Amazon Web Services (AWS) เตรียมเปิด AWS Asia Pacific (Bangkok) Region หรือเซิร์ฟเวอร์สำหรับบริการ Cloud และ เซิร์ฟเวอร์สาธารณะในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ! พร้อมประกาศทิศทางของ AWS Thailand ในปี 2567 ด้วย
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ของ AWS Thailand กล่าวว่า ตลาดคลาวด์สาธารณะในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตถึง 2,500 ล้านเหรียญ ภายในปี 2570 ด้วย CAGR 5 ปีอยู่ที่ 18.6% ตามข้อมูล Semiannual Public Cloud Services Tracker เมื่อช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จาก IDC ทำให้ตอนนี้ ทาง AWS ได้เพิ่มการลงทุนใน ASEAN และมีแผนที่จะเปิดราย AWS Regions อีก 4 แห่ง ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดย AWS มีแผนที่จะลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านเหรียญ (หรือประมาณ 190,000 ล้านบาท) ในประเทศไทยภายในระยะยเวลา 15 ปี ด้วยการเปิด AWS Asia Pacific (Bangkok) Region เป็นโซนในประเทศไทยโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ในประเทศไทย ทาง AWS มีแผนสำหรับปี 2567 ประกอบไปด้วย
- 8 อุตสาหกรรมที่ AWS มุ่งเน้นในปีนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการการเงิน (FSI), การค้าปลีก, ยานยนต์, ดิจิทัล, พลังงาน, การผลิต, ด้านสุขภาพ และ TMEG (โทรคมนาคม, สื่อ, ความบันเทิง, เกม) เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการที่มีความเฉพาะเจาะจงของภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยให้คำแนะนำการใช้บริการคลาวด์ที่ช่วยกระตุ้นนวัตกรรมและสร้างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- เตรียมเปิดตัว AWS Bangkok Region โดย AWS เตรียมการขยายพาร์ตเนอร์เพิ่มเติม รวมไปถึงการจัดงาน AWS Summit ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในเดือนพฤษภาคม 2567
- การพัฒนาทักษะด้านคลาวด์ ด้วยโครงการต่าง ๆ ที่จะเพิ่มทักษะด้านคลาวด์ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและนักเรียนโดยเท่าเทียมกัน เตรียมความพร้อมให้แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญด้านคลาวด์มากขึ้น
ทั้งนี้ ดร. เวอร์เนอร์ โวเกลส์ (Dr. Werner Vogels) Chief Technology Officer ของ Amazon ได้คาดการณ์เทรนด์เทคโนโลยีของปี 2567 ไว้ดังนี้
- การเทรน Generative AI ตอนนี้กำลังมี Bias ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้ GenAI ตอนนี้ กำลังเข้าสู่ยุคที่ผนวกวัฒนธรรมที่หลากหลาย ภาษาที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นไปด้วย ซึ่งความหลากหลายของวัฒนธรรม จะทำให้ AI สามารถ Generate ผลลัพธ์ที่ถูกต้องในเชิงวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ Generative AI เป็นที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นจากคนทั่วโลก (เหมือนกับ Botnoi Voice ที่ใช้ Generative AI สร้างเสียงภาษาไทย เป็นต้น)
- AI จะเข้ามาเป็นผู้ช่วย ซึ่งจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดย AIจะสร้างรหัสพื้นฐานให้เป็นนักบินผู้ช่วย พัฒนาซอฟต์แวร์ไปพร้อมกับนักพัฒนาเดิม และ AI จะอธิบายระบบที่ซับซ้อนด้วยภาษาง่าย ๆ และคอยช่วยนักพัฒนาสร้างซอฟต์แวร์ในทุกขั้นตอน
- FemTech – เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) สำหรับเพศหญิงจะเริ่มได้ใช้งานจริง และให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น จากการวิจัย วิเคราะห์ผลสมัยก่อน ไม่สามารถใช้การวิเคราะห์แบบไม่มีเพศมากำกับได้แล้ว ต้องวิจัยแยกกัน เพราะผลลัพธ์ต่างกัน ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงอย่างเดียว แต่ยังช่วยยกระดับระบบการดูแลสุขภาพทั้งหมดอีกด้วย
- การเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีต้องก้าวหน้ามากกว่าเดิม เพราะการเรียนการสอนเทคโนโลยีแบบเดิม ไม่สามารถตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ทัน ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะเฉพาะมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส