วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนลงนาม
อย่างที่เราทราบกันดีว่าสถานการณ์การหลอกลวงออนไลน์ และอาชญากรรมไซเบอร์นั้นเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งสถิติการรับแจ้งความออนไลน์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่าในช่วงวันที่ 1 มี.ค. 2565 ถึง 6 ก.พ. 2566 มีการแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีถึง 192,031 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 29,546,732,805 บาท (เกือบ 30,000 ล้านบาท) แต่สามารถติดตามอายัดบัญชีได้ทัน 65,872 บัญชี คิดเป็นมูลค่า 445,265,908 บาท
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงตั้งโครงการความบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชน เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงจากมิจฉาชีพ และตอนนี้กำลังเสนอร่างกฎหมาย ข้อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามเพื่อให้จัดการปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งนำเสนอสื่อป้องกัน
ทางด้านเครือเจริญโภคภัณฑ์โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ เผยว่าในการประชุม World Economic Forum 2023 ได้จัดให้ ‘ภัยคุกคามไซเบอร์’ เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงสำคัญในระดับโลก โดยคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญในปี 2025 ทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือพร้อมร่วมผลิตสื่อและสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ ผ่านหลายช่องทาง
- การส่ง SMS เตือนภัย 18 กลโกงสำหรับผู้ใช้ Truemove-H กว่า 37 ล้านเลขหมาย
- การประชาสัมพันธ์ผ่านร้าน Makro 152 สาขา
- Lotus มากกว่า 2,000 สาขา และ 7-11 ที่มีกว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ
- กระจายข่าวสารผ่านพนักงานในเครือกว่า 361,570 คนทั่วประเทศ
- รวมถึงช่อง TNN16 และ True4U
- เตรียมจัดกิจกรรม hackatron ให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันหาวิธีป้องกันกลโกงด้วย
- พัฒนาเทคโนโลยีในการคัดกรองเบอร์จากประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
จุดกระแส On Stage โดยหนุ่ม-กรรชัย
และในส่วนเสวนา ‘จุดกระแส On Stage’ ภายในงานที่ดำเนินรายการโดย หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ในหัวข้อ “แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” ตั้ก-มยุรา ที่ร่วมเวทีนี้เล่าให้ฟังว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ 10 ปีก่อนก็มีโทรศัพท์มาบอกว่าเธอโดนคดีฟอกเงิน ก็โชคดีที่มีสติ คิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่บอกบัญชีธนาคาร
มีเคสให้เงินบริจาคคนชื่อรวยริน แล้วเอาชื่อไปค้ำประกัน ทำให้มีคนโทรมาด่า ส่วนคุณภาณุพงศ์ หอมวันทา จากช่อง Epic Time ก็เคยโดนหลอกในเกมออนไลน์ บอกว่าเป็น FC โดนไป 9,700 บาท และผู้เสียหายอีกคนโดนเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมาแอบอ้าง โดนแอบอ้างไป 500,000 บาท
ไฮไลต์ของเวทีนี้คือสาวอดีตหนึ่งใน Call Center ขึ้นมาเล่าประสบการณ์การถูกหลอกไปทำงาน โดยเริ่มต้นถูกหลอกว่าจะให้ทำงานกับ Lazada แล้วก็มีเงินเข้ามา 30,000 บาท จึงเดินทางไปขึ้นรถที่อรัญประเทศ แล้วข้ามด่านธรรมชาติไปปอยเปต แล้วนั่งรถ 12 ชั่วโมงไปแถวๆ เวียดนาม แล้วทำงานโดยมีสคริปต์ให้อ่าน ภายใน 2 วันให้หลอกให้ได้ โดยหลอกเป็นเงินกู้ทาง SMS แล้วก็ลูกค้าติดต่อเข้ามาเอง พอไม่อยากทำก็โดนขังไม่ให้กินข้าว สุดท้ายก็หนีออกมา บอสคนจีนก็ตามไล่ล่า มีขุดดินลอดรั้วออกมาจนได้กลับไทย
18 กลโกงหลักของมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์
- หลอกขายสินค้าออนไลน์
- หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์
- เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์)
- ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center)
- หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ
- หลอกให้รักแล้วลงทุน
- หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หรือยืมเงิน
- ปลอมหรือแฮกบัญชีไลน์เฟซบุ๊ก แล้วหลอกยืมเงิน
- แชร์ลูกโซ่
- การพนันออนไลน์
- หลอกให้โหลดโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล เพื่อขโมยข้อมูล
- ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน
- ฉ้อโกงรูปแบบอื่น โดยหลอกลวงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ
- โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ
- หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊ เปลือย เพื่อข่มขู่เรียกเงิน
- ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) และร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน
- ข่าวปลอม
- เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์
ช่องทางติดต่อเมื่อเกิดปัญหา
หากสงสัยว่าจะตกเป็นเหยื่อสามารถปรึกษาได้ที่
- สายด่วน บช.สอท. 1441
- ศูนย์ PCT 081-8663000
- เว็บ Thaipoliceonline.com