ช่วงนี้ปัญหาการแบนระหว่างประเทศร้อนระอุไม่ต่างไปจาก Covid-19 โดยเหตุการณ์ใหญ่ ๆ สองอย่างล่าสุดที่จีนกำลังเจอคือ Huawei, ZTE สองผู้ให้บริการอุปกรณ์โครงข่ายและระบบเน็ตเวิร์กถูกแบนเนื่องจากปัญหาด้านความมั่นคงของชาติ แต่นอกจากเรื่องประเด็นนี้แล้ว บริษัทที่กำลังตกที่นั่งลำบากอันดับต่อมาคือ TikTok ซึ่งมีบริษัทแม่คือ Bytedance กำลังปาดเหงื่อเช่นเดียวกัน เนื่องจากเพิ่งโดนทางการอินเดียสั่งแบนไปหมาด ๆ ฝั่งสหรัฐฯเองก็กำลังพิจารณาแบน ส่วนทางการออสเตรเลียก็เริ่มเป็นกังวลด้านความปลอดภัยแล้ว

แต่ก่อนที่จีนจะโดนมรสุมแบนมาขนาดนี้ จีนก็เริ่มแบนสื่อรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ของประเทศอื่น ๆ มาก่อนด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันคือเรื่อง ‘ความมั่นคงของชาติ’ แต่อะไรบ้างที่จีนแบนไป มาดูกันครับ

Instagram

ทางการจีนเริ่มแบน Instagram ตั้งแต่ปี 2014 หลังจากเริ่มมีการประท้วงในฮ่องกง เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้งนั่นเอง

Twitter

จีนเริ่มแบน Twitter หลังจากเกิดเหตุการณ์ ‘อาหรับสปริง’ หรือเหตุการณ์การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในประเทศอาหรับจนส่งผลถึงประเทศแถบตะวันออกกลางในอีกหลายประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเพราะเหตุการณ์ต่อต้านเผด็จการเป็นกระแสใน Twitter ทำให้จีนต้องแบน Twitter ด้วยเช่นกัน

Google

บริการต่าง ๆ ของ Google อย่าง Gmail รวมถึง Google Search จะไม่สามารถใช้งานในประเทศจีนได้ เนื่องจาก Google ไม่ทำตามคำขอของรัฐบาลจีนในการกรองเนื้อหาที่สามารถค้นหาได้ สุดท้ายบริษัทก็ต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปที่ฮ่องกงที่ไม่มีการแบนแทน อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานในจีนสามารถเข้าถึง Gmail ได้โดยการเข้าผ่าน Virtual Private Network (VPN) แต่ก็อาจถูกดักได้โดยรัฐบาลอยู่ดี

เดิม Google มีแผนที่จะทำ Search Engine ที่ออกแบบมาใช้งานสำหรับประเทศจีนโดยเฉพาะ แต่แล้วก็ถูกยกเลิกไป ทั้งนี้ยังมี Chinese Google Maps หรือบริการแผนที่ของ Google เวอร์ชันสำหรับใช้งานในจีนที่ยังสามารถเข้าได้อยู่

Facebook

รัฐบาลจีนเริ่มแบน Facebook ตั้งแต่ปี 2009 โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าทางการจีนไม่ต้องการให้มีความวุ่นวายหลังเกิดเหตุความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและชาวจีนฮั่นในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของซินเจียง โดยรัฐบาลจีนได้ขอข้อมูลผู้ก่อการร้ายแต่ Facebook ได้ปฏิเสธที่จะให้

Pinterest, Snapchat

สำหรับ Pinterest นั้นจริง ๆ เคยให้บริการในจีนอยู่หลายปี แต่ภายหลัง Pinterest และ Snapchat ต่างก็ถูกแบนในจีนเนื่องจากการควบคุมเนื้อหานอกประเทศจีนนั้นเป็นไปได้ยาก

เว็บไซต์นับร้อย

จีนแบนเว็บไซต์นับร้อยไม่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เช่น Google, YouTube, Facebook, Wikipedia, Blogspot, Twitch, Pornhub, Vimeo, Discord, Flickr สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น Bloomberg, The New York Times, Reuters, SCMP เป็นต้น ปัญหาคือเรื่องการวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์หรือแก้ไขปัญหาที่ละเอียดอ่อนเช่นสิทธิมนุษยชนเป็นต้น

ภาพยนตร์ต่างประเทศ

หน่วยงานกำกับดูแลของจีนอนุญาตให้แสดงภาพยนตร์ต่างประเทศเพียง 34 เรื่องในโรงภาพยนตร์ในแต่ละปี ส่วนภาพยนตร์ที่ผ่านการอนุมัติยังคงต้องเผชิญกับการเซนเซอร์อย่างหนักของรัฐบาลซึ่งตัดสิ่งใดก็ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์เห็นว่าไม่ควรถูกเผยแพร่ออกมา

ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ถูกแบน: Deadpool เนื่องจากความรุนแรง ภาพและภาษาที่ไม่เหมาะสม, Suicide Quad: เหตุผลด้านความรุนแรง,

ตัวอย่างภาพยนตร์ที่มีการปรับก่อนฉาย: Titanic 3D แก้ไขฉากที่ล่อแหลม, Iron Man 2 แก้ไขคำ Russia และ Russian โดยสองคำนี้จะไม่ถูกแปลรวมถึงถูกตัดออกจากบทพูด กลายเป็นเสียงในลำคอแทน

E-Books, วิดีโอ และหนังสือ

เนื้อหากลุ่มดิจิทัลหลายอย่างจจากอเมริกาและตะวันตกถูกแบนในประเทศจีน เช่น iBook, ภาพยนตร์ใน iTunes, วิดีโอจาก Disney โดยเนื้อหาออนไลน์หลายอย่างจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ในประเทศจีนได้

หนังสือก็เหมือนกับสื่ออื่น ๆ ที่จะต้องผ่านการตรวจสอบของหน่วยงานภายในประเทศจีนก่อน แต่เรื่องการลักลอบนำหนังสือเข้าจีนก็มีอยู่เช่นเดียวกัน

หมีพูห์..

เพราะประธานาธิบดีสี จิ้นผิงโดนล้อว่าเหมือนหมีพูห์ โดยการล้อเลียนในลักษณะนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้นำเสียหาย ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เคารพนับถือ ทางการจีนเลยต้องไล่ลบหมีพูห์ออกจากโซเชียลมีเดียกันยกใหญ่เลยทีเดียว

อ้างอิง CNN, The Atlantic, Wikipedia, BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส