บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจการให้บริการดาวเทียมและกิจการอวกาศของไทย ประกาศการได้รับสิทธิ์ในการใช้คลื่นความถี่ดาวเทียมครอบคลุม 6 ประเทศในอาเซียน มีความพร้อมและจะเริ่มเสนอให้บริการสัญญาณผ่านดาวเทียมให้แก่ภาครัฐ ผู้ประกอบการโทรคมนาคม รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทยเร็วๆ นี้
มิว สเปซ ได้รับสิทธิ์ในการใช้คลื่นความถี่ดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก ซึ่งเมื่อ มิว สเปซ ส่งดาวเทียมขึ้นไปในตำแหน่งดังกล่าว จะทำให้มีคลื่นความถี่ดาวเทียมที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศกัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยได้ โดยก่อนหน้านี้ คลื่นความถี่ที่ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออกดังกล่าวนั้น มีการใช้งานโดยบริษัท New Skies Satellites หรือ NSS บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท SES บริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำระดับโลกทางด้านดาวเทียม โดยที่ มิว สเปซ วางแผนเช่าคลื่นความถี่ดาวเทียมที่วงตำแหน่งโคจรดังกล่าวเป็นระยะเวลา 15 ปี และจะต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 15 ปี
นายวรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบันอัตราการการเติบโตของฐานผู้บริโภคในธุรกิจการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณมือถือในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น โดย มิว สเปซ มีความพร้อมที่จะให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว อีกทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เช่น โปรแกรมดิจิตอลแอปพลิเคชั่น เทคโนโลยี 5G ไอโอที (IoT) รวมถึงดาวเทียม ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณมือถือ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น”
จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ประชากรทั้งหมดในประเทศกัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 269 ล้านคน โดยที่ 42% ของจำนวนประชากรดังกล่าว หรือประมาณ 113 ล้านคน เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และมีการลงทะเบียนใช้งานโทรศัพท์มือถือถึง 359 ล้านเลขหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวเลขจากรายงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือนั้นมีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรโดยรวมของทั้ง 6 ประเทศเสียอีก สำหรับในประเทศไทยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือถึง 120 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสองเท่าของจำนวนประชากร 69 ล้านคนในประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในด้านส่วนแบ่งการตลาดของการใช้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้ก้าวตามไปด้วย มีเพียงแค่ 48% ของประชากรไทย หรือเพียง 33 ล้านคนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
ดังนั้น เพื่อสนับสนุนความต้องการของตลาด บริษัทกำลังพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางด้านดาวเทียม และริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านไอโอที (IoT) โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก มิว สเปซ ไม่หยุดยั้งในการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยในเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา มิว สเปซ ได้ลงนามร่วมกับบริษัท SES โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณมือถือผ่านดาวเทียมในพื้นที่ชนบทห่างไกลของประเทศไทย ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาความร่วมมือดังกล่าว ทาง มิว สเปซ จะเป็นผู้ให้บริการสัญญาณผ่านทางดาวเทียม SES-8 ซึ่งเป็นดาวเทียมสัญชาติลักเซมเบิร์ก และดาวเทียม SES-12
“ในวันนี้ มิว สเปซ มีความพร้อมที่จะให้บริการสัญญาณดาวเทียมในประเทศไทยทันที เหลือเพียงแต่รอขั้นตอนการอนุมัติจากภาครัฐเท่านั้น และผมเชื่อว่า มิว สเปซ จะได้รับไฟเขียวในการให้บริการดาวเทียมจากทางภาครัฐในเร็ววันนี้ เช่นเดียวกับที่ มิว สเปซ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจอุตสาหกรรมทางด้านดาวเทียมและอวกาศของภูมิภาคอย่างเต็มตัวแล้ว และนอกจากนี้การได้มาซึ่งสิทธิในการใช้งานในตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออกของเรานั้น ไมได้มีความสำคัญเพียงในแง่การให้บริการดาวเทียมของ มิว สเปซ เท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อประเทศไทยในประเด็นเรื่องสิทธิในการใช้งานจากเอกสารข่ายงานดาวเทียมในตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมอีกด้วย โดยถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการบางอย่างเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิของประเทศไทยที่ตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวที่จะหมดอายุลงในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้” นายวรายุทธกล่าวเพิ่มเติม
มิว สเปซ เป็นสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม ก่อตั้งเมื่อกลางปี 2560 โดยมีเป้าหมายต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยการนำดาวเทียมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในพื้นที่ห่างไกล และการนำมาปรับใช้กับสื่อสารในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการรองรับ IoT และ Smart Cities ปัจจุบัน มิว สเปซ เป็นสตาร์ตอัพอวกาศแห่งแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม (แบบมีโครงข่ายดาวเทียมเป็นของตนเอง) จากสำนักงานจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นระยะเวลา 15 ปี