“#ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” แคมเปญเปิดพื้นที่สำหรับคน GEN Z ร่วมระดมสมอง-ออกแบบ “ข้อปฏิบัติร่วมเพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่” ผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับการออกแบบในรูปแบบ JAM Ideation ต้อนรับเยาวชนให้เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเข้มข้นต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ชั่วโมง เริ่มเปิดแจมตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน เวลา 20.00 น. ถึงวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 20.00 น.
ข้อเสนอแนะทั้งหลายจากเยาวชนจะเป็นแก่นตั้งต้นของการแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างเข้มข้นผ่านการพูดคุยในคอมมูนิตี้บนโซเชียลมีเดียระหว่างคนทุกเพศวัยในระหว่างวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม พร้อมนำข้อสรุปชงหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่ห่วงใยในประเด็นไซเบอร์บูลลี่ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติในสังคม และกฎหมายเทียบเท่านานาชาติ ปักหมุดความก้าวหน้าเชิงนโยบายรับวันต่อต้านการกลั่นแกล้งออนไลน์สากล 2564 (Stop-Cyberbullying Day)
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “จากกลยุทธ์ของดีแทคต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business) ภายใต้โครงการ dtac Safe Internet ซึ่งกรอบการดำเนินงานที่สำคัญประการหนึ่งคือ การร่วมเสนอทางออกในการแก้ปัญหาหรือลดความรุนแรงจากภัยออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย (Policy drive) ภายใต้การดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 7 นี้ ดีแทคเล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่างและพัฒนาหลักปฏิบัติและมาตรฐานการกำกับดูแลปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าโซเชียลมีเดียประกอบไปด้วยข้อความที่สร้างความเกลียดชัง 39 ข้อความต่อนาที พบการเกิดขึ้นของปัญหาในสถานศึกษามากที่สุด และเพื่อนมักเป็นผู้กระทำการกลั่นแกล้งรังแก”
ทั้งนี้ ดีแทคเชื่อว่าหลักปฏิบัติหรือมาตรฐานการกำกับดูแลนั้นควรได้รับการร่างและพัฒนาจากประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงจรแห่งการบูลลี่อย่างแท้จริง โดยเน้นไปที่กลุ่มนักเรียน เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ร่างโดยเยาวชนเพื่อเยาวชนด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงได้ร่วมกับหน่วยงานการศึกษา ภาคสังคมที่ใช้เทคโนโลยีในการสร้างการมีส่วนร่วมของมวลชนออกแบบแพลตฟอร์มและกระบวนการจัดระดมสมองและพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น โดยอาศัยแนวคิด Design Thinking ผสานกับเทคโนโลยี Crowdsourcing เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด
กว่าจะมาเป็นพื้นที่ JAM Ideation เพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่
โครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
- Domain setting หรือการทำวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลตั้งต้นจากเยาวชนและงานวิจัยต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นกรอบการระดมความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม
- การระดมความเห็นบนแพลตฟอร์มที่เริ่มเปิดตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนนี้ และ
- การสรุปความคิดเห็น เพื่อพัฒนาเป็นแนวปฏิบัติในการหยุดปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์
“การระดมความคิดเห็นขนาดใหญ่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือ Jam ideation เป็นกระบวนการระดมความคิดเห็นในระยะเวลาที่จำกัด ให้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมและเป็นกลางต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง วิธีการนี้จะต่างจากการระดมความเห็นในรูปแบบเดิมที่มีข้อจำกัดเชิงปริมาณและอคติที่เกิดจากสภาพแวดล้อม ซึ่งนี่ถือเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาสังคม สะท้อนความต้องการและแก้ไขปัญหาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางอรอุมากล่าว
ภายหลังการระดมความคิดเห็น ดีแทคและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยจะร่วมสรุปประเด็นและแนวทางยื่นต่อหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดเป็นกฎหมายในลำดับถัดไป เช่นเดียวกับนานาชาติ เช่น อังกฤษ สวีเดน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
3 ข้อสังเกตสู่การระดมความเห็น
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ศึกษางานวิจัย กล่าวว่า “จากการวิจัยในขั้นตอนแรกเพื่อพัฒนาสู่แพลตฟอร์มระดมความคิดเห็น พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 ประการ ได้แก่
- การให้คำนิยาม (Definition) พบว่า อายุ และประสบการณ์มีผลต่อความเข้าใจความหมายของปัญหากลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์
- การลำดับความสำคัญ (Prioritizing) พบว่า เหตุของการแกล้งกันบนออนไลน์เกิดจากในชีวิตจริงก่อน โดยผู้ถูกกลั่นแกล้งมักด้อยค่าตัวเองเพราะความแตกต่างจากผู้อื่น นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคคลที่สาม (Bystander) ได้ นักสืบ นักแชร์ มีความสำคัญต่อวงจรการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ทั้งยังไม่ถูกเอาผิดโดยตรงจากสังคม
- การแก้ไข (Solving) พบว่า การจัดการความรู้สึกต่อการถูกบูลลี่ทางออนไลน์ “ยากกว่า” การจัดการในชีวิตจริง และผู้ถูกกลั่นแกล้งมักเลือกแก้ไขหรือจัดการความรู้สึกด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลว่าการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้นพบเจอได้ในชีวิตประจำวันและไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น
การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ควรเป็นปัญหาสังคมที่ควรได้รับความสนใจมากขึ้น แคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา จะเปิดรับความคิดเห็นข้อเสนอแนะทางออก เพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่ใน 3 ประเด็นที่วัยรุ่นไทยเผชิญอยู่มากที่สุดคือ การเหยียดรูปร่างหน้าตา (Body Shaming) การเหมารวมและอคติทางเพศ (Gender Inequality) และ การกล่าวล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) ดังนั้น การปลูกฝังและสร้างความเข้าใจเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมไปถึงการนิยามขอบเขตเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันของสังคม จากข้อสังเกต 3 ประการดังกล่าว จึงได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกรอบการระดมความคิดเห็นความแพลตฟอร์ม Jam Ideation ต่อไป”
นางสาวธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง พั้นช์อัพ สตูดิโอ กล่าวว่า แพลตฟอร์ม Jam ideation ถือเป็น Collaborative technology ที่เข้ามาช่วยทำให้การระดมความเห็นขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าคิด กล้าแสดงออก และเชื่อว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม
ทั้งนี้ ขอเชิญน้อง ๆ เยาวชน หน่วยงานและองค์กรที่มีความสนใจในการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ร่วมระดมความเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน เวลา 20.00 น. ถึงวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 20.00 น. ได้ที่ www.safeinternetlab.com/brave
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส