จากกรณีรัฐบาลไทยยื่นคำสั่งศาลให้ Facebook ปิดกลุ่มที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน ทำให้ Facebook เตรียมฟ้องร้องรัฐบาลไทย

วันที่ 26 ส.ค. 2563 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตั้งโต๊ะแถลง เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า สำหรับกระบวนการจัดการคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมนั้นทำตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอย่างครบถ้วน โดยเมื่อ 15 วันที่แล้ว ทางรัฐบาลได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยัง Facebook และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ว่ามีประมาณ 1129 URL มีความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ ให้แพลตฟอร์มลบคอนเทนต์เหล่านั้นพร้อมกับแนบคำสั่งศาลทั้งหมด ซึ่งทาง Facebook ก็ได้ลบให้อย่างครบถ้วน สำหรับตัวเลขทั้งหมดนั้น มีการแจ้งจากประชาชนเข้ามา 5,943 รายการ จากการคัดกรองพบว่าไม่เข้าข้อกฏหมาย 3,232 รายการ โดยศาลมีคำสั่งแล้ว 1,871 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 479 รายการ และอยู่ระหว่างตรวจสอบ 451 รายการ ซึ่งทั้งหมดจะถูกส่งศาลก่อนเพื่อออกคำสั่งตามมา

ในส่วนของการดำเนินการทางกฏหมายของ Facebook ตามข่าวนั้น ตอนนี้ยังไม่ได้เห็นเอกสารอย่างเป็นทางการ ได้ยินเพียงจากสื่อมวลชนและข่าวสารต่าง ๆ ที่แชร์กันทั้งในและต่างประเทศ แต่หากเกิดการดำเนินการทางกฏหมายจริง ๆ เราก็ต้องมีทีมกฏหมายที่จะศึกษา และสู้กันไปตามกระบวนการยุติธรรม คนที่ทำความผิดในประเทศไทย หรือทุกอย่างต้องปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศไทย รัฐบาลไม่ได้รังแกใคร ทุกอย่างดำเนินการผ่านคำสั่งศาลทุกอย่าง

นายพุทธิพงษ์เชื่อว่า Facebook จะไม่มีการฟ้องร้องรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า จากที่ผ่านมา 10 วัน ทาง Facebook และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้ความร่วมมือลบคอนเทนต์ที่ร้องขอทั้งหมด ทางรัฐบาลได้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนหากเกิดการฟ้องร้องก็ต้องรอดูว่าทางแพลตฟอร์มจะฟ้องร้องที่ไหน อย่างไร เพราะยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะดำเนินการตามกฏหมายซึ่งรวมถึงบริษัทต่างประเทศไม่มีการละเว้น

การลงทุนของ Facebook

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องการลงทุนของ Facebook โดยการเปิดสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งนาย พุทธิพงษ์ ระบุว่า การที่บริษัทข้ามชาติเลือกตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยนั้นเป็นสิทธิของบริษัทนั้น ๆ ซึ่งจริง ๆ แพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้นก็ไม่ได้ลงทุนแค่ในประเทศไทยเท่านั้น การตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนหรือถอน บริษัทนั้น ๆ จะต้องศึกษาสภาพแวดล้อมของประเทศไทยรวมถึงกฏหมายของไทยมาเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่คือช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยดูแลเรื่องการดำเนินการในประเทศไทยให้ การอยู่ภายใต้กฏหมายเดียวกันจะช่วยให้การดำเนินการสะดวกขึ้น

ผมเชื่อว่าถ้ากฏหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ อย่าว่าแต่ Facebook เลยครับ หลาย ๆ บริษัทก็คงไม่มาลงทุน การบังคับครั้งนี้ทำให้โลกรู้ว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ละเมิดสิทธิของใคร

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ประเด็นขัดต่อสิทธิมนุษยชน

นายพุทธิพงษ์ ตอบประเด็นนี้ว่า ขอขอบคุณ Facebook ที่กรุณาลบให้ ซึ่งตนเชื่อว่าหากเป็นการละเมิดจริง Facebook คงไม่ลบให้ โดยก่อนกำหนด 15 วันตามกฏหมายนั้น Facebook ลบให้ทั้งหมด 1129url ตามที่รัฐบาลได้แจ้งไป แสดงให้เห็นว่า Facebook เข้าใจกฏหมายไทย โดยการมีคำสั่งศาลนั้นช่วยให้ Facebook ดำเนินการได้เร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย

ทำไม Facebook ถึงมีรีแอกชันเช่นนี้?

หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่านี่คงไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลร้องขอให้ Facebook ปิดหรือลบเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ขัดต่อกฏหมาย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ Facebook ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไทยอย่างชัดเจน โดยตัวแทนของ Facebook ได้บอกกับ CNN ว่า Facebook เตรียมฟ้องร้องกับรัฐบาลไทยเนื่องจาก

หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบ เฟซบุ๊กจำเป็นต้องจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่รัฐบาลไทยมองว่าผิดกฎหมาย ซึ่งคำขอนี้ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล และกระทบสิทธิการแสดงออก เราจึงต้องปกป้องสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยเตรียมโต้แย้งทางกฎหมายกับคำขอนี้

Facebook

ซึ่งนาย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ตอบในประเด็นนี้ว่า เพราะครั้งนี้เราใช้คำสั่งศาล เราอ้างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ จากแต่ก่อนที่ Facebook ใช้เวลาจัดการมากกว่านี้ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการในบริษัทเยอะ ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งเพิ่มอีก 1,024 รายการ ก็ต้องรอระยะเวลา 15 วันตามกฏหมาย แบ่งเป็น

  • Facebook: 661 รายการ
  • YouTube: 289
  • Twitter: 69
  • เว็บอื่น ๆ: 5 รายการ

ซึ่งหากทางแพลตฟอร์มไม่ดำเนินการ ทางรัฐบาลก็ต้องดำเนินคดีทางกฏหมายตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 27 ซึ่งมีโทษปรับ 200,000 บาท และปรับเพิ่มวันละ 5,000 บาทต่อ URL ที่โดน จนกว่าจะจัดการเรียบร้อย

ส่วนใครที่อยู่ในกลุ่มต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาผิดกฏหมาย แต่ดูเฉย ๆ ไม่ได้โพสต์ หรือไม่ได้แชร์ต่อ ถือว่าไม่ได้มีความผิด เพราะไม่ได้นำเข้าข้อมูลที่ผิดกฏหมาย

อ้างอิง ไลฟ์แถลงการณ์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส