KEF เป็นแบรนด์เครื่องเสียงจากอังกฤษที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1961 นะครับ ถึงปัจจุบันก็อายุ 62 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา คนที่รู้จัก KEF จะเป็นกลุ่มคนเล่นเครื่องเสียงเป็นหลัก เพราะผลิตภัณฑ์หลักตั้งแต่อดีตคือลำโพงเครื่องเสียงใหญ่ ๆ แบบที่ต้องต่ออุปกรณ์อย่าง Amp, Pre-Amp หรือเครื่องเล่นเพื่อให้เสียงออกมาได้ ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม Passive Speaker

แต่พอถึงปัจจุบัน ผู้คนมีไลฟ์สไตล์หันมาฟังเพลงระหว่างใช้ชีวิตมากขึ้น คือฟังเพลงพร้อมกับทำกิจกรรมอื่น ๆ ไม่ได้จดจ่อฟังเพลงอย่างเดียว รวมถึงที่อยู่อาศัยมีขนาดเล็กลงจน Passive Speaker ที่ระบบมีขนาดใหญ่ไม่ตอบโจทย์ KEF จึงหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Active Speaker ที่เป็นลำโพงแบบชุดเดียวจบ ทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องต่ออุปกรณ์เพิ่มเติม ซึ่งทางผู้นำเข้าอย่าง Vgadz ก็ได้จัด Pop-Up Store ขึ้นที่ Betrend ชั้น 3 สยามพารากอนเพื่อโชว์ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จาก KEF

เทคโนโลยีลำโพงจาก KEF

KEF นั้นขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีในลำโพงนะครับ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีดาวเด่นที่เป็นเอกลักษณ์อยู่ 3 ตัวคือ

Uni-Q 12 Driver
Uni-Q 12 Driver

ตัวแรกคือ Uni-Q Driver ดอกลำโพงแบบพิเศษที่มีแหล่งกำเนิดเสียง 2 แหล่งรวมอยู่ในดอกลำโพงชุดเดียว เพื่อให้เสียงต่ำ-กลาง-สูงได้ครบ ๆ ในจุดเดียว ทำให้ไม่มีปัญหาเสียงแต่ละความถี่ตีกันเพราะแหล่งกำเนิดเสียงมาจากหลายจุด จึงทำให้มี Sweet Spot หรือจุดฟังดนตรีไพเพราะ มีมิติกระจายกว้างขวางในห้อง ไม่ใช่อยู่แค่จุดตัดระหว่างลำโพง 2 ตัวเหมือนในอดีต ซึ่งเราจะเห็นไดรเวอร์ Uni-Q คือดอกลำโพงที่ดูอลังการกว่าเพื่อน มีครีบอยู่ตรงกลางในวงเล็กสุด และทำสีดอกลำโพงให้โดดเด่นออกมา

โดยลำโพงกลุ่ม Active Speaker ทุกรุ่นของ KEF นั้นใช้ Uni-Q Driver ทั้งหมดครับ แล้วปัจจุบันก็พัฒนามาถึง Uni-Q 12 แล้ว

Uni-Core Driver
Uni-Core Driver

เทคโนโลยีต่อมาคือ Uni-Core คือไดรเวอร์ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่วางตรงข้ามกัน เพราะให้แรงสั่นสะเทือนหักล้างกัน จึงทำให้มีเสียงเบสที่หนักแน่นแต่ลำโพงไม่สั่น พร้อมใช้แกนลำโพงเป็นแกนเดียวกัน ทำให้ระยะชักของไดรเวอร์เพิ่มขึ้น จึงทำให้ดอกลำโพงเคลื่อนที่ได้มาก เบสจึงหนักแน่น แถมยังทำให้มีขนาดเล็กกว่าซับวูฟเฟอร์ปกติด้วย เพราะใช้แกนร่วมกัน

สุดท้ายคือ MAT หรือ Metamaterial Absorption Technology วัสดุพิเศษที่ KEF วิจัยขึ้นเพื่อซับความถี่เสียงส่วนเกินออกไป โดยดีไซน์เหมือนเขาวงกตวางไว้ด้านหลังดอกลำโพง เพื่อให้คลื่นเสียงที่ตกกระทบถูกซับจนหายไปได้ 99% จึงไม่มีความถี่ที่ไม่ต้องการไปหักล้างเสียงที่ต้องการจนผิดเพี้ยนไป

ลำโพง Active Speaker ของ KEF

ปัจจุบัน KEF มีลำโพงกลุ่มนี้ที่ทำตลาดอยู่ 3 รุ่นนะครับคือ

  • KEF LSX II รุ่นเล็กสุด ขนาดเล็กสุด ใช้ได้ทั้งตั้งบนโต๊ะคอม ตั้งข้างทีวี ตั้งบนขาตั้ง ที่เราเคยรีวิวไป ใช้เทคโนโลยี Uni-Q รุ่นที่ 11
  • KEF LS50 Wireless II ลำโพงระดับกลางที่ดีไซน์ออกมาครบรอบ 50 ปีบริษัท ซึ่งอัปเกรดสเปกขึ้นไปอีกระดับ ใช้เทคโนโลยี Uni-Q รุ่นที่ 12 พร้อม MAT
  • KEF LS60 Wireless ลำโพง Active Speaker ตัวท็อปที่ตั้งพื้น มาพร้อมซับวูฟเฟอร์ในตัว ดีไซน์ออกมาครบรอบ 60 ปีบริษัท ใช้ Uni-Q รุ่นที่ 12 พร้อม MAT และ Uni-Core ข้างละ 2 คู่
KEF KC62
KEF KC62

ซึ่งเราจะได้ลองฟังลำโพงทั้ง 3 รุ่นนี้ที่ Pop-Up Store อย่างหน่ำใจ โดยทาง Vgadz ก็ได้เอาอุปกรณ์เสริมอย่างซับวูฟเฟอร์ KEF KC62 ที่ใช้ดอกลำโพง Uni-Core ขนาด 6.5 นิ้วอีก 1 คู่มาเพื่อเสริมเสียงเบสให้หนักแน่นขึ้นมาให้ลองฟังอีกด้วย

จุดเด่นอีกอย่างของ Active Speaker จาก KEF คือการเชื่อมต่อที่ครบถ้วนมาก ๆ ซื้อลำโพงไปคู่เดียวจบเลย ต่อได้แทบทุกอย่าง ตั้งแต่ต่อสาย HDMI กับทีวีเพื่อใช้เป็น Home Theater, สาย 3.5 mm สำหรับเสียงแบบแอนาล็อก, สาย TOSLINK หรือสาย Digital Coaxial ก็ต่อได้ แน่นอนว่าต่อสาย LAN ได้ด้วยสำหรับการฟังเพลงผ่านเครือข่าย ส่วนถ้าใครไม่สะดวกเสียบสาย LAN ก็สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้เช่นกัน (ส่วน KEF LSX II จะพิเศษกว่ารุ่นอื่นนิดหนึ่งตรงต่อ USB-C เพื่อรับเสียงดิจิทัลจากคอมพิวเตอร์มาเข้าลำโพงตรง ๆ ได้ สำหรับใครที่วางเป็นลำโพงคอมพิวเตอร์

การเชื่อมต่อด้านหลังของ KEF LS50 Wireless II
การเชื่อมต่อด้านหลังของ KEF LS50 Wireless II

ส่วนการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายก็ทำได้ครบถ้วน รองรับ AirPlay 2, Spotify Connect, Chromecast ไปจนถึง Tidal Connect และบริการอื่น ๆ ที่คนไทยไม่ค่อยได้ใช้อย่าง Qobuz, Deezer, QQ Music, Amazon Music รองรับทั้งหมด ซึ่งสามารถต่อแบบ Multi-Room เพื่อให้ลำโพงหลายตัวในหลายห้อง ดังเพลงเดียว พร้อมกันได้ หรือต่อกับลำโพงแบรนด์อื่น ๆ ที่รองรับ AirPlay 2 หรือ Chromecast ให้ดังพร้อมกันก็ได้ และใครที่เป็นนักฟังเพลงมืออาชีพ ก็ยังรองรับการเล่นเพลงจากโปรแกรม roon หรือการยิงสัญญาณผ่าน UPnP ด้วยครับ ส่วน Bluetooth ไม่ต้องพูดถึง รองรับเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยได้ใช้กัน เพราะเล่นเพลงผ่าน LAN หรือ Wi-Fi ให้เสียงดีกว่า

สุดท้ายคือดีไซน์ ที่ลำโพงทั้ง 3 รุ่น รวมถึงซับวูฟเฟอร์ KC62 นั้นมีภาษาในการออกแบบเหมือนกัน เพราะได้ Michael Young ดีไซเนอร์ดังมาออกแบบให้ทั้งตระกูลครับ หน้าตาเลยสอดคล้อง สวยงามกันหมด แถมมีสีให้เลือกเยอะกว่าลำโพงระดับนี้ทั่วไปด้วยนะ จะเป็นสีสดใส หรือสีขรึม ๆ ก็เลือกให้เหมาะกับห้องได้

