จากข่าวดังในโลกโซเซียลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีคนสังเกตว่าดาราหลายคนโพสต์รูปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์หนึ่งด้วยท่าทางจับถือที่ผิดธรรมชาติจากคนทั่วไป เหมือนต้องการเน้นให้รู้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร ล่าสุดตำรวจได้เรียกดาราทั้ง 24 คนที่ปรากฏภาพเข้าพบ พร้อมแจงว่าประชาชนทั่วไปโพสต์รูปขึ้นอินเทอร์เน็ตในลักษณะนี้ก็ผิด ในขณะที่อัยการโต้ว่าต้องดูที่เจตนาผู้โพตส์
ศาสตราจารย์พิเศษ พลตำรวจเอก ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวและให้ความเห็นว่าประชาชนทั่วไปที่โพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอินเทอร์เน็ต ก็เข้าข่ายผิดตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี พ.ศ. 2551 ด้วยเช่นกัน โดยมาตราที่ 32 ของพรบ.นี้กล่าวว่า
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทําได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกฮอล์ หรือลัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร
โทษของการฝ่าฝืนมาตรา 32 คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามคุณยรรยง เดชภิรัตนมงคล อัยการผู้เชี่ยวชาญในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ให้ความเห็นแย้งกับฝั่งตำรวจโดยยกความหมายของคำว่าโฆษณาที่ระบุในพรบ. ฉบับนี้ว่า
การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด
และคำว่า “การสื่อสารการตลาด” กำหนดความหมายว่า
การกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการหรือภาพลักษณ์ การะประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรง
เพราะฉะนั้นคุณยรรยงจึงให้ความเห็นว่าการกระทำความผิดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้โพสต์ หากไม่ได้ทำเพื่อการค้าหรือการสื่อสารการตลาดก็ย่อมไม่ผิด แต่ถ้าหากคน 4 คนไปดื่มเบียร์ แล้วชูขวดที่มีโลโก้ยี่ห้อเบียร์ทั้ง 4 คน และถ่ายรูปเห็นฉลากทุกคนหันไปทางเดียวกันก็อาจเข้าข่ายมีเจตนา และอีกกรณีที่น่าสนใจจากพรบ. ฉบับนี้คือร้านอาหารที่ลงรูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเมนู ถือว่ามีความผิดด้วย และมีคดีจับปรับตัวอย่างแล้ว
สุดท้ายแล้วกฎหมายฉบับนี้ก็เกี่ยวกับชีวิตคนไทยทุกคน ไม่ได้ข้องเกี่ยวเฉพาะกับผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเดียว ที่ต้องประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเองว่าสิ่งที่กำลังโพสต์นั้นสามารถมองว่าเป็นการโฆษณาได้หรือไม่