สำหรับผู้ใช้ทั่วไป เราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อของ Huawei ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่กำลังมาแรงตอนนี้ แต่จริงๆ แล้วหัวเว่ยเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการสื่อสารยักษ์ใหญ่จากจีน ที่วันนี้เปิดตัวบริการคลาวด์สาธารณะหรือ Huawei Public Cloud ที่นอกจากจะให้บริการในไทยแล้ว ยังเหนือกว่าบริการคลาวด์ระดับโลกค่ายอื่นๆ ด้วยการตั้งโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยด้วย
หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เปิดตัวบริการคลาวด์สาธารณะในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการ Public Cloud ระดับโลกรายแรกที่เปิดให้บริการในไทยพร้อมตั้งโครงสร้างพื้นฐานและ Data Center ในประเทศ เพื่อเร่งความเร็วการใช้งานและเข้าถึงข้อมูลในไทย และสามารถเข้าถึงจากเครือข่ายทั่วโลกได้ โดยหัวเว่ยได้รับมอบใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจบริการคลาวด์ในประเทศไทยจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำให้หัวเว่ยเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลกรายแรกที่เปิดให้บริการคลาวด์ในประเทศไทย ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 30 กันยายน 2561 นี้
ภายในงานเปิดตัว Huawei Cloud Thailand ได้รับเกียรติจาก ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นสักขีพยานและขึ้นกล่าวภาพรวมการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทย โดยดร. พิเชฐมองว่า Cloud คือก้อนเมฆที่มีความสำคัญกับประเทศไทย ต้องส่งเสริมการใช้งานทั้งภาค SME และภาครัฐ ในส่วนภาครัฐจะเน้นที่การจัดข้อมูลและการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งมาตรฐานการจัดการข้อมูลภาครัฐนั้นสำเร็จแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เราเอาข้อมูลไปใช้ง่ายขึ้น บริการประชาชนได้เร็วและตรงเป้าขึ้น สามารถให้ข้อมูลกับภาคเอกชนเพื่อนำไปสนับสนุนธุรกิจได้
จุดเด่นของ Huawei Public Cloud คือมีศูนย์ข้อมูลตั้งอยู่ที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พื้นที่นี้ครอบคลุม 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง ทำให้เชื่อมต่อข้อมูลในประเทศด้วยความเร็วสูงและต้นทุนที่ถูกกว่าการเชื่อมต่อโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้หัวเว่ยยังมีศูนย์ข้อมูลในอีกหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์, รัสเซีย, เนเธอร์แลนด์, จีน, แอฟริกาใต้ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลให้เข้าถึงรวดเร็วจากทั่วโลก
ในส่วนของ มร. เจิ้ง เย่หลาย ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจคลาวด์ของหัวเว่ย ก็ให้ภาพที่ชัดเจนว่า หัวเว่ยเป็นผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และชิปเซ็ตในบริษัทเดียว พร้อมประสบการณ์ด้านการค้นคว้าวิจัยด้านการประมวลผลแบบคลาวด์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้หัวเว่ย มีเทคโนโลยีคลาวด์ต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) การจดจำข้อมูลภาพ (Image Recognition) และเทคโนโลยี AI พร้อมระบบนิเวศแบบเปิดที่มีบริษัทพันธมิตรกว่า 6,000 รายทำงานร่วมกับหัวเว่ย คลาวด์ เพื่อจัดหาโซลูชั่นแบบครบวงจร จนสามารถสนับสนุนการทำงานของผู้ใช้คลาวด์จากหัวเว่ยได้หลากหลาย
การเปิดให้บริการในประเทศไทยของบริการ Public Cloud จากหัวเว่ยนั้นถือว่าน่าตื่นเต้นไม่น้อยนะครับ เพราะในที่สุดไทยก็เป็นแหล่งที่ตั้ง Data Center ขนาดใหญ่จาก Cloud ที่ให้บริการในระดับนานาชาติสักที ซึ่งนอกจากทำให้การแข่งขันในตลาด Public Cloud สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ใช้บริการชาวไทยมีทางเลือกในการใช้บริการที่มากขึ้นด้วยครับ