เสียงของ KEF

แน่นอนว่าไปถึง Pop-Up Store ก็ต้องไปทดลองฟังเสียงสิครับ ทุกคนที่ไปที่นั้นก็สามารถขอพนักงานเพื่อฟังเสียงลำโพงทุกรุ่นได้เช่นกัน โดยเรารีวิวเสียงสั้น ๆ ดังนี้

KEF LSX II

KEF LSX II
KEF LSX II
  • รุ่นเล็กสุด เสียงพื้นฐานที่สุดจากแบรนด์ KEF แต่ก็ดีเกินพอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ด้วยความที่เป็นรุ่นราคาเบาที่สุด อัดเทคโนโลยีมาน้อยหน่อย ทำให้ช่วงเบส กับช่วงแหลมยังไปไม่สุด
  • แต่ถ้าได้ซับวูฟเฟอร์ KC62 มาช่วยก็จะเสริมเรื่องเบสให้แน่นขึ้นได้
  • ราคา 55,900 บาท

KEF LS50 Wireless II

KEF LS50 Wireless II ที่ถ่ายเจาะ Uni-Q Driver
KEF LS50 Wireless II ที่ถ่ายเจาะ Uni-Q Driver
  • เสียงรายละเอียดเยอะ แหลมชัดเจน ประกาศชัดมาก ให้เสียงกุ๊งกิ๊ง วิบวับ แพรวพราวได้เต็มไปหมด แยกมิติเสียงดีมาก น่าจะเป็นเพราะมี MAT ทำให้เสียงไม่ถูกกวน
  • เบสมาเยอะ แต่ยังรู้สึกมัว ๆ ขึ้นไปกวนเสียงกลางบ้าง
  • แต่เรื่องนี้แอป KEF ช่วยปรับให้เสียงเหมาะกับห้องมากขึ้นได้ ถ้าเบสล้นเกินไป ก็ลดลงมา
  • ราคา 119,000 บาท

KEF LS60

KEF LS60 ที่เห็นดอกลำโพงสีทองคือ Uni-Q Driver ที่ส่วน 2 ดอกด้านข้างคือ Uni-Core Driver
KEF LS60 ที่เห็นดอกลำโพงสีทองคือ Uni-Q Driver ที่ส่วน 2 ดอกด้านข้างคือ Uni-Core Driver
  • เสียงเป็นประกาย แยกชัดเจนขึ้นอีก มิติกว้างขวางมาก สมเป็นตัวท็อป
  • เบสแน่นขึ้นไปอีก ลึกแต่ไม่กวนเสียงอื่น ๆ เพราะมีดอกลำโพง Uni-Core อยู่ 4 คู่
  • การเอาไปดูหนัง แทนลำโพงดูหนังได้สบายๆ มิติเสียงซ้าย-ขวามาเต็ม ตรงกลางก็ให้เสียงเหมือนมีลำโพงอยู่ ไม่โบ๋ออกมา จะขาดแค่เรื่องเสียงรอบทิศทางด้านหลัง
  • ถ้าเปิดคู่กับซับวูฟเวอร์ KC62 คือให้เสียงแน่นมากขึ้นอีก (แต่ไม่จำเป็น เพราะ LS60 พื้นฐานก็เสียงแน่นมากอยู่แล้ว)
  • ราคา 269,000 บาท

หูฟังของ KEF

นอกจากกลุ่ม Active Speaker แล้ว KEF ยังออกหูฟังมา 2 รุ่นที่เราทดลองฟังได้ที่ Pop-Up Store เช่นกัน

  • KEF Mu3 หูฟังแบบ True Wireless Stereo ขนาดเล็กรุ่นแรกของ KEF ซึ่งมาพร้อม ANC ขายในราคา 9,900 บาท
  • KEF Mu7 หูฟังครอบหูพร้อม ANC รุ่นแรกจาก KEF เช่นกัน ราคา 17,900 บาท ซึ่งแบไต๋จะมีรีวิวให้อ่านกันเร็ว ๆ นี้

โดยหูฟังทั้ง 2 รุ่นนี้ดีไซน์โดย Ross Lovegrove ดีไซเนอร์ชื่อดัง ทำให้มีภาษาในการออกแบบที่ดูลื่นไหลแบบนี้ครับ

กิจกรรมทดลองฟัง

สำหรับคนที่แวะเวียนไปที่ Pop-Up Store ของ KEF ที่ Betrend ชั้น 3 แล้วลงทะเบียนหลังทดลองเสียง (ซึ่งฟรีทั้งหมด) ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับหูฟัง KEF Mu3 ด้วย โดยบูธจะตั้งถึงวันที่ 31 พ.ค. 2566 นี้ อย่าลืมไปลองฟังกันนะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส