Grab ผู้ให้บริการเรียกรถรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศซื้อกิจการ Uber (เฉพาะส่วนที่ให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ภายใต้ข้อตกลงที่ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การซื้อธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาค (แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ามูลค่าที่ว่าคือเท่าไหร่) โดยแกร็บจะควบรวมกิจการของ Uber ทั้งการเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นและบริการ Uber Eats รับส่งอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ในแพลตฟอร์มการให้บริการขนส่งและบริการทางการเงินของแกร็บ โดยแกร็บจะมุ่งสู่แพลตฟอร์มที่ให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) และผู้ให้บริการรับส่งอาหารชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

หลังจาก Grab เข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ของอูเบอร์ในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม Uber จะถือหุ้น 27.5% ในแกร็บ และ Dara Khosrowshahi (ดารา โคสโรว์ชาฮี) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอูเบอร์ ก็จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของแกร็บ

ดารา โคสโรว์ซาฮี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอูเบอร์ ให้ความเห็นในการขายกิจการของ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้ว่า Uber เริ่มให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน โดยเริ่มที่สิงคโปร์เป็นที่แรก และลงทุนไปมากกว่า 700 ล้านเหรียญในภูมิภาคนี้ ซึ่งการตัดสินใจขายกิจการครั้งนี้ก็ไม่ง่าย แต่ตอนนี้กลยุทธ์ของ Uber นั้นเปลี่ยนไปแล้ว ที่ผ่านมาเราขยายตัวเร็วเกินไป ขยายไปสู่ตลาดทั่วโลกมากเกินไป ทำให้ต้องลงทุนลงแรงสู้ในตลาดต่างๆ มากมาย การขายกิจการในตลาดที่ Uber ไม่ได้โฟกัสจึงเป็นทางออกที่ดีของบริษัท ประโยชน์ที่อูเบอร์จะได้คือการเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับผู้นำในตลาด ทำให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งก่อนหน้านี้อูเบอร์ได้ขายกิจการในจีนและรัสเซียมาแล้ว

เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น แกร็บและอูเบอร์จะทำงานร่วมกันในการย้ายฐานข้อมูลรายชื่อคนขับ และผู้โดยสารจากแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ รวมไปถึงลูกค้าที่สั่งอาหาร ผู้จัดส่ง และพันธมิตรร้านอาหารจากแอพพลิเคชั่นอูเบอร์อีทส์ ไปยังแพลตฟอร์มของแกร็บ โดยแอพพลิชั่น Uber จะให้บริการต่อไปอีกเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อให้เวลาแก่คนขับในการเข้าไปลงทะเบียนสมัครกับแกร็บทางช่องทางออนไลน์ที่ grab.com/th/comingtogether ในส่วนแอพพลิเคชั่น UberEats นั้น จะให้บริการต่อไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 และหลังจากนั้นข้อมูลรายชื่อผู้จัดส่งและพันธมิตรร้านอาหารก็จะถูกถ่ายโอนไปยังแอพพลิเคชั่นของแกร็บ

สรุปธุรกิจของ Grab ว่าที่ยักษ์ใหญ่ด้าน O2O (Online to Offline) ของภูมิภาค

  • บริการรับส่งอาหาร: Grab จะมุ่งขยายธุรกิจ GrabFood อย่างรวดเร็วเพิ่มอีกสองประเทศคือสิงคโปร์และมาเลเซีย จากเดิมที่มีให้บริการอยู่แล้วในประเทศอินโดนีเซียและไทย หลังการควบรวมธุรกิจของอูเบอร์อีทส์เข้ามาในบริการ ‘แกร็บฟู้ด’ (GrabFood)ทั้งนี้ แกร็บ มีแผนเปิดให้บริการแกร็บฟู้ดในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราดำเนินงานอยู่ภายในกลางปีนี้
  • บริการเดินทางขนส่ง: Grab จะสร้างการเติบโตให้บริการเดินทางขนส่งโดยขยายบริการท้องถิ่น พร้อมมอบโซลูชั่นที่มากขึ้นผ่านการร่วมมือกับผู้ให้บริการเดินทางและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ นอกจากนี้ แกร็บจะสนับสนุนรัฐบาลและผู้ให้บริการขนส่ง เพื่อสร้างเครือข่ายการเดินทางสาธารณะที่หลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ประกาศทดลองให้บริการ ‘แกร็บไซเคิล’ (GrabCycle) ซึ่งเป็นบริการจักรยานและอุปกรณ์มือถือร่วม และบริการ ‘แกร็บชัตเติ้ล พลัส’ (GrabShuttle Plus) ซึ่งเป็นบริการรถโดยสารประจำทางแบบออนดีมานด์ ไปก่อนหน้านี้
  • บริการชำระเงินผ่านมือถือและบริการทางการเงิน: แกร็บ จะมุ่งขยายและยกระดับการให้บริการต่างๆ ภายใต้ ‘แกร็บไฟแนนเชียล’ (Grab Financial) ซึ่งรวมถึงบริการชำระเงินผ่านมือถือ บริการกู้ยืมสำหรับรายย่อย (micro-financing) และบริการประกัน รวมไปถึงบริการอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยหลายล้านรายในภูมิภาค ทั้งนี้ บริการ Mobile Wallet ของแกร็บเพย์ จะพร้อมเปิดให้บริการในทุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแกร็บภายในปลายปีนี้

ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อธุรกิจเรียกรถและหลายธุรกิจแบบ O2O กลายเป็นของ Grab แบบไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ จะทำให้เกิดภาวะ Monopoly ที่ธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาด การแข่งขันลดลง แล้วอัตราค่าบริการต่อไปจะเป็นอย่างไร

อ้างอิง: Grab, Uber