ชาวเฟซบุ๊กอย่างเราๆ น่าจะรู้จักเว็บพันธุ์ก็อปตระกูล Za หมาแมวหมีต่างๆ กันดีนะครับ ที่ใช้เทคนิคนำเนื้อหาจากเว็บต่างๆ มาแต่งหัวข้อให้ชวนกด เพื่อเรียกไลค์ เรียกคนชม จนได้ค่าโฆษณาไปมากมาย อันดับในฐานข้อมูลเว็บก็พุ่งแซงหน้าเว็บยักษ์ใหญ่ แต่เว็บเนื้อหาต้นฉบับกลับไม่ได้ผลดีอะไรด้วยเลย ลงทุนทั้งคนทั้งเวลา เพื่อสร้างเนื้อหาของต้นเอง แต่ก็ถูกก็อปไปสร้างรายได้ให้คนอื่น ล่าสุดสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ยื่นฟ้องเว็บชื่อดังอย่าง Ohozaa เรียบร้อยแล้วครับ
บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐออนไลน์และไทยรัฐทีวี) บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (พีพีทีวี) บริษัท เดลินิวส์ เว็บ จำกัด (เดลินิวส์ ออนไลน์) บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด (เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์) และบริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (สำนักข่าวสปริงนิวส์) ได้ยื่นฟ้องบริษัท ทัน สปิริต จำกัด (ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่น Ohozaa TV HD), นายณัฐวุฒิ บำรุงสรณ์ (ผู้ดูแลเว็บไซต์ Ohozaa.com) และกรรมการ กรณีที่ Ohozaa ได้นำเอาข้อมูลบทความ บทวิเคราะห์ งานภาพถ่าย และงานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ไปให้บริการในเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.754/2558 ในข้อหาร่วมกันกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม งานศิลปกรรม งานรวบรวม และงานแพร่เสียงแพร่ภาพ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และใช้ชื่อหรือรูปรอยประดิษฐ์ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลได้กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 28 กันยายน 2558
เว็บอย่าง Ohozaa ก็เหมือนกาฝากที่คอยดูดน้ำเลี้ยงจากต้นฉบับให้แห้งตาย
ประเด็นนี้หลายคนอาจจะเถียงว่าข่าว เป็นงานที่ไม่มีลิขสิทธิ์ตามกฏหมายไทย แต่ประเด็นที่สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ยื่นฟ้องกับ Ohozaa คือลิขสิทธิ์ในบทความ บทวิเคราะห์ งานภาพถ่าย และงานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรือพูดง่ายๆ ก็ภาพหรือวิดีโอประกอบข่าวที่มีลิขสิทธิ์เป็นของผู้ถ่าย ของสำนักข่าวนั้นๆ ซึ่งใครที่ติดตามข่าวลิขสิทธิ์ภาพถ่าย หรือใครที่เคยทำสื่อมาก่อนน่าจะเข้าใจดีว่ารูปภาพทุกใบที่เจ้าของไม่ได้ประกาศว่าเป็นภาพสาธารณสมบัติ หรือเป็น Creative Common ผู้ถ่ายหรือบริษัทเจ้าของ Stock image สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้เสมอ
ในมุมของผู้ใช้ เว็บอย่าง Ohozaa อาจจะเป็นเว็บดีที่รวบรวมเรื่องที่น่าสนใจจากที่ต่างๆ มาให้อ่านกัน แต่ถ้ามองภาพกว้างออกไป ถ้าปล่อยให้เว็บที่เอาแต่ก็อปเนื้อหา ก็อปภาพ แต่ไม่ได้ลงทุนสร้างเนื้อหาเติบโตมากกว่านี้ในเมืองไทย เว็บที่ลงทุนจ้างนักเขียน จ้างนักข่าวลงพื้นที่เพื่อถ่ายภาพ เขียนเนื้อหา จะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อทำออกมาดีเท่าไหร่ ก็ถูกก็อป แทนที่คนจะเข้าเว็บเยอะๆ เพื่อบริษัทที่ลงทุนได้รายได้จากการโฆษณา แต่รายได้กลับไปอยู่ที่คนที่ไม่ได้ลงทุนลงแรงเท่าไหร่เลย
สุดท้ายแล้ว เว็บไทยก็อาจจะเหลือแต่เว็บที่มีเนื้อหาอย่าง Ohozaa ก็เป็นได้ครับ
ที่มา: สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์