ผลการศึกษาใหม่ของนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่ตีพิมพ์ใน Science Advances เผยว่าแฮกเกอร์สามารถสอดแนมผู้ใช้งานโดยใช้เซนเซอร์ Ambient Light (แสงบรรยากาศ) ของสมาร์ตโฟนได้

เซนเซอร์ตัวนี้มีความสามารถในการตรวจจับระดับแสงโดยรอบสมาร์ตโฟนและปรับความสว่างหน้าจอให้เข้ากันได้ ปกติแล้วเซนเซอร์ตัวนี้จะไม่ต้องขออนุญาตเปิดใช้งานจากผู้ใช้

หยาง หลิว (Yang Liu) และทีมนักวิจัยใช้จุดนี้ในการพัฒนาอัลกอริทึมที่จะใช้ตัวแปรต่าง ๆ ที่เซนเซอร์นี้จับได้ในการจำลองการสัมผัสสมาร์ตโฟนด้วยนิ้วของผู้ใช้งาน ทั้งการเลื่อนและปัดหน้าจอ

ทีมวิจัยนำอัลกอริทึมตัวนี้ไปทดสอบกับแท็บเล็ต Android ตัวหนึ่งในหลายสถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือการลองใช้หุ่นลองเสื้อ กระดาษแข็ง และมือมนุษย์ในการสัมผัสหน้าจอ และลองทดสอบว่าจะสามารถตรวจจับลักษณะท่าทางของผู้ใช้งานในขณะชมวิดีโอหรือไม่ด้วย

ผลการทดสอบก็คือข้อมูลที่เซนเซอร์ตัวนี้เก็บสามารถใช้ในการตรวจจับและสร้างภาพจำลองของการปฏิสัมพันธ์กับหน้าจอของผู้ใช้งานขึ้นมาได้

ทั้งนี้ การเก็บภาพโดยใช้จุดอ่อนของเซนเซอร์นี้มีอัตราอยู่ที่ 1 เฟรมต่อ 3.3 นาทีเท่านั้น ซึ่งยากต่อการเก็บภาพการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แบบเรียลไทม์

ทีมวิจัยชี้ว่าควรมีการจำกัดสิทธิ์การใช้งานของเซนเซอร์ Ambient Light โดยควรต้องมีการตั้งค่าให้ต้องขออนุญาตจากผู้ใช้ก่อนเปิดใช้งาน

นอกจากนี้ยังควรให้มีการจำกัดความสามารถของเซนเซอร์ด้วย โดยไม่ให้มีความเร็วหรือแม่นยำเกินไป หรือวางเซนเซอร์ในตำแหน่งที่ไม่สามารถจับการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนเกินไปได้

ที่มา IFLScience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส