สตาร์ลิงก์ (Starlink) หน่วยงานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้เปิดตัวจานดาวเทียมแบบทนทานพร้อมบริการ Starlink Maritime อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูงสำหรับเรือเดินทะเล เรือบรรทุกสินค้าและเรือยอตช์ ที่ให้ความเร็วสูงสุดถึง 350 Mbps ด้วยชุดอุปกรณ์จานรับสัญญาณที่ต้องจ่ายล่วงหน้า 10,000 เหรียญ (358,520 บาท) และค่าบริการรายเดือน 5,000 เหรียญ (179,260 บาท) หลังจากที่ กสทช. สหรัฐฯ (FCC) อนุมัติเปิดทางแก่สเปซเอ็กซ์ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสำหรับยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เน็ตเรือ Starlink Maritime มีค่าชุดจานรับสัญญาณที่แพงกว่าของเน็ตบ้านและเน็ตรถแคมปิงที่ราคา 599 เหรียญ (21,475 บาท) ส่วนค่าบริการก็แพงกว่าเช่นกัน ซึ่งเน็ตบ้านต้องจ่ายรายเดือนที่ 110 เหรียญ (3,943 บาท) และเน็ตรถแคมปิงต้องจ่ายรายเดือนที่ 135 เหรียญ (4,840 บาท) แต่จะเหมือนกับเน็ตรถแคมปิงตรงที่ลูกค้าสามารถแจ้งขอหยุดใช้บริการชั่วคราวในช่วงที่ไม่ออกเดินทางหรือล่องเรือได้ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเฉพาะเดือนนั้น (คิดเต็มเดือน) นอกจากนี้เน็ตเรือมีความหน่วงแฝงที่ <99ms เมื่อเทียบกับเน็ตบ้านและเน็ตรถแคมปิงที่ 20 – 40 ms
อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์เผยบนทวิตเตอร์ว่าเสาอากาศของ Starlink Maritime แตกต่างจากของเน็ตบ้านตรงที่มีจานรับสัญญาณประสิทธิภาพสูง 2 ใบด้วยกัน ซึ่งสามารถรักษาการเชื่อมต่อในทะเลที่คลื่นลมแรงและพายุรุนแรงได้ รวมทั้งทนทานต่อละอองน้ำทะเลที่เค็ม ซึ่งราคาก็เหมาะสมกับบริการระดับพรีเมียม แต่ถูกกว่าและเร็วกว่าเน็ตของค่ายอื่น พร้อมย้ำว่าสเปซเอ็กซ์เคยใช้เน็ตบนเรือของค่ายอื่นที่การเชื่อมต่อแย่กว่าและจ่ายรายเดือนแพงกว่าในราคาที่ 150,000 เหรียญ (5,377,800 บาท)
นอกจากนี้สเปซเอ็กซ์ได้โพสต์ขยี้ลงบนอินสตาแกรมด้วยการเปรียบเทียบภาพวิดีโอที่ถ่ายทอดสดบนเรือโดรนในการกลับมาลงจอดของบูสเตอร์ ซึ่งด้านขวาเป็นภาพวิดีโอที่ถ่ายโดยใช้เน็ตเรือ Starlink Maritime ส่วนด้านซ้ายก็คือเน็ตดาวเทียมของค่ายอื่น
บนหน้าเว็บ Starlink Maritime ประชาสัมพันธ์ว่าเป็นบริการการเชื่อมต่อบนทะเลทั่วโลก ตั้งแต่เรือเดินทะเล แท่นขุดเจาะน้ำมัน ไปจนถึงเรือยอชต์ระดับพรีเมียม ซึ่งช่วยให้สามารถเชื่อมต่อจากน่านน้ำที่ห่างไกลที่สุดในโลกได้ เช่นเดียวกับในสำนักงานหรือที่บ้าน แต่เท่าที่เห็นตอนนี้พื้นที่ให้บริการยังจำกัดอยู่ที่น่านน้ำชายฝั่งของสหรัฐฯ (ไม่รวมอะแลสกา) ยุโรป (ยกเว้นส่วนใหญ่ของนอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์) ออสเตรเลีย บราซิล ชิลี และพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทั้งนี้จะขยายการเชื่อมต่อเพิ่มเติมในไตรมาส 4 ของปี 2022 และในปีหน้า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส