เนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าร่วมเสวนา “บริการมูลค่าเพิ่ม (OTT): โอกาสของธุรกิจสื่อในยุคอินเทอร์เน็ต” ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยนโยบายสื่อ ร่วมกับ เครือข่ายพลเมืองเน็ต เนื่องจากจะมีการกำกับดูแล OTT โดย กสทช. จึงมีการจัดเสวนาขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ หลังพบว่าร่างของกฎหมายควบคุม OTT ยังไม่ชัดเจนและอาจมีปัญหา รวมถึงพูดถึงด้านการเจริญเติบโตของ OTT ในยุคนี้
โดยวิทยากรประกอบด้วย
คุณ วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา (รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
คุณ Peter Lovelock (ผู้อำนวยการ Telecommunications Research Project Corporate)
และผู้ร่วมเวทีเสวนา
– กฤษณ์ บุญญะรัง ผู้ผลิตเนื้อหาอิสระบนยูทูบ (บี้ เดอะสกา)
– โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจออนไลน์ บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
– ภัทรพันธ์ ไพบูลย์ นักกฎหมาย เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่
– ภูรี สิรสุนทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นำการเสวนาโดย
พิจิตรา สึคาโมโต้ หน่วยปฏิบัติการวิจัยนโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต
ทั้งนี้ทางเว็บแบไต๋ขอสรุปในเฉพาะส่วนของเสวนาสั้นๆ นะครับว่ามีสาระสำคัญอะไรบ้าง
- คุณโชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจออนไลน์ บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ได้กล่าวว่า
“ทางเรานั้นเป็นทั้งเจ้าของแพลตฟอร์ม OTT เอง ทั้ง Application และเว็บไซต์ในเครือ BEC Tero ซึ่งมีทั้งโทรทัศน์และวิทยุ รวมถึงการใช้แพลตฟอร์ม OTT รายอื่นเพื่อเผยแพร่เนื้อหาเช่น Facebook, YouTube, Twitter, Line อีกทั้งถือใบอนุญาตโทรทัศน์ภาคพื้นดินทั้งอนาล็อกและดิจิตอลด้วย ทำให้เข้าใจว่า
ความแตกต่างระหว่าง OTT กับสื่อทีวีแบบเดิมคือ สื่อ OTT วัดเรตติ้งได้ Real Time กว่า และทุกคนที่ดูและฟังถูกนำไปวัดหมด ไม่เหมือนสื่อทีวีเดิม ต้องเป็นบ้านที่ติดกล่องวัดเรตติ้งเป็นตัวแทน และไม่ได้มองว่าผู้ผลิตคอนเทนท์บนออนไลน์เท่านั้น (Online Only) เป็นคู่แข่ง เห็นว่าช่องทางนี้ดีมาก เพราะมีคนต่างประเทศมาดูด้วย จนบางครั้งต้องใส่ CC ภาษาอังกฤษไปด้วย
ส่วนเรื่องการกำกับคอนเทนท์ OTT นั้น หากกำกับควบคุมกันเองไม่มีหน่วยงานกลางคิดว่าไม่เพียงพอ แต่รู้สึกแปลกๆ ที่ควบคุมการนำเข้า Hardware OTT แค่พวก Box, Stick ทั้งที่มือถือ Smart TV หรือคอมพิวเตอร์ปกติก็เข้าข่าย จึงไม่เห็นด้วยที่จะควบคุมถึง Hardware ไม่ว่าประเภทใด (ถ้าไม่มีการขายพ่วงบริการที่เข้าข่าย OTT ยกตัวอย่างเช่น AIS Playbox) เพราะทางเทคนิคเอาไปประมวลผลใช้งานอย่างอื่นได้
- คุณกฤษณ์ บุญญะรัง ผู้ผลิตเนื้อหาอิสระบนยูทูบ (บี้ เดอะสกา) ได้กล่าวว่า
ในมุมที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์เต็มตัว แต่ไม่มีแพลตฟอร์ม OTT เช่น Hardware /Application หรือเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เห็นว่าช่องทางออนไลน์คือช่องทางที่อิสระในการปล่อยของ ผลิตคอนเทนท์ แต่เห็นว่าผิดก็คือผิด ก็ต้องมีการจัดการ แต่ถ้าไม่มีหน่วยงานกลางในไทยควบคุม ก็จะขึ้นอยู่กับเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีมาตรฐานต่างกันไป หรือมีการกำกับกันเองเช่น กลุ่มชุมชนออนไลน์ แต่ถ้าจะมีหน่วยงานมากำกับควบคุมก็ต้องมีความชัดเจนว่ามีขอบเขตแค่ไหนและไม่ล้ำเส้นเกินไป
- ภูรี สิรสุนทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า
เห็นว่าเมื่อต้องควบคุม มันจะขัดกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ไหม เพราะอินเทอร์เน็ตถูกออกแบบมาให้ไร้พรหมแดน ถ้ามาควบคุมจะเสีย Concept ของอินเทอร์เน็ต คุมไปแล้วจะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ และอาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของ Content productor, User-gen content ลดลง
- คุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้กล่าวว่า
คำถามคืออาจมีการนำกฎที่คุมสื่อเดิมที่คนดูเลือกที่จะดูแบบ On demand ไม่ได้ มาใช้กับ OTT ซึ่งเป็น On demand อาจดูไม่เหมาะเท่าไหร่ ต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย
On demand ก็เหมือนเราไปเลือกดูหนังในโรงภาพยนตร์ เราเลือกดูเรื่องที่อยากดูเอง หนังไม่ได้วิ่งมาหาเราแบบไร้ทางเลือก เช่นโรงภาพยนตร์เครือ A ฉายเรื่องนี้เท่านั้น ใครซื้อตั๋วก็ดูได้แต่เรื่องนี้เป็นต้น เหมือนกับสถานีโทรทัศน์และวิทยุที่มีรายการมาตามผังเขาส่งอะไรเราก็ได้ดูได้ฟังแบบนั้น เลือกคอนเทนท์ไม่ได้
- คุณภัทรพันธ์ ไพบูลย์ นักกฎหมาย เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ ได้กล่าวว่า
จากกฎหมายเหล่านี้ 3 ข้อนั้นจะเน้นคุมสื่อโทรทัศน์ วิทยุแบบเดิม และโทรคมนาคม แต่มีการแก้กฎหมายข้อ 3 เพื่อรองรับ OTT เมื่อเร็วๆ นี้ในการควบคุมการนำเข้าอุปกรณ์ ส่วนข้อ 4 เกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์เต็มๆ
OTT ไม่มีกฎหมายขั้นตอนอย่างชัดเจนเหมือนกับสื่อโทรทัศน์ วิทยุแบบเดิมที่มีระบบขอใบอนุญาติ และมีขั้นตอนอย่างชัดเจน และพอมีคนร้องเรียนทำให้ประสานงานได้ยาก และถ้ากำกับควบคุม เว็บจากต่างประเทศที่ไม่มีสำนักงานหรือตัวแทนในไทยจะจัดการอย่างไร เราจะบังคับทุกคนที่เปิดเว็บ ทำ Application ทำเพจ ทำ Blog ที่มีวิดีโอหรือ Live Stream ต้องจดทะเบียนขอใบอนุญาติทุกคนหรือไม่? ถ้าทำแล้วมันจะล้ำเส้นละเมิดสิทธิประชาชนเกินไปหรือไม่?
ความเห็นจากผู้คนที่มาฟังเสวนา
มีท่านนึงบอกว่าไม่เหมาะสมที่จะควบคุม Hardware เพราะว่า Hardware ไม่ว่าจะประเภทไหนถ้าต่อเน็ตมันก็แสดงผลคอนเทนท์ OTT ได้หมด และคนที่ซื้อไป อาจจะนำไปทำอย่างอื่นก็ได้ เพราะความสามารถมันมีหลากหลาย แต่ให้ควบคุมแต่ผู้ให้บริการเนื้อหา (คอนเทนท์) และบางบริการที่เป็นของต่างชาติ และไม่มีสำนักงานในไทยหรือตัวแทนในไทย เราจะควบคุมยังไง จะปิดกั้นไปเลยไหม ถ้าทำจะเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนไหม หรือถ้าปล่อยไว้ก็เหมือนกับเป็นการรังแกผู้ประกอบการในไทยหรือต่างชาติที่มีสำนักงานหรือตัวแทนในไทยกันเองไหม เพราะถูกควบคุม ทำให้ยิ่งไม่เป็นธรรม
ส่วนตัวผู้เขียนบทความได้เสนอคำถามฝากคุณกฤษณ์ บุญญะรัง (บี้ เดอะสกา) ที่จะเข้าพบหารือกับ กสทช. ในวันที่ 6-7 มิถุนาบนนี้ โดยได้ดึงประเด็นเด่นๆ จากผู้เข้าร่วมงานรวมถึงสิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากถามทางกสทช.
