ในโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลมีค่าดั่งทอง มีการใช้ข้อมูลผู้ใช้เพื่อทำประโยชน์มากมาย รวมถึงกรณีที่ดักข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยไม่ได้รับอนญาต ซึ่งเรื่องราวของข้อมูลในยุคดิจิทัลเหล่านี้เริ่มเข้าใจยากขึ้น แต่เข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที แบไต๋จึงขอแนะนำหนังสือ “Data for the People รู้อะไรไม่สู้รู้ดาต้า” โดย Andreas Weigend ให้อ่านกันเพื่อให้เข้าใจเรื่องของข้อมูลในยุคปัจจุบันเหล่านี้มากขึ้นครับ
Andreas Weigend เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้าน Big Data เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Social Data Lab และอดีตหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ (Chief Scientist Officer) ของ Amazon ซึ่งจากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับข้อมูลของมวลมหาผู้ใช้มายาวนาน จึงได้หน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจต่างๆ มากมายเช่น Alibaba, Hyatt, Lufthunsa และ MasterCard และคุณ Weigend ก็ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ทำงานกว่า 20 ปีที่เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ลงในหนังสือ “Data for the People รู้อะไรไม่สู้รู้ดาต้า” ให้ได้อ่านกัน
คุณ Weigend เล่าให้ฟังว่าที่เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเพิ่มความรู้ในการใช้ข้อมูล เพื่อให้รู้เท่าทันระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่แพร่หลายในยุค Social Media ซึ่งคุณ Weigend เน้นย้ำว่า Social Data นั้นใหญ่กว่า Social media อีก เพราะมันคือข้อมูลที่สร้างขึ้นมาทั้งหมดในโซเซียล ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่เราไม่ได้ป้อนเองเช่นตำแหน่งสถานที่ หรือวันเวลาต่างๆ พร้อมด้วยเคสตัวอย่างมากมาย ทั้งเรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างแบบจำลองพฤติกรรมผ่านแอป หรือความนัยของประโยคคุ้นหูอย่าง “บริษัทอาจทำการบันทึกการสนทนานี้เพื่อปรับปรุงการให้บริการ” หรือการที่ Amazon เพิ่มฟังก์ชั่นการเตือนเมื่อคุณเลือกซื้อของซ้ำ รวมถึงเปิดให้ผู้ซื้อเป็นผู้บรรยายสรรพคุณของสินค้าเอง ถือเป็นจุดเปลี่ยนในกระบวนการผลิตในภาคธุรกิจได้อย่างไร
หนังสือ “Data for the People รู้อะไรไม่สู้รู้ดาต้า” จำนวน 384 หน้าพร้อมวางจำหน่ายแล้วในราคา 395 บาท ตามร้านหนังสือทั่วประเทศ หรือสอบถามผ่านเพจของ Banlue Books ได้