ในงาน “ซีพี ออลล์ กับยุทธศาสตร์การศึกษาไทย 2563” หรือ CP All Education Forum 2020 งานเสวนาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการศึกษา ร่วมพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน ของ บมจ.ซีพี ออลล์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งภาคเอกชนและภาควิชาการต่างได้ร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการปฏิวัติการศึกษา ตลอดจนทัศนะที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการศึกษาไทยในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกแบบก้าวกระโดด
สิทธิศักดิ์ งานรุ่งเรือง ผู้บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังเข้ามามีบทบาทในภาคการศึกษาระดับสูงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เช่น การใช้ AI ในการสำรวจดวงดาวในจักรวาล หากใช้กำลังคนในการนับ ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ AI สามารถสแกนภาพถ่ายดวงดาวบนท้องฟ้า แล้วนับจำนวนดวงดาวเหล่านั้นให้มนุษย์ได้ภายใน 10 วินาที
“เมื่อ AI สามารถทำงานหลายอย่างได้เร็วกว่าเรามาก ภาคการศึกษาของไทย จึงต้องไม่สร้างคนให้เป็นหุ่นยนต์ ทำงานแบบเดียวกับหุ่นยนต์ เพื่อแพ้หุ่นยนต์ แต่เราต้องพัฒนาการศึกษา พัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการต่อยอดหุ่นยนต์ ต่อยอด AI เพื่อให้ AI ทำงานแทนเรา ให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น” สิทธิศักดิ์ ระบุ
ด้านเฟลิกซ์ โก ผู้จัดการโปรแกรมด้านการศึกษา Amazon Web Services (AWS) ผู้พัฒนาและให้บริการระบบ Cloud Computing กล่าวว่า เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญทั้งด้าน Cloud อีกจำนวนมาก ปัจจุบัน บริษัทจึงได้พัฒนาแพลทฟอร์มการศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง Cloud ให้ทั้งสถาบันการศึกษา อาจารย์ และนักเรียน สามารถมาสมัครเรียนบนแพลทฟอร์ม เพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเรื่อง Cloud เดินหน้าบนสายอาชีพเกี่ยวกับ Cloud ได้
“ภาคการศึกษาต้องไม่ยึดติดในขนบธรรมเนียมแบบเดิมๆ ต้องมั่นใจว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ต้องไม่สร้างอะไรที่เหมือนกับวงล้อเดิมๆ ที่เคยมีอยู่แล้ว ต้องรู้จักใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่ โดยอาจทำงานร่วมกับเครื่องมือหรือทรัพยากรที่มีอยู่เดิม เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กรของตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น นำองค์ความรู้จากแหล่งอื่นๆ มาสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน” นายเฟลิกซ์ กล่าว
ด้าน ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้าน Seven-Eleven ในประเทศไทย กล่าวว่าCP All มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ “คน” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบ อาทิ การก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมขึ้นมา 2 แห่ง คือ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ปัญญาภิวัฒน์อีกกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ การมอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนอย่างต่อเนื่องตลอด 15 ปี กว่า 54,000 ทุน เป็นเงินรวมกว่า 5,100 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังได้จัดกิจกรรมที่สนับสนุนให้เยาวชนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคตอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดค่าย Creative AI Camp ค่ายเสริมองค์ความรู้ด้าน AI สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและ ปวช. ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติที่เชี่ยวชาญด้าน AI
ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม Founder & Chairwoman Creative Education For Future Innovation ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาฟินแลนด์ กล่าวว่า ฟินแลนด์ถือเป็นประเทศที่มีการศึกษาชั้นนำระดับโลก เพราะวิธีจัดการเรียนการสอนของเขาให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะ (Skill) มากกว่าเรื่องความรู้แบบท่องจำ (Knowledge) ฟินแลนด์ไม่ได้สอนเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้เด็กจดจำแค่ว่า เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่ฟินแลนด์ฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ เช่น หากเกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จะประกอบอาชีพอะไร เพราะเหตุใด
“ฟินแลนด์อาจจะไม่ได้สอนเรื่องเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นตั้งแต่ระดับชั้นแรกๆ แต่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity ซึ่งเป็นรากฐานที่จะไปต่อยอดสิ่งต่างๆ ขณะนี้ การประเมินผลระดับนานาชาติอย่าง PISA เอง ก็กำลังจัดทำเกณฑ์การประเมินด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์ หรือ Creative Thinking เพื่อนำมาใช้ประเมินในปี 2564 เพราะ PISA เอง ก็มองว่าเรื่องนี้คือทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกแห่งอนาคต เด็กและเยาวชนยุคใหม่ก็อาจจะต้องเสริมแกร่งทักษะแห่งอนาคตเหล่านี้” ผศ.ดร.พิชญ์วดี กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวว่า เทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทในการกำหนดเทรนด์ของโลกในอนาคตอย่างมาก อาทิ เรื่อง Quantum Computing ที่สามารถประมวลผลได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปนับร้อยเท่า เรื่องกระแส Disruption ที่เข้ามามีบทบาททั้งต่อภาคธุรกิจและภาคการศึกษา สิ่งที่ภาคการศึกษาควรเร่งดำเนินการ คือสร้างเด็กให้มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เพื่อให้เด็กสามารถคิดนอกระบบ นอกกรอบเดิมๆ ที่เคยมีอยู่ได้
“ทุกวันนี้ พีไอเอ็มเองก็ให้ความสำคัญกับทั้งเรื่อง Work-based education ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่อง Smart People พัฒนาคนให้มีทั้งความสามารถในการตั้งโจทย์ วิเคราะห์โจทย์ สอดรับกับเรื่อง Critical Thinking เราต้องฝึกให้คนพร้อมเป็นนายของหุ่นยนต์ เป็นนายของ AI แทนที่จะถูก Disrupt ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้กลายเป็น Disruptor ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งอื่นๆ แทน” รศ.ดร.สมภพ กล่าว
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทัศนะระหว่างทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคการศึกษาของประเทศให้พร้อมรับมือโลกในยุคแห่ง Disruption เรื่องราวจากเวที CP ALL Education Forum 2020 จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ในครั้งนี้ อาจกลายเป็นอีกพลังที่ช่วยสนับสนุนนโยบายการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย