หลังจากที่ Apple เปิดตัว iPhone 15 ที่เปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB-C ก็ทำให้มีผู้หันมาสนใจเกี่ยวกับหัว USB-C เพิ่มขึ้นมาก โดยการเปิดตัวครั้งนี้นับเป็นจุดจบของสาย Lightning และเป็นการเริ่มต้นยุค USB-C อย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้เมื่อความสนใจใน USB-C เพิ่มขึ้นก็เชื่อว่าอาจมีหลายคนที่สงสัยว่าหัว USB-C ที่มีวางขายมากมายหลายแบรนด์หลายราคานั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ในวันนี้ทาง lumafield ได้ทำการทดสอบและหาคำตอบให้เราแล้วผ่านการใช้เครื่อง X-ray CT scanner มาสแกนสาย USB-C ทั้ง 4 แบรนด์ที่มี 4 ราคาต่างกัน ได้แก่
- สาย Apple Thunderbolt 4 (USB-C) Pro ราคา 2,490 – 5,390 บาท
- สาย Amazon Basics USB-C ราคาประมาณ 9.95 เหรียญ (ประมาณ 360 บาท)
- สาย NiceTQ USB-C ราคา 5.59 เหรียญ (ประมาณ 205 บาท)
- สาย ATYFUER USB-C 3.89 เหรียญ (ประมาณ 140 บาท)
1.Apple Thunderbolt 4 (USB-C) Pro : 2,490 – 5,390 บาท
สาย Apple Thunderbolt 4 (USB-C) Pro เป็นสายที่สามารถใช้งานได้มากมายตั้งแต่การโอนถ่ายข้อมูลไปจนถึงการชาร์จ รองรับ Thunderbolt 3, Thunderbolt 4, USB 4 สามารถส่งถ่ายข้อมูลได้ถึง 40 Gb/s รองรับการชาร์จด้วยกำลังไฟสูงสุด 100W

จากภาพเอกซเรย์จะเห็นภายนอกที่เป็นชั้นพลาสติกแข็ง ภายในเป็นโลหะจากสเตนเลส สตีลหุ้มเลเยอร์ภายใน มีแผ่นวงจร และมี 24 pins ที่ทั้งหมดเชื่อมอยู่กับ ชั้นเลเยอร์ชุดแผงวงจร PCBA 10 ชั้น และสายเชื่อมต่อทั้งหมดจะมัดรวมกันอยู่ที่โคนของส่วนเชื่อมต่ออย่างเป็นระเบียบ

ภายในวงจรยังมีรายละเอียดเบื้องลึกเช่น ความยาวของเส้นวงจรคู่ที่เส้นหนึ่งต้องมีความหยักเพื่อทำให้ความยาวของเส้นวงจรที่คู่กันมีความยาวเท่ากัน ทำให้สามารถส่งต่อข้อมูลความเร็วสูงแบบ extra-high-speed ได้
นอกจากนี้ภายในสาย Thunderbolt ยังประกอบด้วยสายไฟ 3 ประเภท สำหรับหน้าที่การชาร์จและการโอนถ่ายข้อมูล โดยสายที่มีตัวหุ้มเป็นสายสำหรับข้อมูลความเร็วสูง ส่วนสายที่ไม่มีการหุ้มใช้ส่งต่อกำลัง

2.สาย Amazon Basics USB-C : ประมาณ 360 บาท
สายที่มีราคาเกือบ 1 ใน 10 ของสาย Apple เป็นหัว USB-C to USB-C 2.0 Fast Charget Cable ที่รองรับการชาร์จสูงสุด 60W สามารถส่งถ่ายข้อมูลเร็วสุด 480 Mbps


สายรุ่นนี้มีภายนอกเป็นพลาสติก ภายในหุ้มด้วยโลหะเช่นเดียวกัน แต่วงจรภายในมีความเรียบง่ายและไม่ซับซ้อนเท่าของ Apple โดยมี 12 pins โดยจะถูกจั๊มสายเข้าด้วยกัน 4 คู่ แทนที่จะเชื่อมต่อแต่ละสายเข้ากับ PCBA ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าและประหยัดกว่า แต่ยังคงรองรับการทำงานทั่วไป เช่น การชาร์จ และการโอนถ่ายข้อมูลความเร็วต่ำ
3.สาย NiceTQ USB-C : ประมาณ 205 บาท
สายรุ่นนี้ยิ่งมีราคาถูกไปกว่า Amazon Basics USB-C โดยระบุว่ารองรับการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุด 10 Gbps ที่แม้ความเร็วจะต่ำกว่า Thunderbolt 4 Pro (40Gbps) แต่กลับเร็วกว่าสาย Amazon Basics (480 Mbps)


ตัวสายด้านนอกเป็นพลาสติกแบบอ่อน ที่ภายในไม่มีโลหะหุ้มเอาไว้เหมือนกับสายทั้ง 2 รุ่นก่อนหน้า และภายในที่มี 8 pins แต่มีเพียง 4 pins ที่เชื่อมต่อโดยตรงกับสายไฟเท่านั้น ส่วนอีก 4 pins ไม่ได้เชื่อมต่อกับสายไฟ โดยนี่เป็นสายเดียวจาก 4 รุ่นที่ทำการทดลองที่ไม่มีชุดแผงวงจร PCBA
และแม้ว่าทางแบรนด์จะอ้างว่า สายรุ่นนี้รองรับการโอนถ่ายข้อมูลสูงสุด 10 Gbps ซึ่งเป็นความเร็วสำหรับ USB 3.1 Gen 2 แต่กลับมี pins และสายไฟที่รองรับเฉพาะ USB 2.0 ที่รองรับความเร็ว 480 Mbps เท่านั้น
4.สาย ATYFUER USB-C : ประมาณ 140 บาท
สายรุ่นนี้ระบุสเปกว่าเป็นสายสำหรับชาร์จ แต่ไม่มีการพูดถึงความสามารถในการโอนถ่ายข้อมูล แต่แม้ว่าราคาของสาย ATYFUER USB-C จะถูกกว่า NiceTQ (140 บาท เทียบกับ 205 บาท) แต่ในแง่ของโครงสร้างกลับทำได้ดีกว่า

สายรุ่นนี้มาพร้อมพินจำนวน 24 pins ที่ 12 pins เชื่อมต่อแยกกันอยู่บนแผ่นวงจร PCB โดยโครงสร้างภายในสร้างมาเพื่อให้รองรับการโอนถ่ายข้อมูลแบบ USB 2.0
สำหรับสาเหตุที่สายรุ่นนี้สร้างพินมา 24 pins แต่เชื่อมต่อแค่ 12 คาดว่าเพื่อให้การเชื่อมต่อของหัว USB-C สามารถเชื่อมต่อเข้ากับพอร์ต USB-C ได้แน่นขึ้นนั่นเอง
ที่มาเนื้อหาและรูปภาพทั้งหมด: lumafield
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส