่มีบางส่วน ที่เห็นแย้งในเรื่องดังกล่าว รวมถึงมีคลิปเหตุการณ์ระหว่างการเดินทางในครั้งดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงระหว่างที่คนขับได้ขับออกมาจากปั๊มน้ำมัน และจอดรถข้างทาง จนเกิดเสียงวิจารณ์อีกเสียงหนึ่ง และต่อว่าผู้เสียหาย ว่าเป็นต้นเหตุในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

และอีกหนึ่งคลิป ซึ่งเป็นการบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า (ช่วงที่คนขับได้พูดว่า “อย่ามาหัวหมอ”) จนถึงถูกเชิญลง

Play video

ส่วนหนึ่งจากคอมเมนต์ในเรื่องดังกล่าว มีผู้ใช้งานรายหนึ่งได้ต่อว่าผู้เสียว่า ตนเองที่ไปทำตัวไม่สุภาพใส่คนขับก่อน จนเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย พร้อมทั้งอธิบายว่า ถ้าเดินทางจากสนามบิยสุวรรณภูมิไปบังพุทธมณฑลสาย 4 ค่าโดยสารต้องไม่ต่ำกว่า 800 บาท บริการ UberX นั้นครอบคลุมถึงช่วงราชพฤกษ์ หากต้องการเดินทางในเส้นทางที่ไกลกว่านี้ ต้องเรียกบริการแบบ Uber Black พร้อมกับตั้งคำถามว่า ถ้าผู้เสียหายต้องการเดินทางไปยังที่หมายจริง ตนเองได้แจ้งคนขับก่อนหรือไม่ ได้ปักหมุดพิกัดปลายทางในแอปหรือไม่ พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า ผู้เสียหายต้องการที่จะเอาเปรียบคนขับและต้องการก่อกวนมากกว่า

แต่ไม่ว่าฝ่ายผู้โดนสารจะเป็นคนยั่วโมโหคนขับหรือไม่ ก็ไม่ควรมีเรื่องถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันอยู่ดีครับ และนี่เป็นกรณีใหญ่ที่ Uber ประเทศไทยต้องออกมาแถลง และปรับนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต