องค์ความรู้และทักษะด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ของไทยนั้นไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกเลยนะครับ ล่าสุดทีม CMIT ReArt โดยอาจารย์และนิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปคว้ารางวัลอันดับ 2 ของโลกจากแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะระดับนานาชาติหรือ Robot Art 2017 ที่สหรัฐอเมริกามาได้ จากผู้ส่งผลงาน 38 ทีมทั่วโลก รับเงินรางวัล $25,000 (~861,000 บาท)
หุ่นยนต์ที่เข้าแข่งขัน Robot Art นั้นจะต้องวาดภาพด้วยวิธีของมนุษย์ คือใช้แปรงติดที่หุ่นยนต์เพื่อจุ่มสีแล้วไปวาด โดยอนุญาตให้ใช้สีได้ 8 สี แต่สามารถนำสีมาผสมกันเพื่อสร้างสีใหม่ได้เหมือนการทำงานของศิลปินจริงๆ ห้ามใช้เทคโนโลยีการพิมพ์รูปแบบอื่น
หุ่นยนต์ Delta Robot จากม.เกษตร
โดยทีม CMIT ReArt จากห้องปฏิบัติการวิจัย CMIT Haptics & Robotics Lab ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.เกษตรศาสตร์ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Delta Robot ที่สามารถลอกแบบการทำงานของศิลปินออกมาได้ด้วยเทคโนโลยีรับรู้แรงสัมผัสหรือ Haptics ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถบันทึกทักษะของศิลปินออกมา ทั้งลักษณะฝีแปรง รูปแบบการตวัด ออกมาเป็น Haptics file และสามารถเล่นซ้ำได้ ซึ่งนับเป็นการรวมข้อดีของมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างงานศิลปะ และข้อดีของหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานถูกต้องแม่นยำ ทำงานซ้ำๆ ได้โดยไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยว แถมยังทำงานได้เร็วกว่ามนุษย์ด้วย
ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีรับรู้แรงสัมผัสและหุ่นยนต์นี้จะช่วยรักษาความรู้ด้านศิลปะจากศิลปินชั้นครู และช่วยในการสอนศิลปะที่ผู้เรียนจะได้เห็นฝีแปรงของยอดฝีมืออย่างละเอียดผ่านตัวหุ่นยนต์ หรือนำไปพัฒนาในด้านอื่นๆ เช่นพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ทางการแพทย์
ผลงานเข้าประกวด
การแข่งขัน Robot Art 2017 นั้นมีงานประกวด 2 ประเภทคือทำซ้ำผลงานเดิมที่มีอยู่แล้ว (Re-interpreted Artwork) และ สร้างผลงานด้วยเทคนิคใหม่ (Original Artwork) ซึ่งทีม CMIT ReArt ได้ส่งทั้ง 2 ประเภทประกวด รวม 5 ผลงานคือ
1. King Bhumibol Adulyadej (Re-interpreted Artwork)
2. Steve Jobs (Re-interpreted Artwork)
3. The Starry night (Re-interpreted Artwork)
4. Bohr Model (Original Artwork)
5. Record (Original Artwork)
และจาก 5 ผลงานนี้ทีม CMIT ReArt ก็คว้ารางวัลอันดับ 2 ของการประกวดมาได้ โดยผู้ชนะเลิศคือทีม PIX18 / Creative Machines Lab จากม.โคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ส่วนอันดับ 3 คือทีม CloudPainter จาก Gonzaga สหรัฐอเมริกาเช่นกันครับ ซึ่งทีมอันดับ 1 และ 3 นั้นจะใช้เทคนิคแตกต่างจากทีมของไทย คือใช้วิธีคิดแบบ deep learning เพื่อสร้างสรรค์รูปออกมาครับ
โดยการตัดสินจะพิจารณาจากการโหวตผ่านทาง Facebook เป็นสัดส่วน 40% ของคะแนนทั้งหมด ส่วนนักวิจารณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะและเทคโนโลยีจะลงคะแนนในส่วน 60% ที่เหลือ โดยคะแนนดังกล่าวจะคิดจาก ความมีเอกลักษณ์ และอารมณ์สุนทรีย์ของภาพวาด และความสามารถของหุ่นยนต์ในการวาดภาพ เช่น การเรียงชั้นสี การผสมผสานสี
สมาชิกทีม CMIT ReArt
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข
- นายจันทร์ อัญญะโพธิ์ นิสิตปริญญาเอก
- นายนิพันธ์ สุรพงษ์ นิสิตปริญญาโท