จากข่าวดังในโลกโซเชียลมีผู้เสียหายถูกขโมยเครื่อง iPhone และผู้เสียหายได้บอกว่าเครื่องนั้นถูกแฮกเข้าถึงแอปพลิเคชันธนาคารภายในเครื่อง พร้อมกับถูกถอนเงินร่วมหลักล้านบาท
Facebook Page สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้แชร์โพสต์ข่าวเตือนอันตรายจาก นายแพทย์ประวีณ จันจำปา ว่า โทรศัพท์ของน้องสาวโดนมิจฉาชีพขโมยเครื่อง iPhone ที่กรุงเทพมหานครโดยมิจฉาชีพได้เข้าถึงเครื่องพร้อมกับรู้ Passcode ของเครื่อง iPhone จากการแอบมองรหัสผ่านซึ่งน่าจะเป็นแบบกรณีเดียวกันในต่างประเทศ และเปลี่ยนรหัสผ่านของ Apple ID ของบัญชีผู้ใช้พร้อมกับทำการยึดบัญชี Apple ID แบบถาวร
หลังจากนั้นมิจฉาชีพได้เข้าถึงแอปพลิเคชันของธนาคาร SCB, KBank, TTB, KTC และ BAY แล้วเปลี่ยนวงเงินของบัตรเครดิตพร้อมกับโอนเงินสดเข้าบัญชี และถอนเงินสดในกรุงเทพมหานคร, โคราช และสีคิ้ว ร่วมหลักล้านบาท
ผู้เสียหายได้ติดต่อ Apple Care เพื่อประสานข้อมูลเรื่อง Apple ID แต่ก็ติดต่อได้ยากมาก ๆ และการประสานเรื่องของการอายัดบัญชีแต่ละธนาคารก็ยากเช่นกัน และไม่ทันมิจฉาชีพที่ทำการถอนเงินออกอย่างเมามัน
ทางผู้เสียหายก็ได้บอกว่าการประสานขอดูกล้องวงจรปิดก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน และธนาคารก็เป็นผู้เสียหายแท้ ๆ เอง โดยทางธนาคารก็ควรจะมีการตอบสนองที่รวดเร็วกว่านี้แม้ว่าจะมีหนังสือแจ้งความจากทางตำรวจแล้วก็ตาม
ทิ้งท้ายก็ได้ผู้เสียหายก็ได้ฝากอุทาหรณ์สำหรับใครที่มีวงเงินบัตรเครดิตที่สูงควรจะต้องระวังให้อย่างมาก ๆ เพราะมีวงเงินบัตรที่สูงก็สามารถเพิ่มวงเงินบัตรเองได้เช่นกัน
มิจฉาชีพทำได้อย่างไร
จากกรณีนี้มิจฉาชีพเข้าถึงแอปพลิเคชันธนาคาร และบัตรเครดิตได้อย่างไรล่ะ ?
- มิจฉาชีพจะต้องรู้รหัสผ่านของเครื่อง ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งจากการแอบมองเมื่อผู้เสียหายได้ปลดล็อกเครื่อง หรือพินเดาง่าย เป็นวันเกิดหรือข้อมูลผู้ใช้ที่หาไม่ยาก หรือกรณีที่แย่ที่สุดคือ เจ้าของเครื่องไม่ได้ตั้งรหัสผ่านเอาไว้ แล้วก็ปลดล็อกเครื่องได้ทันที
- รหัสผ่านของแต่ละธนาคารที่เป็น PIN 6 หลักที่ผู้เสียหายนั้นได้ตั้งไว้ดันเหมือนกันทุกธนาคาร ซึ่งทำให้เข้าถึงบัญชีธนาคารได้อย่างง่ายดาย
- แล้วถ้าพินธนาคารดันเหมือนกับพินปลดล็อกเครื่องอีกก็เสร็จโจรเลย
- หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็เปลี่ยนวงเงินของบัตรเครดิตแต่ละธนาคาร แล้วก็โอนเงินสดเข้าบัญชีและถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร ATM ในแต่ละสถานที่
เมื่อปลดล็อกสมาร์ตโฟนได้และรู้พิน ก็ยิ่งอันตราย
ทำไมเราต้องรักษา Pin Code ของสมาร์ตโฟนยิ่งชีพ เพราะถ้าโจรได้ไปทั้งเครื่องและปลดล็อกเข้าเครื่องได้นั้นหมายความว่า
- สามารถเข้าถึงรหัสผ่านที่เก็บอยู่ใน iCloud ได้เช่นกัน หรือถ้าเป็น Android ก็เข้าถึงรหัสที่เก็บใน Chrome ได้ไม่ยาก
- โจรจะได้เบอร์มือถือไปด้วย ทำให้รับ OTP จากธนาคารหรือบริการการเงินได้
- แอปเปิ้ลจะยิงรหัส 2FA ของ Apple ID ไปที่ iPhone เครื่องหลัก ก็ทำให้ปลดล็อกทุกอย่างของแอปเปิ้ลได้
วิธีป้องกันเหตุการณ์แบบนี้
- ตั้งรหัสพินเครื่องเสมอ ห้ามใช้สมาร์ตโฟนเครื่องหลักแบบไม่ใส่พิน
- ใช้การสแกนนิ้ว หรือสแกนหน้าให้มากที่สุด เพื่อลดการกรอกพินให้น้อยที่สุด และลดปัญหาการแอบมองพินเครื่องได้
- ตั้งรหัสพินเครื่อง และบริการทางการเงินทุกแห่งให้ไม่ซ้ำกัน
- ถ้าเครื่องหายและคิดว่าตามกลับมาไม่ได้ ให้สั่งล้างข้อมูลระยะไกล หรือบังคับล็อกเอาต์จากบัญชี และไปยกเลิกซิม
- แต่ถ้า Apple ID ถูกเปลี่ยนไปแล้ว จะตามเครื่องและสั่งล้างข้อมูลไม่ได้แล้ว ต้องยกเลิกซิมอย่างเดียว
- หมั่นตรวจเช็กอัปเดตเวอร์ชันของแต่ละธนาคารให้ใหม่ล่าสุดเสมอ
ที่มา : Facebook Page สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส