22 ธันวาคม 2558 : นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลังจากการประมูลคลื่น 900 MHz สิ้นสุดลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และ AWN ในเครือเอไอเอสเป็นผู้เข้าประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ด้วย ได้ตัดสินใจไม่ประมูลต่อ จึงทำให้ไม่ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า มูลค่าดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจและไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทและผู้ถือหุ้น ประกอบกับการมองถึงประโยชน์จากการได้มาซึ่งคลื่นความถี่เพิ่มเติม เทียบกับความคุ้มค่าเชิงการเงิน ที่พิจารณาทั้งความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคและในเชิงธุรกิจ รวมถึงการพิจารณาความเพียงพอของคลื่นความถี่ในการให้บริการต่อเนื่อง การตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังคงใช้มือถือ 2G อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการคงความแข็งแรงด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนโอกาสในการลงทุนอื่นๆ ในอนาคต”
“ในฐานะผู้ให้บริการที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด สิ่งที่เรายึดเป็นหัวใจหลักคือ “คุณภาพที่เป็นเลิศ” ในทุกด้าน เพื่อมอบประสบการณ์การใช้บริการสื่อสารหรือดิจิทัลที่ดีที่สุดให้แก่ คนไทย รวมไปถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆให้แก่พันธมิตร ดังนั้นวันนี้แม้ AWN จะตัดสินใจไม่ประมูลคลื่น 900 MHz ต่อ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เราก็ยังคงมีทรัพยากรความถี่ ที่เพียงพอในการให้พัฒนาเครือข่ายให้มีคุณภาพ ประกอบด้วย ความถี่ย่าน 2100MHz จำนวน 15MHz ซึ่งปัจจุบันสามารถให้บริการ 3G ได้ทั่วประเทศ มีโครงข่ายครอบคลุมกว่า 98% ของประชากรทั้งหมด โดยยังมีอายุการใช้งานไปอีก 12 ปี รวมถึงการได้มาซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 15MHz เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งจะเปิดให้บริการ 4G ภายในเดือนมกราคม 2559 และมีอายุการใช้งาน 18 ปี อีกทั้งล่าสุดยังได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการนำคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz เข้ามาร่วมให้บริการ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะทำให้ทีโอทีแข็งแกร่งและมีรายได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จะส่งผลทำให้คุณภาพเครือข่ายโดยรวมของเอไอเอสมีความเสถียรและตอบโจทย์การใช้งาน Mobile Internet ยุค 4G สำหรับผู้บริโภคอย่างแน่นอนเช่นกัน”
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนั้นการตัดสินใจไม่ประมูลคลื่น 900 MHz ต่อนั้น จะทำให้เรายังคงมีความแข็งแกร่งด้านการเงินและมีกำลังในการพัฒนาคุณภาพพร้อมกับการดูแลลูกค้าอย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงข่าย 4G, การขยายโครงข่าย 3G ต่อเนื่อง, การขยายเอไอเอส ไฟเบอร์ รวมไปถึงการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ การพัฒนางานด้านบริการลูกค้า การสร้างสรรค์บริการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และบริการที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัล อันจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่งอย่างชัดเจน”
โดย นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีลูกค้าเอไอเอสที่ใช้งานระบบ 2G บนคลื่นความถี่ 900 MHz เหลืออยู่ในจำนวนต่ำกว่า1 ล้านเลขหมาย (และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง) ซึ่งบริษัทได้มีแผนดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบจากผลการประมูลในครั้งนี้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในส่วนของลูกค้า AWN ที่ปัจจุบันยังคงใช้มือถือ 2G และ ใช้บริการโรมมิ่งมายังโครงข่าย 900MHz ซึ่งขณะนี้ยังคงมีอีกประมาณ 11 ล้านเลขหมาย บริษัทจึงเดินหน้าแผนงานที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากลุ่มนี้ย้ายไปใช้บริการบนระบบ 3G หรือ 4G ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้แผนการตลาดดังกล่าวจะพิจารณาแบ่งตามพฤติกรรมและค่าใช้จ่ายในการใช้โทรศัพท์ โดยผ่านช่องทางที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่ม และจะมีการนำเสนอโปรโมชั่นค่าโทรและการแลกเครื่องเก่าจาก 2G เป็นเครื่องใหม่ 3G/4G ทั้งนี้ บริษัทจะมีการพิจารณาการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อบรรลุตามเป้าหมายนี้ ปัจจัยสำคัญคือการทำการตลาดแลกเครื่องโทรศัพท์เก่ามาเป็น เอไอเอส ลาวา ซึ่งเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนราคาประหยัดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับความนิยมจากลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ในปี 2557
โดย นายสมชัย ได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า “บทพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของเอไอเอสคือ ตลอดระยะเวลา 25 ปีของการให้บริการ เราอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปริมาณคลื่นความถี่ที่น้อยกว่าทุกค่าย รวมไปถึงความกดดันจากปัจจัยทางสังคม ซึ่งเราสามารถก้าวผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ในฐานะเบอร์ 1 ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมองค์กร ที่บุคลากรกว่าหมื่นชีวิตต่างหลอมรวมเป้าหมายร่วมกันเป็น 1 เดียวคือ ความสุขและความสะดวกสบายในการใช้ระบบสื่อสารของลูกค้าทุกกลุ่ม ดังนั้นเส้นทางจากนี้ของเราในอนาคตจึงเป็นเป้าหมายที่จะส่งมอบโลกดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบให้คนไทยจากวันนี้และตลอดไป”