Google ประกาศรายชื่อแอปและเกมยอดเยี่ยมประจำปี 2016 โดยมีแอปที่มีคุณภาพเข้าตากูเกิ้ลประจำปีนี้ 77 แอป ซึ่งเป็นแอปจากนักพัฒนาในประเทศไทย 11 แอป รวมถึงการเผยผลสำรวจที่ทำร่วมกันกับ TNS ออสเตรเลีย ในหัวข้อ “Mobile App Usage study” โดยสำรวจพฤติกรรมการใช้งานแอปของผู้คนในเอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทย

แอปและเกมยอดเยี่ยมบน Google Play ประจำปี 2559

bestapp2016

แอปและเกมยอดเยี่ยมของกูเกิ้ลนั้นพิจารณาจากหลายแง่มุม ทั้งความนิยมในตัวแอป ผลการรีวิว คุณภาพของแอป ซึ่งรางวัลแอปที่ดีที่สุดแห่งปี 2016 คือ Prisma แอปเปลี่ยนรูปถ่ายให้กลายเป็นรูปวาดสุดเก๋ ส่วนเกมที่ดีที่สุดประจำปี 2016 จะเป็นเกมอะไรไปได้นอกจาก Pokemon GO ที่ฮิตระเบิดไปทั้งโลก

bestgame2016

ซึ่งเราสามารถชมแอปทั้งหมดที่ได้รับรางวัล พร้อมเลือกดาวน์โหลดได้จากลิงค์ของ Google Play Store

แอปและเกมยอดเยี่ยมที่มาจากนักพัฒนาในไทย

bestthaiapp2016

มีแอปและเกมของนักพัฒนาชาวไทย 11 ราย ที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในลิสต์แอปและเกมส์ยอดเยี่ยมของประเทศไทยประจำปี 2016 โดยหลายตัวก็คุ้นเคยกันดี ได้แก่ Eatigo, TrueMoney Wallet, Piggipo, Kaidee, Wongnai, Ookbee, WinkCamera, Keyboard ManMan, Comico Thailand, GThapster, และ Super Slam – POGS Battle ซึ่งภายในงานวันนี้กูเกิ้ลประเทศไทยก็ได้เชิญนักพัฒนาแอปเหล่านี้มาร่วมงานด้วย

_b0a8533

โดยแวดวงแอปในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างเห็นได้ชัดและนักพัฒนาไทยก็ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ซึ่งการใช้เวลากับแอปในเกือบทุกตลาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตสูงขึ้นถึง 2 เท่าตั้งแต่ปี 2557-2559 (App Annie 2016) ผู้บริโภคจำนวนมากใช้เวลากับแอปต่างๆ บวกกับความต้องการคอนเทนต์ที่เพิ่มขึ้นทำให้อนาคตของนักพัฒนาในภูมิภาคนี้มีความสดใสอย่างมาก

ผลการศึกษาการใช้งานโมบายล์แอป

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย แชร์ข้อมูลตลาดแอป

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย แชร์ข้อมูลตลาดแอป

มือถือเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย 70% ของคนไทยมีโทรศัพท์มือถือ (ในสัดส่วนเดียวกันกับสหรัฐฯ) และเหตุผลที่ทำให้มือถือเป็นที่นิยมมาจากประสบการณ์ที่ได้จากผลงานที่นักพัฒนาสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้ความบันเทิง ให้ข้อมูลและช่วยให้เราทำอะไรต่างๆ มากมายจากแอป  เพื่อดูว่าวันนี้คนไทยใช้แอปกันอย่างไร Google ร่วมกับ TNS ออสเตรเลียทำการสำรวจในหัวข้อ “Asia Pacific Apps Usage Study”

ข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจนี้ ประกอบด้วย

1. คนไทยชื่นชอบโมบายล์ และแอป

  • คนไทยมากกว่าครึ่ง (55%) เป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่เข้าสู่ยุคโมบายล์-เฟิสต์ คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก
  • คนไทยติดตั้งแอปบนมือถือเฉลี่ย 32 แอป

2. คนไทยชื่นชอบแอปที่มีประโยชน์

  • ในประเทศไทย ข้อมูลจากรีวิวต่างๆ เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่สุดในการตัดสินใจติดตั้งแอป รวมถึงขนาดของแอป เพราะผู้ใช้กลุ่มหนึ่งใช้สมาร์ทโฟนที่มีพื้นที่จำกัด
  • ประเภทของแอปที่คนไทยชอบดาวน์โหลดได้แก่ เกม โซเชียลมีเดีย แอปส่งข้อความหรือแอปสนทนา
  • เหตุผลหลักๆ ในการถอนการติดตั้งแอป คือ แอปที่ไม่ค่อยได้ใช้งานหรือแอปที่ไม่มีประโยชน์

3. คนไทยรักการช็อบสินค้าผ่านแอป

  • คนไทยชื่นชอบการซื้อสินค้าและบริการผ่านแอป:
    • 7 ใน 10 ของคนไทย (68%) กล่าวว่าพวกเขาซื้อแอปหรือซื้อฟีเจอร์เสริมสำหรับแอปบน Play Store หรือ  iTunes App Store จากบัญชีของตัวเองอย่างน้อยหนึ่งครั้ง  นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสูงกว่าสิงคโปร์และญี่ปุ่น
    • และยิ่งไปกว่านั้น มากกว่า 2 ใน 3 (78%) ซื้อสินค้าหรือบริการในแอปใดแอปหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าหากนักพัฒนาชาวไทยสามารถสร้างแอปที่ตรงใจผู้ใช้งาน เช่นเดียวกับแอปที่ติดอันดับประจำปี 2559 มันจะเส้นทางไปสู่การสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้อีกด้วย

พูดคุยกับนักพัฒนาแอปในไทย

_b0a8560

ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม มีการจัดเสวนาโดยนักพัฒนาแอปชื่อดังที่อยู่ในไทยได้แก่ Eatigo, Kaidee, Wongnai, Ookbee และ PlayLabs โดยเริ่มจากประเด็น เทรนด์ของแอปตอนนี้

Ookbee มองในประเด็นนี้ว่า User Genarate Content มาแรงมากขึ้น จะเป็นการ์ตูน นิยาย หรือหนังสือมากขึ้น มีเนื้อหามากขึ้น คนใช้เวลากับแอปมากขึ้น ส่วน Wongnai มองว่าคนจะยิ่งโหลดแอปน้อยลง ทำให้วงในวางวิสัยทัศน์ถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่ใช่แอป ที่มีคนใช้เยอะอยู่แล้ว และจะรุกมากขึ้น อย่าง LINE bot คือมองเป็นกลยุทธ์ multi-channal ดักผู้ใช้หลายๆ ทาง ผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ใช้ขาประจำของบริการก็สามารถใช้ช่องทางอื่นๆ นอกจากแอปได้ แต่คุณไมเคิลก็มีมุมมองว่าความยุ่งเหยิงของแอปอาจจะทำให้แอปกลับเป็นความเรียบง่ายใหม่ แอปตัวหนึ่งจะเสริมฟีเจอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เล่นเกมได้ จ่ายเงินได้ แต่สุดท้ายผู้ใช้อาจจะไม่ต้องความยุ่งเหยิงแบบนั้นก็ได้ ก็จับตาดูความเคลื่อนไหวนี้ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรแน่

ส่วน Kaidee บอกว่าแอปในแอนดรอยโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใช้แอนดรอยสร้างรายได้อันดับหนึ่งกับขายดี โดยผู้ใช้ desktop เป็นแค่อันดับ 3 ของผู้ใช้ทั้งหมด ซึ่งรายได้ของขายดีคือการซื้อตำแหน่งการขายของ โดยมีผู้ใช้ที่จ่ายจริงให้กับบริการราว 10%

มาถึงประเด็นต่อมา กลยุทธ์สำคัญของแอปตอนนี้ สรุปเป็นภาพใหญ่คือ เน้นการ localize หรือการปรับให้เข้ากับผู้ใช้ในพื้นที่นั้นๆ อย่างฝั่งเกมโดย PlayLabs ก็พยายามแตกราคาให้ย่อยมากขึ้น จะได้ซื้อง่ายขึ้น ส่วน Wongnai มุ่งไปที่โมบาย แบบแทบจะเททั้งบริษัทให้เป็นโมบาย เพราะผู้ใช้วงใน 85% มาจากโมบาย เนื้อหาบางหน้าอาจจะไม่มีบนเว็บสำหรับ PC ด้วยซ้ำ ทีมงานก็ต้องเทสกับมือถือเป็นหลักทั้งหมด ไม่ใช่ชินกับการทำบนคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมองว่า mobile payment น่าจะเข้ามามีบทบาทมากๆ ในไทย วงในอาจจะเข้าไปร่วมใน payment ต่างๆ แบบค้นข้อมูลแล้วจ่ายเงินเลย แต่ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่า wallet ไหนจะกินตลาดได้

ส่วน Ookbee ทำเซกเมนต์ละเอียดขึ้น และขยายบริการใหม่ๆ ในประเทศที่มี ookbee อยู่แล้ว แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศมากขึ้น และ kaidee ที่เคยทำบริการให้ง่ายมาตลอด เมื่อก่อนใส่คำว่า menu แทนการใช้ปุ่ม Hamberger Menu (ปุ่ม 3 ขีด) ทำให้ conversion rate สูงขึ้น 200% แต่ตอนนี้คนไทยเข้าใจการใช้โมบายมากขึ้น ก็จะมีการเสริมความสามารถเข้าไปอีก และที่ต้องบุกต่อไปคือให้ผู้ใช้ขายของมือสองกันมากขึ้น เพราะคนไทยไม่ค่อยชอบขายของมือสอง