Intel บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาเผย FakeCatcher ซอฟต์แวร์โซลูชันสำหรับการวิเคราะห์วิดีโอที่บริษัทอ้างว่าสามารถตรวจพบวิดีโอ Deepfake ด้วยความแม่นยำถึงร้อยละ 96

FakeCatcher ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบ Deep Learning ในการทำงาน ซึ่ง FakeCatcher จะวิเคราะห์เนื้อหาของวิดีโอว่าคนที่อยู่ในนั้นเป็นคนจริง ๆ ที่ถูกอัดไว้หรือไม่ แทนการตรวจดูความไม่สม่ำเสมอของวิดีโอ

อิลเก เดมีร์ (Ilke Demir) นักจัยอาวุโสของ Intel Labs ซึ่งพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นมาร่วมกับ อุมูร์ ซิฟต์ซี (Umur Ciftci) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กบิงแฮมทัน เล่าถึงการทำงานของ FakeCatcher ว่ามันสามารถดูว่าบุคคลในวิดีโอมีหัวใจที่เต้นได้หรือไม่

“เมื่อหัวใจของเราสูบฉีดเลือด เส้นเลือดจะเปลี่ยนสี [FakeCatcher] จะเก็บข้อมูลสัญญาณการไหลเวียนของเลือดเหล่านี้จากบนใบหน้า และอัลกอริธึมจะแปลสัญญาณที่เก็บมาได้เป็นแผนที่เชิงพื้นที่และเวลา (Spatiotempotal) จากนั้นจะใช้ Deep Learning เพื่อช่วยในการตรวจว่าวิดีโอจริงหรือปลอม” เดมีร์ระบุ

เดมีร์ชี้ว่าวิธีการนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า Photoplethysmography (PPG) ซึ่งเป็นวิธีการวัดแสงในเส้นเลือดที่อยูใต้ผิวหนังเพื่อดูว่ามันดูดซึมหรือสะท้อนแสงออกมา มนุษย์สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ด้วยตาเปล่า

เดมีร์อธิบายว่า FakeCatcher รวบรวมสัญญาณ PPG จาก 32 ตำแหน่งบนใบหน้าเพื่อนำไปฝึกระบบประสาทสังเคราะห์ (Neural Network) ของ FakeCatcher ตรวจดูว่าวิดีโอเป็นของจริงหรือปลอม โดยสามารถตรวจสอบได้พร้อมกัน 72 ตัวอย่างแบบเรียลไทม์เลยทีเดียว

ที่มา TechRadar

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส