ทีมงานเว็บแบไต๋ได้ร่วมงาน 2016 LINE Beyond Chat เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยงานนี้ถือเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรกของปี 2016 ว่าในมุมมองของ LINE แล้วมองสิ่งที่ตัวเองเป็นและกำลังจะเป็นต่อไปอย่างไรบ้าง ซึ่งเราขอสรุปจากสิ่งคุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทยเล่าให้ฟังดังนี้

4 เทรนด์ที่กำลังมาแรงในไทย

  1. Mobile first country โดยเฉพาะการประมูล 4G ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเติบโตก้าวกระโดด คาดว่าจาก 40 ล้านเลขหมาย เป็น 50 ล้านเลขหมายภายในปี 2560
  2. จอมือถือกลายเป็นจอทีวี เพราะคนดูเนื้อหาจากทีวีมากกว่า 80% มาจากมือถือ (ชมย้อนหลังทางออนไลน์)
  3. E-commerce กำลังจะเปลี่ยนเป็น m-commerce (Mobile) เพราะตอนนี้คนเข้าร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่มาจากมือถือมากกว่า 60% ส่วน Social Commerce คือการสื่อสารก่อนจะสื่อขาย เช่นไล่ไปตามโซเซียลแล้วแซตกันก่อนจะซื้อ ซึ่งคาดการว่าอัตราการเติบโตของ mobile banking จะอยู่ที่ 33% ในปีนี้
  4. อนาคตของแอปจะเป็น Apps in app และ O2O service (online to offline) อย่างในอินโดนีเซีย ไลน์ร่วมกับ Go-Jek บริการเรียกรถชื่อดังของอินโด ทำให้แอปของ Go-Jek ไปฝังในไลน์ได้ แล้วเรียกรถจากไลน์ได้เลย

R0070726

จากเทรนด์ที่คาดการณ์ สู่จุดที่มีปัญหาและทางออกจากไลน์

เมื่อมองจากเทรนด์ที่ผู้ใช้ในไทยกำลังเป็น คุณอริยะจึงกลับมาเล่า Pain Point ที่กำลังเกิดตอนนี้ และ LINE มีทางแก้ไขปัญหา 3 จุดนี้อย่างไร

ปัญหาแรก App Overload

คือแอปเยอะเกินไป เฉลี่ยคนโหลด 39 แอป แล้วใช้เป็นประจำแค่ 17 แอป แต่แอปมีให้เลือกโหลดเป็นล้านๆ ตัวใน store สุดท้ายคนเลยไม่โหลดแอปใหม่แล้ว ทำให้บริการต่างๆ เติบโตได้ยากขึ้น ไลน์จึงขยายบริการในลักษณะ App in App ที่เป็นส่วนเสริมของแอปหลัก (หรืออาจใช้แอปหลักเพื่อโปรโมตแอปรองให้เข้าไปโหลดกัน) อย่างที่เราได้เห็นจาก LINE Pay, LINE Gift Shop, LINE Call ที่เป็นเหมือนแอปย่อยๆ อยู่ภายใน LINE ตัวหลัก

ซึ่งสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่เหมาะสำหรับคนไทยโดยทีมงานคนไทย ก็น่าจะได้เห็นเร็วๆ นี้ และยังร่วมหนุน startup เพื่อนำบริการใหม่ๆ ให้คนทั่วไปใช้ ซึ่งอาจจะเป็นบริการแบบ O2O ที่ใช้งานออนไลน์เพื่อให้ได้ผลออฟไลน์หรือผลในโลกจริงก็เป็นได้

ปัญหาที่ 2 โลกดิจิทัลแตกต่างกันมากเกินไป (fragmented)

ปัญหานี้ทำให้ผู้ใช้หรือแบรนด์วุ่นวายเกินไป เช่นมีแพลทฟอร์มหลากหลายเกินไปจนต้องลงทุนเพื่อดึงคนมาใช้ในแพลทฟอร์มต่างๆ มากมาย LINE จึงพัฒนาบริการต่างๆ ให้ครบรอบด้านจบในแอป LINE อย่าง Official Account จะสามารถเลือกกลุ่มลูกค้า เลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสารได้ แล้วยังเปิด business connect เพื่อให้แบรนด์สามารถเชื่อมระบบหลังบ้านของแบรนด์กับ LINE ได้ เช่นสามารถโอนเงินกับธนาคารผ่าน Official account ได้เลย หรือบริการจ่ายเงินซื้อของใน Official Account ที่ขายผ่าน LINE ได้เลย ไม่ต้องเด้งไปเปิดซื้อขายในแอปอื่น

ปัญหาที่ 3 ผู้ประกอบการรายเล็กยังคงอยู่ในโลกออฟไลน์

ในไทยมี SME ราว 28 ล้านราย แต่ค้าขายออนไลน์เพียง 5 แสนรายเท่านั้น เพราะโลกดิจิทัลนั้นวุ่นวายเกินไปสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ทั้งต้องเรียนรู้เยอะและใช้ยาก ไลน์จึงขออาสาเข้าไปช่วยโดยบริการ LINE@ ที่เหมือนทำ Official account แต่เป็นสำหรับรายเล็ก ที่ทำให้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่กำหนดได้ (อนาคต LINE@ จะเริ่มเก็บเงินราวๆ เดือนเมษายน) ผู้ใช้สามารถทำกิจกรรมทางตลาดอย่างสามารถส่งโปรโมชั่น ส่งคูปองได้ง่ายๆ

สรุปงานวันนี้ไม่ได้ประกาศอะไรใหม่ แต่เคลียร์ภาพให้ชัดขึ้น

ทิศทางการพัฒนาของ LINE นั้นชัดเจนมาตั้งแต่ 1-2 ปีก่อนแล้วเมื่อประกาศแผน LINE LIFE และเริ่มทำบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่การประกาศในงานวันนี้เป็นเหมือนการสรุปภาพรวมสิ่งที่ LINE ประเทศไทยกำลังทำเพื่อให้เข้าสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดจับประเด็นสำคัญได้คือ

LINE ต้องการเป็นแพลทฟอร์มหลักในการใช้ชีวิตดิจิทัลของคนไทย

ภาพนี้ LINE มีโอกาสที่จะทำให้เกิดในเมืองไทยได้เพราะ LINE สามารถครองผู้ใช้ในไทยได้มาก จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในไทย 40 ล้านคน เป็นผู้ใช้ LINE ไปแล้ว 33 ล้านคน (ตัวเลขเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งงานนี้ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขล่าสุดออกมา) แถมเฉลี่ยแล้วใช้วันละประมาณ 84 นาที ซึ่งถ้าหากต่อจิกซอว์บริการของ LINE จะได้ภาพดังนี้

  • LINE Chat เป็นแกนกลางให้บริการทุกตัวมาเกาะ
  • LINE Official Account ใช้ Chat เป็นฐาน เปิดประตูให้แบรนด์ต่างๆ มีเครื่องมือในการเข้าถึงลูกค้า
    • LINE Business Connect ส่วนเสริมต่อจาก Official Account ทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการหรือสื่อสารกับแบรนด์ในรูปแบบอื่นๆ เช่นที่อินโดเรียกรถจากในแอป LINE ได้แล้ว
    • Sticker สนับสนุนให้คนใช้งาน Official Account มากขึ้น
    • LINE@ บริการแบบ Official Account สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย
  • LINE Pay เชื่อมต่อการเงินดิจิทัลให้ใช้ง่ายขึ้น ทั้งใช้ออนไลน์และโลกจริง ซึ่งรองรับการโอนเงินไปเก็บในกระเป๋าเงินแล้ว ตอนนี้มีผู้ใช้ราว 1.5 ล้านคน และการกระตุ้นให้คนโอนเงินให้กันในช่วงตรุษจีนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของบัญชีมากกว่า 8 ล้านครั้ง
    • LINE Gift Shop นำความสามารถในการสื่อสารของ LINE มาร่วมกับ LINE Pay ในการส่งของขวัญให้คนอื่น
  • LINE TV คัดเนื้อหาที่น่าสนใจมานำเสนอ โดยร่วมมือกับผู้ผลิตเนื้อหาเพื่อทำรายการเฉพาะใน LINE TV ซึ่งคนไทยชอบดู TV มาก
  • LINE Game แหล่งรายได้สำคัญของ LINE จากการเติมเงินเล่นเกม

ในอนาคตบริการของ LINE ก็จะขยายออกไปรองรับไลฟ์สไตล์ของคนที่ใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ LINE ก็ยังไม่มีคู่แข่งโดยตรงในไทยที่ให้บริการแพลทฟอร์มครอบคลุมการใช้ชีวิตขนาดนี้

R0070709