งานวิจัยการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจากทีมวิศวกรของ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างสถิติโลกใหม่ ที่เร็วขนาดที่ว่าสามารถดาวน์โหลดคลังหนังทั้งหมดในเน็ตฟลิกซ์ในเวลาไม่ถึงวินาทีเท่านั้น
โดยการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท Xtera และสถาบันวิจัย KDDI และมี ดร.ลิเดีย กัลดิโน จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งสถิติการส่งข้อมูลที่ทีมนี้สามารถทำได้คือ 178 Tbps (เทระบิตต่อวินาที) มากกว่าสถิติเดิมของสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นที่เคยทำไว้ที่ 172 Tbps เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งความเร็วนี้ยังเข้าใกล้และท้าทายขีดจำกัดเชิงทฤษฎีของการส่งข้อมูลบนสายไฟเบอร์ (Shannon’s limit) ที่นักวิจัยของ Bell Lab นาม คล็อด แชนนอน ได้คิดไว้ตั้งแต่ปี 1949 มากขึ้นด้วย
เทคนิคที่ทางทีมวิจัยใช้คือการส่งข้อมูลผ่านช่วงคลื่นที่กว้างกว่าเดิมที่ใช้ในใยแก้วนำแสง ซึ่งโครงสร้างในปัจจุบันจะจำกัดอยู่ที่ 4.5 THz และจะใช้ในพวกงานเชิงพาณิชย์ที่ 9 THz (เทระเฮิรตซ์) แต่ทีมวิจัยสามารถใช้ได้ถึง 16.8 THz
ในการที่จะทำให้ได้ช่วงย่านความถี่สูงขนาดนี้ ทีมวิจัยได้ประยุกต์เทคโนโลยีการขยายสัญญาณ (Amplifier technology) หลาย ๆ แบบเพื่อได้ช่องส่งสัญญาณที่กว้างขึ้น ผนวกกับการเพิ่มความเร็วให้ถึงขีดสุดด้วยการพัฒนาเทคนิคการใช้พลังงานเพื่อกล้ำสัญญาณดิจิทัล (Modulation) แบบ Geometric Constellation Shaping ซึ่งสามารถสร้างรูปแบบการผสมสัญญาณที่ดีที่สุดในการใช้ เฟสของคลื่น ความสว่าง และคุณสมบัติโพลาไรเซชันของแสงด้วย (สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเชิงลึกเทคนิคนี้มีการอธิบายในจดหมายจาก IEEE Photonics Technology ฉบับใหม่ครับ)
มาจุดที่เราเข้าใจง่ายดีกว่า นั่นคือประโยชน์ของเทคนิควิธีนี้ คือมันสามารถนำมาใช้กับโครงสร้างระบบสายส่งที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ ไม่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างใด ทั้งยังมีความคุ้มค่าเพราะใช้เพียงการติดตั้งตัวขยายสัญญาณเพิ่มในระยะส่ง 40-100 กิโลเมตร ซึ่งมีต้นทุนราว 16,000 ปอนด์ หรือราว 660,000 บาท ในขณะที่การวางสายใยแก้วนำแสงใหม่ในเขตเมืองมีต้นทุนถึงกิโลเมตรละ 450,000 ปอนด์ หรือราว 18,500,000 บาทเลยทีเดียว
หวังว่าจะพัฒนาสู่การนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ได้โดยไวครับ แต่เหนืออื่นใดแม้อนาคตจะสามารถโหลดหนังทั้งเน็ตฟลิกซ์มาได้ในวิเดียว แต่สุดท้ายเราก็ยังนั่งวนอยู่หน้าเมนูเลือกหนังเป็นครึ่งชั่วโมงอยู่ดีนั่นล่ะนะ (ฮา)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส