พาทุกคนไปทำความรู้จักกับแอป ‘ทางรัฐ’ แอปที่สามารถทำได้ทั้ง รู้ ยื่น จ่าย รับ ติดต่อรัฐได้ผ่านแอปพลิเคชันเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการสำคัญภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 รวมถึงความคืบหน้าอื่น ๆ และแผนที่จะทำต่อไปในอนาคต

แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ที่จริงแล้วเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูล บริการด้านสวัสดิการจากทางภาครัฐไว้อย่างครบวงจรภายในแอปฯเดียว ปัจจุบันมีบริการให้เลือกใช้งานถึง 45 บริการ จาก 29 หน่วยงาน และ 14 บริการด้านสวัสดิการ ซึ่งทำให้แอปฯนี้เป็นเหมือน One-Stop Service สำหรับบริการจากทางภาครัฐเลยทีเดียว

บริการหลัก ๆ ที่ตอนนี้สามารถใช้งานได้แล้วยกตัวอย่างเช่น การตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลได้ผ่านทะเบียนราษฎร์, หนังสือรับรองผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET), ตรวจสอบสิทธิ์รักษาพยาบาลทั้งของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และของประกันสังคม, รวมถึงเช็กค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าไฟ และค่าน้ำได้อีกด้วย วิธีการเริ่มใช้งานก็ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ค้นหาใน App Store และ Google Play Store ค้นหาว่า ‘ทางรัฐ’ และสามารถดาวน์โหลดมาลองใช้ได้เลย !

รู้หรือไม่ว่า แอปพลิเคชันนี้กำลังจะมีฟีเจอร์ใหม่ที่จะช่วยให้การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ทำได้ง่ายขึ้นด้วยนะ โดยในวันนี้ (4 กุมภาพันธ์) ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้จัดงานแถลงข่าว DGAxJournalist “Be our Guest” ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power โดยนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า แอปพลิเคชันนี้เป็นหนึ่งในความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการสำคัญภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 โดยตอนนี้เรากำลังวางแผนที่จะพัฒนา ต่อยอด เพิ่มบริการสำหรับคนช่วงวัยอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะได้ใช้ในปี 2565 อีกด้วย ดังนี้

  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
  • เบี้ยผู้พิการ
  • ใบสั่งจราจร (ให้ข้อมูลใบสั่ง, เพิ่มความสะดวกในการจ่ายค่าปรับ) และไม่ต้องเก็บใบสั่งแบบกระดาษอีกด้วย
  • ใบขับขี่ (ข้อมูล, แจ้งเตือนใบขับขี่ ใกล้/หมดอายุ)
  • ทะเบียนรถ (ข้อมูล, แจ้งเตือนภาษีทะเบียนรถใกล้/หมดอายุ)

ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้มีการวิจัยมาแล้วว่า ข้อมูลไหนบ้างเป็นข้อมูลที่คนไทยส่วนใหญ่จะได้ใช้ และเขาต้องการ ทางเราเลยเลือกบริการที่พร้อมจะทำเป็นดิจิทัล และได้นำมาเชื่อมโยงในแอปพลิเคชันเดียว

นายสุพจน์ กล่าวอธิบายถึงแอปพลิเคชันนี้ว่า เวลาประชาชนที่แค่ต้องการข้อมูลบางอย่าง ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางมาขอเอกสารจากทางรัฐแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ ถ้าต้องการข้อมูลจากหลายหน่วยงานก็ต้องเดินทางไปหลายแห่งอีก ซึ่งตอนนี้ก็ทำสำเร็จออกมาแล้วเป็นแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘ทางรัฐ’ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นทางลัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

นายสุพจน์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันแอปพลิเคชันนี้มีบริการให้ใช้งานแล้วกว่า 45 บริการ จากความร่วมมือของหน่วยงานกว่า 29 หน่วยงาน และ 14 บริการด้านสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งมีผู้ใช้งานตอนนี้แล้วกว่า 1,134,842 คน

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

แอปทางรัฐ เป็นเพียง 1 ในโครงการที่ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้ทำเท่านั้น !

ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ เป็นเพียง 1 ในโครงการที่ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้ทำตาม แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ ยังมียุทธศาสตร์อื่น ๆ ที่ทางสำนักงานได้ทำแล้วเสร็จอีกจำนวนมาก อย่างเช่น โครงการจัดทําเอกสารสําคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) เพื่อให้ทางหน่วยงานต่าง ๆ สามารถดึงข้อมูลการศึกษาของแต่ละบุคคลได้แบบออนไลน์ โดยไม่ต้องทำเรื่องขอข้อมูล ออกเอกสารเป็นกระดาษเลยแม้แต่น้อย ซึ่งลดการใช้เอกสารที่ทำจากกระดาษ ลดค่าใช้จ่าย จากทางภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ถึง 378,735,024 บาท/ปี ได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาแล้วกว่า 39 แห่ง

ในยุทธศาสตร์ที่ 2 อํานวยความสะดวกภาคธุรกิจไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ก็มีการพัฒนาระบบ Biz Portal ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสํานักงาน กพร. หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เปิดให้บริการยื่นใบอนุญาตออนไลน์แบบ One Stop Services ได้ 25 ประเภทธุรกิจ ครอบคลุม 78 ใบอนุญาต โดยมี ผู้ประกอบการใช้แล้วในปี 2565 จํานวน 597 ราย หรือ 1,119 คําขออนุญาต

ทั้งนี้ ยังมีอีก 2 ยุทธศาสตร์ อย่าง ผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ในทุกกระบวนการทํางานของภาครัฐ และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ที่ได้ทำเสร็จสิ้นไปแล้วอีกหลายโครงการ

ในงานนี้ ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลก็ได้พูดถึง แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งได้แจกแจงว่าได้ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ โดยในปี 2564 ได้ใช้งบประมาณไป 1,903 ล้านบาท และปี 2565 ได้ใช้งบประมาณไป 2,409 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 กำลังจัดทำอยู่ตามที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ อยู่ที่ 5,206 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมีการปรับลดลงต่อไป รวมถึงได้เผยร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 อีกด้วย

แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล และงบประมาณที่ใช้ไป

นายสุพจน์กล่าวถึงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ว่า ในช่วง 5 ปีที่จะถึงนี้ เราจะพยายามพัฒนาให้รัฐบาล เป็น Data Driven Government หรือรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งเป็นขั้นที่ 3 ของการพัฒนารัฐบาล มีการนำข้อมูลมาใช้อย่างเต็มที่ แล้วก็บริการต้องมีความต่อเนื่องกัน รวมถึงเพิ่มกรอบการพัฒนาอีก 4 ด้าน คือสิ่งแวดล้อม แรงงาน การท่องเที่ยว และกระบวนการยุติธรรม

“สุดท้ายแล้ว ประโยชน์ที่เราคาดหวังก็คือประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง มีบริการที่ให้ได้เป็นรายบุคคล ทุกช่วงวัย ในภาคธุรกิจก็มีข้อมูลที่เอาไปใช้งานได้ สามารถจดแจ้งทำธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก สังคมมีส่วนร่วม สามารถร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ได้ และภาครัฐก็ต้องมีทักษะที่จะทำงานต่าง ๆ และบูรณาการข้อมูลกันได้จริง” นายสุพจน์กล่าว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส