นักวิทยาศาสตร์จากโครงการอาหารโลก (WFP) คณะคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน และคณะวิทยาศาสตร์โครงข่ายและข้อมูล ของมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน ร่วมกันสร้างโมเดล machine-learning ที่สามารถอธิบายรูปแบบการขาดแคลนอาหารได้มากถึงร้อยละ 81 โดยอาศัยชุดข้อมูลที่เรียกว่า Unique global dataset
ทีมวิจัยระบุว่าโมเดลนี้นำข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่มีผลต่อการขาดแคลนอาหารด้วย อาทิ ราคาอาหาร ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค (เช่น GDP เป็นต้น) สภาพอากาศ ความขัดแย้ง ภาวะการขาดแคลนสารอาหาร ความหนาแน่นของประชากร และแนวโน้มความไม่มั่นคงทางอาหาร
เป้าหมายของการพัฒนาโมเดลนี้ขึ้นมาก็เพื่อพยากรณ์สภาวะการขาดแคลนอาหารในปัจจุบันไปจนถึงอนาคตอันใกล้ หรือที่เรียกว่า ‘nowcasts’
“โมเดลนี้สามารถพยากรณ์สถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารแทบจะเรียลไทม์ อีกทั้งยังเป็นวิธีการวิเคราะห์ตัวแปรที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง [ต่อสภาวะความมั่นคงทางอาหาร] ได้” งานวิจัยระบุ
นักวิจัยยังบอกด้วยว่าการพัฒนาโมเดลแบบนี้เกิดจากความต้องการของ WFP ในการเติมเต็มช่องว่าง [การวิเคราะห์ข้อมูล] ที่มีอยู่ เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และช่วยให้ประเทศที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสม่ำเสมอด้วย
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ถูกนำไปสร้างเป็นแผนที่โลกที่เผยข้อมูลการพยากรณ์ความไม่มั่งคงทางอาหาร มีชื่อเรียกว่า HungerMap
นอกจากนี้ โมเดลนี้ยังได้ใช้ข้อมูลลำดับรองในการประเมินสภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในระยะยาวด้วย ตัวอย่างเช่นการนำข้อมูลการผลิตทางการเกษตร และข้อมูลสภาวะภูมิอากาศ ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของการผลิตทางการเกษตรไปจนถึงปี 2030
ทีมวิจัยระบุว่าเมื่อโมเดลนี้พยากรณ์ว่ามีการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร WFP จะเข้าประเมินข้อมูลในแต่ละประเทศทันทีด้วยการสำรวจแบบเจอหน้าหรือทางไกล พร้อมส่งนักวิเคราะห์เข้าไปในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ให้ดียิ่งขึ้น
WFP ให้นิยามของสภาวะความมั่นคงทางอาหารไว้ว่าคือการที่ประชาชนทุกคนมีความสามารถทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีสารอาหารครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตรงต่อความต้องการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตที่มีชีวิตชีวาและมีสุขภาพดี
ข้อมูลจากปี 2019 พบว่ามีประชากรที่ขาดสารอาหารทั่วโลกกว่า 650 ล้านคน โดยมีรายงานว่าอีก 135 ล้านคนใน 55 ประเทศและดินแดนอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร ในขณะที่ในปีต่อมา ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา องค์กรต่างประเทศอย่าง WFP ไม่สามารถประเมินสภาวะความมั่นคงทางอาหารได้อย่างแม่นยำเพียงพอ เนื่องจากต้องใช้วิธีการสำรวจแบบต่อหน้าหรือโทรศัพท์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง
ทีมวิจัยเชื่อว่าโมเดลที่พัฒนาขึ้นจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
ที่มา The Register, WFP
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส