CEO ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ทั้ง 4 บริษัท ได้แก่ Amazon CEO – Jeff Bezos, Apple CEO – Tim Cook, Facebook CEO – Mark Zuckerberg และ Sundar Pichai – CEO ของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google และ YouTube ได้เข้ารับการไต่สวนจากสภาคองเกรสประเด็นการผูกขาดและรวมถึงการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ โดยแต่ละบริษัทมีแต่ละประเด็นที่ถูกไต่สวนแตกต่างกันไป

Apple เอาเปรียบแอปคู่แข่งใน App Store

Apple ถูกไต่สวนกรณีการเอาเปรียบแอปพลิเคชันคู่แข่งในคุณสมบัติ Screen Time ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานและผู้ปกครองสามารถสามารถจัดการเวลาการใช้งานของตัวเองและเด็กได้ ซึ่งหลังจาก Apple เปิดตัว Screen Time ไปเมื่อปี 2018 แอปพลิเคชันที่มีลักษณะการใช้งานที่คล้ายคลึงกันอย่าง OurPact ก็ถูกถอดออกไปจาก App Store เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของ Apple

Tim Cook ได้ตอบประเด็นนี้ว่า “เราเป็นกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งานรวมถึงตัวเด็ก ๆ”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่แอปพลิเคชันกลุ่มนี้ถูกลบออกจาก App Store โดยมีผู้ปกครองได้แจ้งไปทาง Apple แต่ตัวแทนให้ดาวน์โหลดและใช้งานของ Apple แทน ซึ่งก็ดูจะเข้าข่ายเอาเปรียบคู่แข่ง ซึ่งในประเด็นนี้ Tim Cook บอกว่า “มันมีหลายเหตุผลที่แอปเหล่านั้นไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของ Apple” พร้อมปฏิเสธเรื่องบีบคู่แข่ง

สุดท้ายคือเรื่องการที่ Apple ทำแอปพลิเคชันของตัวเองที่มีลักษณะเหมือนกับแอปคู่แข่ง ซึ่งนับเป็นการลดการแข่งขันและตัวเลือกของผู้บริโภคเองก็น้อยลง ประกอบกับเหตุผลข้างต้นที่ Apple ทำแอปของตัวเองแล้วผลักแอปอื่นออกจาก App Store

Google ให้สัญญาเรื่องการเลือกตั้ง 2020

CEO ของ Google, Sundar Pichai โดนไต่สวนเรื่องแรกคือเรื่อง ‘เสิร์ชเอนจิน‘ โดยคุณ Jim Jordan จาก Ohio Republican ให้ความกังวลว่า Google อาจปรับระบบเสิร์ชให้เอื้อต่อชื่อของบุคคลที่จะส่งผลทางการเมือง หรือการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงมากขึ้น Sundar Pichai ย้ำว่า Google ไม่ได้ทำงานเพื่อผลประโยชน์​ทางการเมืองอย่างแน่นอน

ประเด็นที่สองโดย David Cicilline ประธานคณะอนุกรรมการมองว่า Google อาจเป็นบริษัทที่มีอำนาจการผูกขาดมากที่สุดเป็นประตูสู่อินเทอร์เน็ตโดยตรง ซึ่ง Sundar Pichai บอกว่า Google “ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากที่สุดแก่ผู้ใช้เสมอ”

ซึ่งในสภานั้น Cicilline ก็ดูจะรำคาญคำตอบของ Pichai อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

Amazon ใช้ข้อมูลของผู้ขายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

ประเด็นแรกและประเด็นหนักของ Amazon คือบริษัทใช้ข้อมูลของผู้ขายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือไม่? ทาง Jeff Bezos บอกว่า “ผมไม่สามารถตอบคำถามนี้แบบตรง ๆ ว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ เรามีนโยบายต่อต้านการใช้ข้อมูลเฉพาะของผู้ขายแต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่ามีใครเคยละเมิดนโยบายนี้หรือไม่”

Amazon ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้ข้อมูลของผู้ขายเพื่อทำผลิตภัณฑ์โดยติดแบรนด์ของตัวเอง แต่ราคาถูกกว่าเพื่อวางจำหน่าย ซึ่งทำให้ Amazon ได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการโปรโมตสินค้า โดยผู้ขายจะต้องซื้อโฆษณาหรือ Advertisement ของ Amazon เพื่อโปรโมตสินค้าของตัวเอง ในขณะที่สินค้าของ Amazon เองไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อโปรโมตสินค้าของตัวเอง ซึ่งเหมือนกับเป็นการเอาเปรียบผู้ขายที่ขายสินค้าผ่าน Amazon

Facebook ที่หวังรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

Facebook ประกอบไปด้วย 4 แอปโซเชียลหลัก ๆ คือ Facebook, Messenger, Instagram และ WhatsApp โดยแอปเหล่านี้มีผู้ใช้งานรวมกันมากถึง 2,600 ล้านคน จากรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2020 ของ Facebook ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้ Facebook เป็นเครือข่ายโซเชียลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ Facebook ถูกสอบสวนคือเรื่องการรับมือกับคู่แข่ง อย่างการเข้าซื้อ Instagram ที่มีมูลค่ามากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 ซึ่ง ประธานคณะกรรมการตุลาการ Jerry Nadler บอกว่า “Facebook มองว่า Instagram คือคู่แข่งซึ่งอาจแย่งรายได้จาก Facebook แต่แทนที่จะแข่งกัน Facebook เลือกซื้อ Instagram แทน”

ไม่เพียงเท่านั้น Facebook ยังใช้ความยิ่งใหญ่ของบริษัทในการกำจัดบริษัทที่ไม่สามารถเข้าซื้อได้อย่าง Snapchat โดย CEO ของ Snapchat, Evan Spiegel เผยว่าเมื่อ Facebook ไม่สามารถซื้อ Snapchat ได้ Facebook ก็พยายามคัดลอกคุณสมบัติต่าง ๆ เข้ามาแทน

ปิดท้าย

ประธานกรรมการมองว่าภายใต้สถานการณ์ของไวรัสโคโรนา เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีจะยิ่งมีกำลังและได้ผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการซื้อของออนไลน์ซึ่งแพลตฟอร์เหล่านี้ได้ผลประโยชน์เต็ม ๆ ร้านค้าเล็ก ๆ ก็ค่อย ๆ ตายลง

ส่วนประธานาธิบดี Donald Trump ก็ได้ทวีตบอกว่า “หากสภาคองเกรสไม่สามารถจัดการบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้ ซึ่งจริง ๆ ก็ควรจะทำได้แล้ว ผมจะลงมือด้วยตัวเอง”

อ้างอิง NPR, Yahoo

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส