เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายศุภชัย เจียรวนนท์ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) องค์กรกลางตามกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อนำพาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมด้วยที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ รองประธาน คณะกรรมการ สมาคมสมาชิก และองค์กรพันธมิตร ได้เสนอ 7 ข้อเสนอนโยบายกับรัฐบาลใหม่ที่จะรับช่วงต่อหลังจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ไทยแลนด์ 5.0
เนื้อหาในบทความนี้
7 ข้อเสนอนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทยถึงรัฐบาลชุดใหม่
- ทำให้ภาษาคอมพิวเตอร์ และ Computer Science เป็นวิชาหลัก เรียนกันตั้งแต่ประถม
- เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ พร้อมซอฟต์แวร์คัดกรองเนื้อหาที่ดี และคุณธรรมการใช้เทคโนโลยี
- โน้ตบุ๊กควรจะเชื่อมได้ทุกระบบ ทั้งเชื่อม Wi-Fi และ 5G ได้ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่
- คุณศุภชัยมองว่าต้องใช้ 7 ล้านเครื่องเพื่อหมุนเวียนยืมในระบบการศึกษา
- คำนวนราคาต่อเครื่องที่ได้คุณสมบัติที่เหมาะสม น่าจะราว 200 เหรียญ หรือไม่เกิน 7,000 บาท
- สร้างสื่อและเนื้อหา ที่ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมที่ดี ในช่วง Prime Time
- เพราะมองว่าคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังดูเนื้อหาในช่วง Prime Time ของทีวี
- ซึ่งถ้าเนื้อหาในช่วงนี้มีการสนับสนุนคุณธรรม ค่านิยมที่เหมาะสมกับยุคสมัย จะช่วยปรับทิศทางของสังคมไปในทางที่ดีได้
- ซึ่งควรมี Incentive หรือเงินสนับสนุนการพัฒนาเนื้อหา (คำนวนแล้วลงทุนปีละ 1,200 ล้าน)
- สร้าง Tech Startup อย่างน้อย 20,000 บริษัท
- เพื่อช่วย Digital Transformation ให้ประเทศไทยเป็นประเทศดิจิทัลเร็วขึ้น
- และการมี Tech Startup 20,000 บริษัท ถ้าแต่ละบริษัทจ้างคนได้ 50 คนก็หมายถึงเรามีที่ทำงานสำหรับ Digital & Tech Workforce 1 ล้านคนแล้ว ซึ่งจะช่วยดึงคนเก่ง และพัฒนาประเทศได้
- ยกระดับการเกษตร Agro Industry Transformation / Smart Farming / Food Tech & Brand
- ต่างประเทศทำสำเร็จแล้วผ่านการสร้างสหกรณ์ที่เข้มแข็ง รวมกลุ่มคนในชุมชนเพื่อสร้างองค์กรที่สมบูรณ์ มีฝ่ายวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฯลฯ เพื่อให้สร้างสรรค์ ผลิต จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรของตัวเองได้จบในตัว
- สร้าง 3,000 – 5,000 องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน 5.0
- เพราะภาคการเกษตรของไทยสำคัญไม่แพ้ภาคการท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมายังติดหล่ม ไม่สามารถพัฒนาก้าวสู่เกษตร 2.0 ที่เป็นอุตสาหกรรมได้
- ดึงดูดคนเก่งและดี เข้าสู่ราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน ปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-Government)
- ซึ่งคำนวนแล้วต้องการข้าราชการชั้นบริหารที่เก่งและดีไม่เกิน 800 คนเพื่อขับเคลื่อนโครงการภาครัฐต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง
- เพราะไม่ว่าภาคการเมืองจะเปลี่ยนบ่อยแค่ไหน แต่คนที่ต้องทำงานต่อเนื่องจริง ๆ คือข้าราชการ
- แล้วก็ต้องการข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20% ของทั้งหมด
- สร้าง 5 Innovation Center ระดับโลกในไทย
- ประกอบด้วย 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care / Health Tech
- เพื่อเป็นแหล่งสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็น
- สนับสนุนการต่อยอดผู้ประกอบการไทย
- พัฒนาโครงสร้างการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ
ถ้าต้องเลือกผลักดันนโยบายให้เกิด ผมจะดันคอมพิวเตอร์ 7 ล้านเครื่องให้เกิด และเรื่องสื่อน้ำดี
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ไทยแลนด์ 5.0 คืออะไร
ประเทศไทยในฝันที่อยากให้เป็นคือไทยแลนด์ 5.0 แล้ว 5.0 คืออะไร คุณศุภชัยอธิบายผ่านวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมที่แบ่งออกเป็น 5 ยุค
- 1.0 ยุคเกษตรกรรม ผู้คนต้องการเข้าถึงอาหาร
- 2.0 ยุคอุตสาหกรรม ผู้คนต้องการเข้าถึงสินค้า
- 3.0 ยุคตลาดทุน ผู้คนต้องการเข้าถึงเงินทุน
- 4.0 ยุคปัจจุบัน ผู้คนต้องการเข้าถึงข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงกัน
- 5.0 ยุคอนาคต ผู้คนต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่
- ซึ่ง AI หรือปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ต้องมุ่งไป
- คือ คน + เอไอ + เทคโนโลยีใหม่
ความท้าทายของโลกและของไทยในปี 2022 – 2030
แล้วทำไมประเทศไทยต้องปรับเข้าสู่ยุค Thailand 5.0 คุณศุภชัยสรุปภาพรวมความท้าทายของโลกในยุคต่อไปไปจนถึงปี 2030 ออกมาเป็น 6 ด้านคือ
- ทุนที่ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึง Food Security
- โดยเทคโนโลยีเป็นได้ทั้งตัวที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น หรือลดความเหลื่อมล้ำก็ได้
- เช่น AI ทำให้คนที่ใช้ AI เป็น ก็ยิ่งก้าวกระโดดห่างจากคนอื่น ๆ หรือในมุมลดความเหลื่อมล้ำ AI ก็ทำให้คนทั่วไปสามารถเสริมทักษะจนเก่งแบบมือโปรได้เช่นกัน
- AI ต้องเป็นผู้ช่วยของมนุษยชาติ
- ส่วนประเด็น Food Security หมายถึงความมั่นคงทางอาหาร ที่ไทยเราได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะเป็นศูนย์กลางการผลิต แต่ก็ต้องต่อยอดออกไปขายในต่างประเทศมากขึ้น
- เช่นสามารถสร้างผลิตภัณฑ์อาหารจากแต่ละตำบลออกไปขายได้ทั่วโลก ก็จะทำให้มั่นคงขึ้น
- เปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล Digital Transformation
- การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่แล้งก็จะแล้งสุด ท่วมก็ท่วมสุด
- ปี 2022 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.2 องศาจากปลายยุค 2.0
- นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอย่าให้เกิน 1.5 องศา เพราะมันจะส่งผลกระทบเยอะ
- ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี AI, IoT การสร้างนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด
- พฤติกรรมความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เปลี่ยนผ่านสู่ e-Commence, Metaverse
- E-commerce เหมือนกระดานเปลี่ยนแรงโน้มถ่วงที่ไม่มีวันเปลี่ยนข้างกลับแล้ว
- E-commerce นับวันยิ่งจะสูงขึ้น อย่างจีนคิดเป็น 26% ของระบบเศรษฐกิจแล้ว
- ต่อไปจะเห็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนบนดิจิทัลมากกว่า 50%
- แต่สุดท้ายจะไม่ถึง 100% เพราะเรายังต้องการจับจ่ายออฟไลน์
- Telemedicine และ Streaming ก็เติบโตขึ้น ไม่มีลด
- สังคมสูงวัย ทำให้ต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างโควิดที่ทำให้คนจนเพิ่มเป็น 909 ล้านคนในปี 2030 ซึ่งความอดอยาก ความเหลื่อมล้ำ จะทำให้เกิดสงครามขึ้น
ซึ่งประเด็นความเหลื่อมล้ำ ก็มีข้อมูลว่า GDP/Capita ไทยโตแค่ 4.9% คือปี 2022 ขนาดของเศรษฐกิจไทยหรือ GDP เป็นอันดับที่ 26 ของโลกมีมูลค่า 505,900 ล้านเหรียญ ถ้าหารออกมาเป็น GDP/Capita (GDP ต่อ 1 ประชากร) คิดเป็น 7,749 เหรียญ/คน/ปี ก็จะอยู่อันดับ 84 ของโลก อันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์, บรูไน, มาเลเซีย ซึ่งคือความเหลื่อมล้ำ เพราะจริง ๆ GDP ของไทยอยู่ในอันดับดี แต่รายได้ต่อประชากรน้อย
ส่วนในด้านการแข่งกันกับประเทศอื่น ๆ ในโลก สถาบัน IMD จากสวิตเซอร์แลนด์ จัดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่อันดับที่ 33 แต่ด้านดิจิทัลอยู่อันดับ 40 จาก 63 ประเทศ ซึ่งลดลง 2 ตำแหน่ง เพราะมีคนที่มีทักษะดิจิทัลน้อยกว่าประเทศอื่น กฎระเบียบไม่รองรับ ภาครัฐและธุรกิจขนาดเล็กยังไม่พร้อมปรับตัว นอกจากนี้ทักษะด้านภาษาอังกฤษของไทยยังอยู่แค่อันดับที่ 97 จาก 113 ประเทศอีกด้วย
ไทยกำลังขาดคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ
สู่การกำหนดยุทธศาสตร์ของ DCT 2023
เมื่อรู้ถึงถึงปัญหาและเทรนด์ของโลกที่กำลังจะมาถึงแล้ว จึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยออกมาโดยแบ่งเป็น 5 แกนคือ
- โฟกัสเรื่องมาตรวัด ยุทธศาสตร์
- การจับมือระหว่างรัฐกับเอกชน
- การพัฒนา Digital Workforce
- Digital Economy
- การเป็นศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยี ต้องเสิร์ฟมากกว่าในประเทศ สามารถเสิร์ฟไปยังภูมิภาคได้
วิทยาการที่เกิดขึ้นจากความเมตตา ก็จะเป็นวิทยาการที่มีความสุข เช่น AI ที่เกิดจากความเมตตาก็จะเป็น AI ที่ดีด้วย แต่ถ้าเป็น AI ที่เกิดจากความเกลียดชัง ก็จะเป็น AI ที่ไม่ดี
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
และยังต้องใส่ใจเรื่องสังคม วัฒนธรรม คุณธรรมด้วย จึงออกมาเป็น 5 ข้อเสนอจาก DCT
ข้อเสนอที่ 1 ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนและประชาสังคม (PPP)
การขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ที่ข้ามระหว่างภาครัฐกับเอกชน ต้องดึงคนเก่งเข้าสู่ราชการ ผลตอบแทนข้าราชการระดับสูงต้องไม่ต่ำกว่าเอกชน โดยการสร้างความโปร่งใส มีรายงานผลการดำเนินงานและงบประมาณ โดยมองว่าฝ่ายบริหารของราชการเป็นส่วนที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนบ่อยเหมือนฝ่ายการเมือง
ข้อเสนอที่ 2 สร้างคนที่มีทักษะดิจิทัล
DCT ตั้งเป้า 6% ของคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป จะต้องมีทักษะดิจิทัลระดับสูงในปี 2027 ซึ่งในปัจจุบันมีแค่ 7 แสนคนหรือ 1% โดยให้เทคโนโลยีเป็นวิชาพื้นฐาน เช่นเรียนโปรแกรมมิ่งตั้งแต่ ป.1 – ม.ปลาย
พร้อมสนับสนุนคอมพิวเตอร์ 7 ล้านเครื่องและซอฟต์แวร์สำหรับเยาวชน โดยไม่ลืมสอนเรื่องคุณธรรม และมีซอฟต์แวร์ที่คัดกรองของเสียสำหรับเด็ก ซึ่งคุณศุภชัยมองว่าคิดว่าการทำงานแบบ Long form หรือทำงานยาว ๆ ที่ต้องใช้สมาธิสูง ๆ จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ ไม่เหมาะกับการทำบนสมาร์ตโฟน
ให้เด็กเห็นว่าสิ่งที่เรียนมาตลอด สามารถเอาไปใช้ในชีวิตได้ยังไง เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นนักค้นคว้า เป็นนักสำรวจ เปลี่ยนจากเด็กที่ท่องจำ เป็นเด็กที่ค้นคว้าได้ด้วยตัวเอง สร้างคนให้เป็น Life-Long Learner หรือคนที่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดชีวิต เพื่อสร้าง Explorer/Extra Curriculum แล้วก็เสริมทักษะภาษาอังกฤษหรือจีนตั้งแต่เด็ก
การสร้างเด็กผ่านการบ้าน ส่งงานแล้วก็เรียนจบ เราไม่ได้สอนให้เด็กเป็นนักสำรวจ ที่เห็นว่าสิ่งที่เรียน เอาไปแก้ปัญหาในโลกจริงได้ยังไงบ้าง เรากำลังสร้างเด็กแบบ 2.0 อยู่ ซึ่งผมก็เป็นผลผลิตจากการศึกษา 2.0 ที่สอนโดยบอกว่าเด็กต้องทำอะไร ซึ่งมันไม่ใช่พื้นฐานสำหรับการเป็น Life-Long Learner
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
โดยให้โรงเรียนเป็นแหล่งสร้างประสบการณ์ , มหาวิทยาลัย = ศูนย์นวัตกรรม, เมือง = คลัสเตอร์แห่งเทคโนโลยี เพื่อให้เด็กที่เรียนมาแก้ไขปัญหาของโลกได้มีเมืองที่คอยสนับสนุน แล้วกรุงเทพจะเป็นคลัสเตอร์นวัตกรรมระดับโลกได้ไหม?
ข้อเสนอที่ 3 สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล
คุณศุภชัยมองว่าเศรษฐกิจเกษตรกรรมนั้นสำคัญพอ ๆ กับการท่องเที่ยว แต่ไทยไม่สามารถสร้างอุตสาหกรรมเกษตรได้สำเร็จ ยังอยู่ในระดับ 1.5 ไปไม่ถึงเกษตร 2.0 ซึ่งในต่างประเทศทำได้ผ่านการก่อร่างความรู้ผ่านสหกรณ์ สร้างองค์กรที่สร้างความรู้อย่างยั่งยืน มีฝ่ายการตลาด การขาย การวิจัย
ข้อเสนอที่ 4 ศูนย์นวัตกรรมแห่งภูมิภาค
ตั้งเป้าสร้าง Start-Up 20,000 บริษัทในไทย เพื่อดึงคนดิจิทัลรวมถึง Digital Nomad (กลุ่มคนทำงานภาคดิจิทัลที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก ซึ่งในไทยก็มีชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่และทำงานแบบ Digital Nomad ผ่านอินเทอร์เน็ตไปต่างประเทศมากมาย) สมมุติจ้างบริษัทละ 50 คน ก็เป็น 1 ล้านคนแล้ว
คนมากมายอยากมาทำงานที่ไทย เพราะมาทำงานและท่องเที่ยวได้ในตัว ไทยเรามีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายและแตกต่าง
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ข้อเสนอที่ 5 การสร้างสังคมดิจิทัลควบคู่กับการส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรม
ส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง 1 ล้านคนเข้าถึงบริการดิจิทัล และสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัล (Digital Vaccine) ไปพร้อม ๆ กับการสร้าง Green Economy เพราะไทยเราสร้างคาร์บอนเยอะ (373 ล้านตันต่อปี) เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่ก็ไม่ได้ใหญ่มาก
นอกจากนี้สร้างส่งเสริม Soft Power ก็เป็นเรื่องจำเป็น เราต้องมี Incentive (ทุนหรือรางวัล) กับสื่อและเนื้อหาที่มีคุณธรรมที่เหมาะสมยุคสมัย ซึ่งถ้าไม่มี Incentive หรือ Seed Fund เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมตลาดไม่ได้
ช่วงถาม-ตอบสื่อมวลชน
ในช่วงถาม-ตอบสื่อมวลชน หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรจากแบไต๋ได้ขึ้นเวทีร่วมการสนทนากับคุณศุภชัย และตอบคำถามจากสื่อมวลชน เริ่มจากคำถามว่า
“DCT มีความคาดหวัง และข้อเสนอแนะแก่พรรคการเมืองที่จะได้เข้ามารับตำแหน่งพัฒนาประเทศในด้านใดบ้าง อะไรคือสิ่งที่ต้องการมากที่สุด เพราะอะไร?”
คุณศุภชัยให้คำตอบว่า มันจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีหน่วยงานกลาง หรือ National Board คณะทำงานที่สามารถเชื่อมการทำงานข้ามกระทรวง และข้ามไปที่ประชาชนได้
อะไรก็ตามที่เกิดความเปลี่ยนแปลง จะมาจากผู้นำ ทำให้บทบาทของนายกคนต่อไปต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ทำเองหมด ทำด้วยมุมมองจากผู้นำ กำหนดยุทธศาสตร์ และมี National Board เพื่อให้ขับเคลื่อนได้จริง ๆ
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ถ้ามี National Board ที่ช่วยกลั่นกรองให้นายกและคณะรัฐมนตรี ก็ทำให้ตัดสินใจใช้งานได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องแก้กฎหมาย ก็ต้องใช้เวลาผ่านสภา
คำถามต่อมา “ความต้องการของตลาดแรงงานที่ต้องการทักษะสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลักสูตรยังตามไม่ทัน แก้ยังไงดี?”
คุณศุภชัยตอบว่าเรื่องนี้ให้ข้อมูลไปแล้วในแผนของ DCT เรื่องการสร้างคนที่มีทักษะดิจิทัล และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ทุน VC ในอเมริกามองไปถึงเด็ก High-School แล้ว เพราะมองว่าเด็กยังไม่มีกรอบเท่าเด็กมหาลัย ก็มีโอกาสที่จะมีไอเดียแหวกโลกได้มาก
ส่วนสำหรับคนที่เรียนจบมาแล้วการ Upskill, Reskill ให้เหมาะสมกับตลาดแรงงานก็ยังมีอยู่ แต่คิดว่าจะเปลี่ยนไปได้ไม่เกิน 2% เพราะผ่านการทำงานมาแล้ว มีกรอบแล้ว ซึ่งก็ต้องให้ Incentive ตลาดถึงจะเปลี่ยนไปได้
และยังให้ข้อมูลอีกว่า ทักษะด้านดิจิทัลนั้นสำคัญมาก เมื่อปี 2015 มีทุนจากต่างประเทศลงอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยราว 14% แต่ปี 2022 ทุนลงมาแค่ 2% เท่านั้น เพราะทักษะดิจิทัลของแรงงานไทยยังขาด
เรื่องที่พรรคการเมืองละเลยที่ผ่านมาคือ ทรัพยากรมนุษย์ นโยบายเรื่องนี้ไม่ชัด ทำให้การพัฒนามีปัญหา
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
คำถามต่อมาเป็นเรื่อง “การหลอกลวงทางไซเบอร์กำลังทำให้ประชาชนสิ้นเนื้อประดาตัว ในฐานะภาคการเมือง จะมีการป้องกันหรือปราบปรามเรื่องนี้อย่างไร การแก้ไข พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ (บัญชีม้า) ที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ หรือต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร?”
เรื่องนี้คุณศุภชัยให้ความเห็นว่า มันเป็นงานที่หลายหน่วยงานต้องทำร่วมกัน ตำรวจ, กสทช., แบงก์ชาติ, กระทรวง DE และค่ายโทรศัพท์มือถือต้องทำงานร่วมกันได้ เช่น การจัดการการโทรจากต่างประเทศแล้วทำเสมือนว่าเป็นการโทรในประเทศ ก็ต้องมีแนวปฏิบัติร่วมกัน พร้อมเสนอแนะว่า การแฮกจะยากขึ้นถ้าใช้ blockchain เพื่อบันทึกข้อมูลเชื่อมโยงต่างๆ เช่น IMEI ของตัวเครื่องกับซิมโทรศัพท์ เพื่ออ้างอิงหาตัวเจ้าของ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส