วันนี้ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลผลสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมหลัก การศึกษาและบริการสุขภาพประจำปี 2559 ว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
ผลสำรวจการใช้ดิจิทัลในโรงเรียนทั่วประเทศ สะท้อนครูนักเรียนเก่งดิจิทัลแต่บุคลากรขาดแคลน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) เผยผลสำรวจครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ พบ ครู-นักเรียนมัธยมมีสมาร์ทโฟนใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โรงเรียนขาดนักคอมพิวเตอร์อย่างหนัก ในขณะที่ครูสามารถใช้งานและสร้างสื่อและทรัพยากรดิจิทัลเองได้แต่ยังไม่มีการแบ่งปันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อระบบการศึกษาของประเทศได้อย่างเต็มที่
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า “ผลการสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการศึกษา ประจำปี 2559 ซึ่งทำการสำรวจครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัด กทม. และ สพฐ. จำนวน 923 โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า โรงเรียน 99% มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งาน ครูมีความพึงพอใจต่อความเร็วของอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน 35% ไม่พอใจเนื่องจากความเร็วไม่พียงพอต่อการใช้งาน รวม 65% มีความขาดแคลนนักคอมพิวเตอร์ที่จะให้ความช่วยเหลือบุคลากรในโรงเรียนอย่างรุนแรง โดยโรงเรียนถึง 55% ระบุว่าไม่มีนักคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน และโรงเรียนที่เหลือ 45% ระบุว่าทั้งโรงเรียนมีนักคอมพิวเตอร์เพียง 1-2 คนเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้พบว่ามีการแบ่งปันทรัพยากรดิจิทัลที่ครูสร้างขึ้นเอง โดยมีการแบ่งปันเฉพาะภายในโรงเรียนเท่านั้น 57% แบ่งปันบนยูทูบ 5% ไม่ได้แบ่งปัน 5% บนเว็บไซต์ของหน่วยงานเอกชน 1% บนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ 1% และไม่เคยสร้างเอง 31% ครูทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ไอทีได้หลายชนิด ได้แก่ สมาร์ทโฟน พีซี และโน้ตบุ๊ค ในขณะที่นักเรียนประมาณครึ่งหนึ่งเข้าถึงได้เพียงสมาร์ทโฟนเท่านั้น
นอกจากนี้ ครูวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินความสามารถด้านดิจิทัลของตนเองได้ในระดับค่อนข้างดี สามารถเข้าถึงและใช้งานสื่อและทรัพยากรดิจิทัลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองได้ แต่ยังขาดการอบรมด้านนี้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ส่วนด้านการใช้สื่อและทรัพยากรดิจิทัลในการเรียนการสอน พบว่า ครูใช้สื่อดิจิทัลถึง 50% ของจำนวนคาบเรียนทั้งหมด และครู 55% สามารถสร้างสื่อดิจิทัลเอง และแบ่งปันให้ครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียน แต่ยังขาดแพลตฟอร์มในการแบ่งปัน และคัดกรองสื่อที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ จากงานวิจัยทั้งหมดพอจะสรุปได้ว่า ทางด้านกลุ่มครู ครูมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานเพียงพอ ทรัพยากรดิจิทัลที่ครูใช้อย่างมากได้แก่ ยูทูบ ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ รวมถึงสื่อจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ด้านความรู้ด้านไอทีของครูค่อนข้างดี แต่ยังขาดการอบรมที่เพียงพอและสม่ำเสมอ ควรส่งเสริมให้มีการอบรมออนไลน์ หรือจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการที่โรงเรียนโดยวิทยากรผ่านระบบออนไลน์ งานวิจัยยังพบว่าครูมีการสร้างทรัพยากรดิจิทัลด้วยตนเอง แต่ขาดระบบการแบ่งปันทรัพยากรดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน ควรมีการพัฒนาระบบคลังทรัพยากรดิจิทัลสำหรับการแบ่งปัน และมีการตรวจสอบคุณภาพทรัพยากรดิจิทัลอย่างเป็นระบบ ขณะที่การติดตามการอบรม ครูยังคงมีการใช้เอกสารเป็นหลัก ซึ่งควรมีการเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลที่สามารถนำไปให้วิเคราะห์เพื่อการพัฒนาต่อไปได้ ด้านกลุ่มนักเรียน นักเรียนมัธยมมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งานมาก แต่นักเรียนประถมยังขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์ ด้านบุคลากร โรงเรียนขาดแคลนบุคลากรด้านไอที ควรมีมาตรการส่งเสริม
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีคือความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนที่จะต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถใช้งานได้โดยไม่ติดขัด อันจะเป็นการส่งเสริมการใช้งานด้านดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ดีป้าในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลและการนำดิจิทัลไปใช้เพื่อศักภาพทางเศรษฐกิจและสังคม จึงเร่งดำเนินการโครงการด้านสังคมเพื่อสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลสู่ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคการศึกษาด้วย โดยจะมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชน เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้สื่อดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษาต่อไป
ดีป้า เผยผลสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ภาคอุตสาหกรรมบริการสุขภาพปี 2559 เร่งต่อยอดดิจิทัลเพื่อสุขภาพหวังดันคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลสำรวจใน “โครงการการสำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมหลัก ประจำปี 2559 (ภาคสุขภาพ)” เล็งเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพในรูปแบบที่หลากหลายผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมอบการให้บริการที่สะดวก และทันสมัยให้กับประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้น
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเป็นไปตามนโยบายของดีป้า เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม และเพื่อการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และยังสอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ตามยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐฯ เป็นการพัฒนางานบริการของหน่วยงานภาครัฐสู่ความเป็นเลิศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการในทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน และนักธุรกิจ เอกชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
โครงการนี้เน้นสำรวจข้อมูลทั้งในด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ และการส่งผ่านข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ และกลุ่มโรงพยาบาลทุกขนาด เพื่อให้ทราบและเข้าใจถึงแนวโน้มความต้องการในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในการสร้างและบริหารจัดการข้อมูลคนไข้ที่ต้องส่งต่อกันระหว่างผู้ให้บริการ ผู้จ่ายเงิน และผู้ควบคุมดูแล รวมทั้งเพื่อศึกษารูปแบบการให้บริการที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลผ่านทางออนไลน์ หรือโมบาย โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง
“ในการที่จะนำซอฟต์แวร์ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างเครื่องมือ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในภาคการบริการสุขภาพ เราต้องพิจารณาถึงประโยชน์ ความคุ้มค่า และประสิทธิภาพในการใช้งานและการให้บริการ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดีป้าเองได้เห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการที่ประเทศไทยควรจะต้องเร่งพัฒนาความพร้อมทั้งในแง่ของระบบและในแง่ของทรัพยากรให้ทันต่อยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จึงต้องศึกษาให้เข้าใจเพื่อการวางแผนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวที่มีประสิทธิผลสูงสุด” ดร.กษิติธร กล่าว
จากการศึกษา สิ่งที่หน่วยงานด้านการบริการสุขภาพต้องการเห็นในอีก 4 ถึง 5 ปี ข้างหน้า คือการสร้างระบบฐานข้อมูลกลาง (Centralization) เพื่อแบ่งปันข้อมูลร่วมกันนอกจากนี้ ในมุมมองของโรงพยาบาล ยังต้องการให้เกิดรูปแบบการให้บริการแบบ “Patient-centered medicine” หรือการให้บริการที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนที่น้อยที่สุด ซึ่งการจะทำให้เกิดการให้บริการรูปแบบนี้ได้จำเป็นต้องมีระบบซอฟต์แวร์ และไอทีที่มีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบการนัดหมายแพทย์ที่รวดเร็ว โดยอาจนำโมบายแอปพลิเคชันเข้ามาช่วยมากขึ้น จากที่ในปัจจุบัน ได้มีการทำในลักษณะช่องคีออสที่คนไข้สามารถที่ตรวจสอบสิทธิ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ ผลสำรวจสอดคล้องกับโครงการส่งเสริมการใช้งานระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องฯ ของดีป้า ที่มุ่งเน้นการดำเนินการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศจากระบบปฏิบัติการโรงพยาบาล: Hospital Information System หรือ HIS มาสู่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถแสดงผล (Output) ข้อมูลประวัติสุขภาพในรูปแบบเว็บเซอร์วิสและแอปพลิเคชัน บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ผ่านฐานข้อมูลกลางที่ออกแบบให้รองรับโครงสร้างข้อมูลในแต่ละจังหวัดให้สามารถแสดงผลอย่างถูกต้อง โดยการดำเนินงานโครงการฯ ศึกษาและพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่าง ๆ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ประโยชน์จากระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) ซึ่งมุ่งเน้นการขยายฐานจำนวนประชาชนใช้งานระบบให้มากที่สุดทั้งในส่วนของการแสดงผลข้อมูล และบันทึกข้อมูล ซึ่งจะส่งผลให้ฐานข้อมูลระบบ PHR มีฐานที่ใหญ่ขึ้น สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และออกนโยบายการสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผลสำรวจระบุว่า การพัฒนาและการนำเอาเทคโนยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในภาคการบริการด้านสุขภาพจะนำไปสู่การให้บริการแบบ Homecare ที่จะช่วยให้คนไข้ได้รับบริการสาธารณสุขจากที่บ้านในอนาคต รวมทั้งสามารถดูแลตัวเองได้โดยใช้เครื่องมือ Wearable Device ที่เชื่อมต่อเข้ากับเซิร์ฟเวอร์ หรือ คลาวด์ของโรงพยาบาล เพื่อได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ได้โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลหากไม่จำเป็น หรือ มีระบบแจ้งเตือน (alert) เตือนไปยังญาติ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลอยู่ได้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ทำให้สามารถดูแลรักษาได้ทันท่วงที
“บทบาทหนึ่งของดีป้า คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพันธกิจของเรายังมุ่งเน้นในการทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการส่งเสริม ประสาน และบูรณาการความร่วมมือ ทุกภาคส่วน ให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น ผลที่ได้จากโครงการวิจัยนี้จะสามารถนำไปต่อยอดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพื่อผลักดันการให้บริการด้านสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” ดร.กษิติธร กล่าว