- ถ้าควบคุมแล้ว จะมีการปิดกั้นเว็บไซต์จากต่างชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่
- ผู้ผลิตเนื้อหาที่ไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง ต้องมียอดติดตาม ยอดวิว ยอดถูกใจ เท่าไหร่ถึงจะเข้าข่าย OTT หรือต้องรับรายได้เท่าไหร่ขึ้นไปถึงเข้าข่าย OTT ขอความชัดเจนตรงนี้ด้วย
- บริการ Streaming เพลงออนไลน์อย่าง Joox, Deezer เป็นต้น เข้าข่ายหรือไม่ และจะควบคุมไหม
- ทำไมถึงมองว่าคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก อย่างพวก Compute Stick เข้าข่าย OTT แล้วต่อไปนี้ผู้จำหน่ายต้องขออนุญาติกสทช. ด้วย ในขณะที่คอมพิวเตอร์ปกติไม่เข้าข่าย ทั้งที่ Compute Stick หลักการทำงานก็ไม่ต่างอะไรกับคอมพิวเตอร์ทั่วไปและไม่ได้พ่วงบริการ OTT มาด้วย คนจะซื้อไปใช้งานอย่างอื่นก็ได้
- จะควบคุมอย่างไร ขอบเขตแค่ไหน จะบังคับทุกคนที่เปิดเว็บ ทำ Application ทำเพจ ทำ Blog ที่มีวิดีโอหรือ Live Stream ต้องจดทะเบียนขอใบอนุญาติทุกคนหรือไม่? หรือว่าต้องมีเงื่อนไขอย่างไรถึงต้องจดทะเบียน
- Store ขายภาพยนตร์ต่างๆ จะเข้าข่าย OTT ด้วย เช่น Netflix, iflix แล้วจะถามว่าถ้าอย่าง Apple iTunes, Google Play, Windows Store ก็มีภาพยนตร์ขายด้วยเช่นกัน จะเข้าข่ายหรือไม่
- ทำไม Smart TV ถึงไม่ต้องขออนุญาติจำหน่าย แต่กล่อง Android Box กลับต้องขออนุญาติจำหน่าย ทั้งที่มันก็เข้าข่าย OTT เหมือนกันทั้งคู่
- เพจองค์กรหรืองานกิจกรรมต่างๆ ถ้าจะ Live Stream กิจกรรมของตัวเองเข้าข่าย OTT หรือไม่ แล้วต้องขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาติหรือไม่
ขอสังเกตจากผู้เขียน เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับข่าวล่าสุด
จากข่าว : “กสทช. ชงเรื่องเสนอนายกฯ ร่วมกับรัสเซียเพื่อสร้าง Social Network ของไทย” เป็นไปได้ไหมที่จะมีการปิดกันสื่อ Social Media และบริการ OTT จากต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนหรืออยู่ภายใต้การดูแลจาก กสทช. ถ้าเกิดทำขึ้นจริงอยากให้คำนึงถึงผลกระทบด้วยเช่นกัน และที่สำคัญ พรบ.คอมพิวเตอร์ที่ปรับปรุงใหม่ ยังระบุไว้ว่า “สามารถเข้าเว็บไทยและเว็บต่างประเทศได้ตามปกติ” (อ้างอิงจากข่าวเดิม) ซึ่งมีความแย้งกันอยู่
ปิดท้ายทางเว็บแบไต๋ขอนำเอกสาร “โครงการศึกษาแนวทางการกํากับดูแลการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์แบบ Over the Top (Competition Regulation on OTT TV)” จากกสทช. มาให้อ่านด้วยนะครับ ไปดาวน์โหลดได้ที่นี่ นะครับ