เราได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดพี่เอยมานานว่าออฟฟิศของกูเกิลนั้นเป็นแดนสวรรค์สำหรับคนทำงานยุคใหม่เลยทีเดียว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศจริงๆ สักที จนเมื่อทีมงานแบไต๋.คอมได้มีโอกาสร่วมงานเปิดบ้านของกูเกิลประเทศไทยจึงไม่พลาดที่จะเก็บเรื่องราวที่ได้ ที่สัมผัสได้เลยว่าหนึ่งในความสำเร็จของกูเกิ้ลก็อยู่ในเรื่องราวที่หมุนวนอยู่ในออฟฟิศนี่แหละ
กูเกิลเริ่มตั้งสำนักงานในกรุงเทพอย่างเป็นทางการราวเดือนสิงหาคม 2011 ซึ่งคุณอริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประจำประเทศไทยของกูเกิลเล่าว่า วันแรกที่เริ่มงานกับกูเกิลรู้สึกตกใจกับสำนักงานมาก เพราะเป็นเพียงห้องขนาดเล็กขนาดพอดีกับพนักงานที่มีอยู่ตอนนั้น (นับได้ 3 คนคือคุณอ้อ-พรทิพย์ คุณเอมี่และคุณอริยะ) ซึ่งผิดกับภาพของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มีพนักงานเป็นหมื่นๆ ของกูเกิลมาก
หลังจากที่กูเกิลเริ่มจริงจังกับตลาดไทยมากขึ้น ทีมงานกูเกิลไทยได้สร้างผลงานนับร้อยโครงการ (ที่เห็นได้ชัดๆ ก็เช่น Google.co.th, Google Maps ที่เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานไทย, Google Street View ในไทย, Youtube ประจำประเทศไทย หรือระบบรับรู้เสียงภาษาไทย) ก็ถึงเวลาที่สำนักงานประจำประเทศไทยจะต้องขยับขยายเพื่อรองรับทีมงานและปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ออฟฟิศใหม่ใจกลางกรุงเทพบนชั้น 14 ของอาคารปาร์ค เวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ถนนวิทยุจึงถือกำเนิดขึ้น
ออฟฟิศบริษัทไฮเทค กลิ่นอายประเทศไทย
ถ้าคิดว่าสำนักงานกูเกิ้ลนั้นจะมีเรื่องล้ำๆ มากมายก็เป็นความคิดที่ไม่ผิดอะไรครับ เพราะเทคโนโลยีหลายอย่างที่ทีมงานแบไต๋.คอมไปเห็น อย่างระบบการประชุมทางไกล หรือการจัดการต่างๆ นั้นใช้เทคโนโลยีเฉพาะของกูเกิลที่ใช้ในสำนักงานเท่านั้น จึงไม่สามารถถ่ายภาพมาฝากกันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่กูเกิลเปิดกว้างสำหรับพนักงานคือโอกาสในการเสนอความคิดเห็นว่าสถานที่ทำงานของเขาควรเป็นอย่างไร
ออฟฟิศของกูเกิลประเทศไทยจึงมีกลิ่นอายของความเป็นไทยในแบบร่วมสมัยตามที่พนักงานได้เสนอเข้ามา ทั้งชื่อห้องต่างๆ ที่ใช้เรื่องราวในประเทศไทยมาตั้ง อย่างห้องต้มยำกุ้ง, ห้องหัวหิน, ห้องเกาะหลีเป๊ะ, ห้องรัตนโกสินทร์ การตกแต่งที่มีทั้งภาพของหนังใหญ่วัดขนอน รถตุ๊กตุ๊กหน้าออฟฟิศ (ที่กูเกิลไปซื้อรถตุ๊กตุ๊กของจริงมาตกแต่ง) หรืองานสตรีทอาร์ทแสดงภาพวัฒนธรรมจีนร่วมสมัย ผลงานของชาย-พงศธร ลิมานนท์ในห้องเยาวราช ห้องอาหารใหญ่ของออฟฟิศกูเกิลไทย
เคล็ดลับการสร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ ส่วนหนึ่งอยู่ที่สำนักงาน
กูเกิลเป็นบริษัทชั้นนำที่สร้างนวัตกรรมมากมายให้โลกใบนี้นะครับ จนเรียกได้ว่าธุรกิจหลักของกูเกิ้ลคือการสร้างนวัตกรรม ซึ่งกว้างกว่าธุรกิจค้นหาอย่างเดียว แล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากการเยี่ยมบ้านกูเกิลประเทศไทยบ้าง มาดูคำใบ้กันดีกว่า
- โต๊ะและเก้าอี้ในสำนักงานกูเกิลจะตั้งอยู่เป็นกลุ่ม แม้ว่าจะเป็นโซนพักผ่อน
- ห้องประชุมมีหลายขนาดและมีอุปกรณ์พร้อมใช้ตลอดเวลา
- ผู้บริหารไม่มีห้องส่วนตัว นั่งอยู่ในหมู่โต๊ะพนักงาน
- มีโต๊ะว่างๆ จำนวนหนึ่งที่พร้อมให้พนักงานกูเกิลจากที่อื่นๆ มาใช้งาน
ใช่ครับ สิ่งหนึ่งที่กูเกิ้ลเน้นมากคือการพูดคุยระดมสมองกันของพนักงาน ซึ่งการพูดคุยนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่การประชุมเต็มรูปแบบ แต่เป็นการคุยกันกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างเรื่องที่อยากจะทำ เมื่อออฟฟิศออกแบบมาให้เอื้อต่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรๆ มันก็ง่าย
เคล็ดลับการสร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ อีกส่วนอยู่ที่วัฒนธรรมองค์กร
นอกจากเรื่องออฟฟิศแล้ว ทีมงานแบไต๋.คอมยังเห็นอะไรจากการเยี่ยมชมสำนักงานของกูเกิลในครั้งนี้อีก
- พนักงานเข้ากี่โมง กลับกี่โมงก็ได้ (แต่ถ้ามาเสาร์-อาทิตย์ จะไม่มีอาหารปรุงสดในห้องเยาวราชนะ)
- บัตรพนักงานกูเกิลใช้เข้าสำนักงานได้ทั่วโลก
- ปลูกฝังให้พนักงานท้าทายกูเกิ้ล ท้าทายตัวเอง ท้าทายคนอื่น เพื่อทำสิ่งที่ยิงใหญ่กว่าเดิม
- มีโอกาสตั้งคำถามกับผู้บริหารระดับสูงเสมอ
- จริงจังกับเรื่องสิทธิส่วนบุคคล เราจึงไม่สามารถถ่ายรูปโต๊ะพนักงานมาให้ดูได้
- KPI ของกูเกิ้ลคือ OKR (objective key resource) ว่าสิ่งที่กำลังทำสอดคล้องกับพันธกิจของกูเกิ้ลหรือไม่
- ถ้าทำงานไม่สำเร็จก็ต้องบอกได้ว่าเพราะอะไรทำให้มันไม่สำเร็จ
จุดตายสำคัญที่ทำให้อดีตบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกต้องล้มหายไปคือความไม่กระตือรือล้นแสวงหาความสำเร็จใหม่ๆ ยังคงจมปรักอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ซึ่งเรื่องนี้เห็นชัดมากกับบริษัทในโลกไอที ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วยิ่งกว่าจรวด ความยิ่งใหญ่ในวันนี้ อาจจะไม่มีค่าอะไรในอนาคตก็ได้ ถ้าปรับตัวตามกระแสไม่ทัน (ภาพของ BlackBerry, Nokia, AOL, Microsoft ฯลฯ ลอยเข้ามา) ซึ่งจากวัฒนธรรมองค์กรของกูเกิ้ลที่ให้ความเป็นอิสระ ทั้งรูปแบบการทำงาน และอิสระในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็บรรยากาศก็ส่งเสริมให้พนักงานรู้หน้าที่ จึงทำให้เกิดผลงานที่ไม่คาดฝันได้เสมอๆ
สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ากูเกิล (ประเทศไทย)
- Googley คือบุคลิกของคนที่ทำงานในกูเกิ้ล
- Doooon’t be evil วัดจากความสุขของผู้ใช้ทั่วโลก ทำยังไงให้ผู้ใช้มีความสุข ผู้ใช้งานต้องเป็นอันดับแรกในการสร้างสรรค์
- TGIF (Thank God It’s Friday) ตอน 4 โมงเย็นจะดึงพนักงานมาคุยกันว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาเราทำอะไรบ้าง ช่วยเหลือสังคมกันแค่ไหน ในกูเกิ้ลไทยก็มี Culture Club เป็น Social TGIF
- การตัดสินใจของกูเกิ้ลอิงจากวิทยาศาสตร์และข้อมูล เคยมีเรื่องเล่ากันว่าการจะเลือกโทนสีเพื่อใช้ในการออกแบบ ยังมีการสำรวจหาสีที่เหมาะสม (ก็ถ้าเป็นที่อื่น ดีไซเนอร์ก็เลือกเองไปแล้ว)
- ส่วนต้อนรับของกูเกิลไทยนอกจากจะมีรถตุ๊กตุ๊กแล้ว ยังมีจอแสดงคำค้นหาในปัจจุบันให้ผ่านโดยดึงจาก Google Trend
- อาหารในห้องเยาวราชเยอะอย่างนี้ทุกวัน ไม่ใช่แค่เยอะเฉพาะวันที่รับสื่อเยี่ยมชมบ้าน โดยอาหารทำโดยบริษัทภายนอก ไม่ได้ปรุงบนตึก
- ในออฟฟิศของกูเกิลไทย มีบริการนวด มีโต๊ะสนุ๊กเกอร์ มีเกมคอนโซล มีวิวสนุกๆ ของ Central Embassy ที่กำลังก่อสร้างให้ดู