นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยความคืบหน้าเรื่องการร่างกฏหมายเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อกฏหมายฉบับดังกล่าว ก่อนจะเสนอร่างกฏหมายใหม่นี้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในเดือนกรกฏาคมนี้
สำหรับร่างกฏหมายสรุปหลักจัดเก็บภาษีนั้น นายประสงค์ชี้แจงว่า จะเกิดขึ้นเมื่อมีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าและโอนเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงการทำธุรกิจผ่านวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ ๆ อื่น ๆ ทุกรูปแบบ แม้ว่าบริษัทหรือผู้ประกอบการรายนั้นจะไม่ได้จัดตั้งอยู่ในประเทศไทย จะถือว่าเข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้อื่น ๆ
ขณะเดียวกันอัตราการจัดเก็บภาษีนั้นเตรียมจะมีการปรับปรุงเพดานการจัดเก็บสูงสุดเพิ่มขึ้นจากแนวคิดเดิมที่จะจัดเก็บอยู่ที่ 5% มาเป็น 15% ของเงินได้ โดยอัตราการจัดเก็บภาษีจะมีหลายอัตราขึ้นกับประเภทธุรกรรม ที่จะมีการแยกประเภทการจัดเก็บไว้ชัดเจน ซึ่งจะอิงตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฏากร ที่ระบุว่า สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นเงินได้ที่พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยไม่ว่าบุคคลใดๆ ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามแหล่งเงินได้ (Source Rule) และเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นไปด้วยดีจึงกำหนดให้ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้มีเงินได้ไม่ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติภาษีอื่นใดอีก
‘กรมไม่ได้มีจุดประสงค์ในการจัดเก็บภาษีเพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จัดเก็บเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ โดยเฉพาะธุรกิจที่ดำเนินการในประเทศไทยปัจจุบันมากมายไม่มีการเสียภาษี จึงต้องวางแนวทางจัดเก็บเพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง’ นายประสงค์กล่าว
ทั้งนี้ ตัวกฏหมายระบุว่า สถาบันการเงินจะเป็นผู้มีอำนาจจัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย ให้กรมสรรพากร หากมีการโอนเงินชำระสินค้าหรือบริการต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์พุ่งสูงถึงหลักล้านล้านบาท โดยแยกออกมาเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ส่วนที่อยู่ในระบบ เช่น การชำระเงินขององค์กรส่วนราชการและเอกชน, การจองตั๋วเครื่องบินกับสายการบินผ่านออนไลน์ และ ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบ คือการชำระเงินค่าโฆษณาผ่าน Facebook, Google, LINE หรือ Uber ซึ่งในส่วนนี้ รัฐบาลไม่เคยได้รับการชำระภาษีจากธุรกรรมเหล่านี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเลย