การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธ ที่ 2 (Queen Elizabeth II) เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ขณะมีพระชนมายุ 96 พรรษา ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ไม่ใช่เฉพาะในสหราชอาณาจักร และประเทศสมาชิกเครือจักรภพ 56 ประเทศเท่านั้น แต่ยังถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของโลกด้วย

สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ถือเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ครั้งสำคัญทั่วโลก และเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ให้ก้าวสู่โลกสมัยใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการบุกเบิกสถาบันกษัตริย์เข้าไปสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่

ในปี 1976 พระองค์ถือหนึ่งในบุคคลกลุ่มแรก ๆ ในโลก (และเป็นประมุขของรัฐคนแรก) ที่ใช้อีเมลในการสื่อสารภายใต้ชื่อผู้ใช้ HME2 ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมชมการพัฒนา ARPANET ระบบบรรพบุรุษของอินเทอร์เน็ต โดย Royal Signals and Radar Establishment 

ซึ่งแม้พระองค์จะไม่ได้เป็นผู้เขียนอีเมลด้วยตัวเอง แต่ก็ถือเป็นนาทีประวัติศาสตร์ทั้งของราชวงศ์และของโลกอีกด้วย

ในปี 1997 พระองค์ยังทรงมีดำริให้เปิดเว็บไซต์ของพระราชวงศ์ในชื่อโดเมน royal.uk ก่อนที่แม้แต่สำนักข่าวรายใหญ่ ๆ หลายแห่งในสหราชอาณาจักรจะมีเว็บไซต์ซะอีก

ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังไม่ทรงปฏิเสธที่จะเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดีย ที่ต่อมาจะกลายเป็นช่องทางหลักที่ใช้ราชวงศ์อังกฤษจะใช้ในการสื่อสารกับพสกนิกร เป็นการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลครั้งใหญ่

ช่อง YouTube ของราชวงศ์ถือกำหนดขึ้นมาในปี 2007 หลังจากที่แพลตฟอร์มวีดิโอรายใหญ่ที่สุดในโลกรายนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเพียง 2 ปีเท่านั้น คลิปแรกที่เผยแพร่เป็นคลิปการถ่ายทอดคำแถลงของพระองค์ในโอกาสคริสต์มาสเมื่อปี 1957

พระองค์ทวีตข้อความส่วนพระองค์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2014 โดยใช้บัญชี @RoyalFamily

“เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเปิดงานแสดง Information Age ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Science Museum) และข้าพเจ้าหวังว่าประชาชนจะมีความสุขเมื่อได้มาเยี่ยมชม (ลงชื่อ Elizabeth R.)” ทวีตของพระองค์ระบุ

ต่อมาในปี 2019 พระองค์ยังได้ใช้ Instagram ในการสื่อสารกับประชาชนเป็นครั้งแรกด้วยบัญชี theroyalfamily

แม้แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พระองค์ก็ยังไม่วายเรียนรู้ช่องทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยได้ทรงทดลองใช้ Zoom ในการประชุมออนไลน์ เนื่องจากไม่สามารถเสด็จออกไปมีพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เองได้

นอกจากความรวดเร็วในการโอบรับโซเชียลมีเดียแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ยังก้าวข้ามความเป็นราชินีของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ไปเป็นราชินีแห่งมีมบนโลกออนไลน์ด้วย

พระราชอารมณ์ขันและความรักสัตว์ของพระองค์ช่วยเสริมความใกล้ชิดกับผู้คนทั่วโลกได้ไม่ยากนัก เนื่องจากทรงเข้าใจวิธีการเล่นกับสาธารณชน

อิดิล กัลลิป (Idil Galip) ผู้เชี่ยวชาญด้านมีมแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ชี้ว่าคุณสมบัติที่ทำให้พระองค์กลายเป็นมีมได้อย่างยอดเยี่ยมคือการผสมผสานระหว่างบทบาทการเป็นกษัตริย์ที่มีความจริงจังเข้ากับอารมณ์ขันแบบที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง

“เหมือนเวลาคุณอยู่ในโรงเรียน แล้วครูที่ปกติดูเคร่งขรึมจู่ ๆ ก็เล่นมุกตลกที่ไม่มีใครคาดคิด มันทำให้คนอื่นประหลาดใจที่พวกเขามีนิสัยแบบนี้” กัลลิประบุ

นอกจากนี้ พระองค์ยังไม่ถือพระองค์และพร้อมที่จะเอาตัวเองไปเล่นเป็นมุกตลก ผ่านการการล้อเลียนบทบาทในฐานะองค์ประมุขของพระองค์เอง ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจในมุมมองที่ประชาชนมีต่อพระองค์ โดยจะเห็นได้จากการพระองค์ทำท่าทำทางตื่นตกใจที่ได้เห็นวัวในงานพระราชสมภพครบ 90 พรรษาในปี 2016 หรือการทรงใช้พระแสงดาบสุดอลังการในการตัดเค้ก

บทบาทสำคัญที่ทำให้พระองค์ใกล้ชิดกับประชาชนทั่วโลกคงไม่พ้นการเข้าร่วมแสดงกับ แดเนียล เครก (Daniel Craig) นักแสดงผู้รับบทสายลับ James Bond ในคลิปที่ฉายในพิธีเปิดของโอลิมปิก 2012 ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร รวมถึงยังมีฉากที่พระองค์ (โดยใช้ตัวแสดงแทน) ในการกระโดดร่มลงมายังโอลิมปิกสเตเดียมด้วย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมทั้งในสนามและทางบ้านอย่างมาก

กัลลิปย้ำว่าการที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปนี่แหละที่ทำให้ประชาชนทั่วโลกรัก

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พระองค์ครองตำแหน่งราชินีแห่งมีมได้อย่างต่อเนื่องก็คือความสามารถในการปรับตัวและช่วงชีวิตที่ยืนยาว

ผู้ช่วยศาตราจารย์ เจสส์ แมดด็อกซ์ (Jess Maddox) ผู้เชื่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การสื่อสารและสารสนเทศ แห่งมหาวิทยาลัยแอละแบมา ในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต ระบุว่าที่มีมเป็นที่นิยมได้ก็เพราะการแสดงถึงประสบการณ์ที่คนทั่วไปมีร่วมกันและเข้าใจได้ไม่ยาก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในชีวิต

แมดด็อกซ์ให้เหตุผลว่าที่คนนิยมนำพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นำไปทำเป็นมีมนั้นเป็นเพราะการที่พระองค์ครองราชย์มายาวนานถึง 70 ปีนั้น การสวรรคตของพระองค์ถือเป็นความไม่แน่นอนที่คนทั้งโลกต่างรู้สึก เขาชื่อว่าชาวเน็ตจะจดจำพระองค์ผ่านมีม

ที่มา The Register, WIRED UK

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส