Apple เปิดตัว iPhone 12 พร้อมกับยกเลิกการแถมที่ชาร์จและหูฟังมาในกล่อง แถมเพียงสายชาร์จ USB-C to Lightning เท่านั้นด้วยเหตุผลว่าการหยุดแถมจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมบนโลกได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วการไม่แถมทั้งคู่มันดีสำหรับ Apple ในแง่ของธุรกิจ แต่ถ้าในแง่ของธรรมชาตินั้น… สุดท้ายคนก็ต้องซื้ออะแดปเตอร์และหูฟังเพิ่มอยู่ดี
Angelo Zino นักวิเคราะห์อาวุโสด้านอุตสาหกรรมของบริษัทวิจัยการลงทุน CFRA Research กล่าวว่า “Apple ขายสินค้าโดยระบุว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นผลประโยชน์ของบริษัทในแง่ของธุรกิจเช่นเดียวกัน”
การเข้าสู่ยุคของ 5G ทำให้ Apple โดนบีบต้องเปิดตัว iPhone 12 ที่รองรับ 5G อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Apple หาทางลดต้นทุนการผลิตลง ซึ่ง Zino ระบุว่า ชิ้นส่วน 5G นี่เองที่ทำให้ต้นทุนของ iPhone 12 สูงขึ้น เมื่อเทียบต้นทุนโดยรวมแล้วปีนี้ iPhone 12 จะมีต้นทุนที่สูงกว่า iPhone 11 อย่างน้อย 30-35% ซึ่งหากแถมหูฟังและที่ชาร์จ ทำให้กำไรต่อเครื่องนั้นน้อยลงกว่าเดิมนั่นเอง
Gene Munster จากบริษัท Loup Ventures กล่าวว่า นับว่า Apple นั้น Win-Win ในการเปิดตัว iPhone 12 เพราะนอกจากจะขายของได้แล้วยังได้ภาพลักษณ์เรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย โดย Apple ถือว่า ผู้ใช้งาน iPhone ที่เปลี่ยนมาใช้ iPhone เครื่องใหม่จะมีอุปกรณ์จาก iPhone เครื่องเก่าอยู่แล้ว นำมาใช้แทนกันได้เลย หรือหากผู้ใช้งานเลือกซื้อ AirPods ก็ยิ่งส่งผลดีต่อ Apple เข้าไปใหญ่ โดย Munster กล่าวว่า หาก Apple ขาย iPhone ได้เท่าเดิมที่ประมาณ 217 ล้านเครื่องซึ่งเป็นตัวเลขโดยประมาณการของยอดขาย iPhone และหากสามารถขาย AirPods ได้ราว 5% ของยอดขาย iPhone หรือประมาณ 10 ล้านเครื่อง Apple จะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 700 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
จริง ๆ แล้วการซื้ออุปกรณ์เสริมไม่ว่าจะหูฟัง อะแดปเตอร์ หรืออื่น ๆ กลับกลายเป็นสร้างขยะให้โลกมากกว่าเดิมโดยเฉพาะเรื่องขยะจากแพ็กเกจหรือบรรจุภัณฑ์ รวมถึงมลพิษที่เกิดจากการขนส่งด้วย ในขณะเดียวกันหากผู้ใช้งานไม่ซื้ออะแดปเตอร์ของ Apple แต่ไปซื้อของแบรนด์อื่นก็กลายเป็นช่วยเพิ่มขยะรวม ๆ กันอยู่ดี
อีกมุมหนึ่งที่ Apple มองว่าจะช่วยเรื่องโลกร้อนได้คือการทำแพ็กเกจของ iPhone ให้เล็กลง เมื่อแพ็กเกจเล็กลงแล้ว จะทำให้มีพื้นที่สำหรับบรรจุสินค้าและส่งได้มากขึ้น ทำให้จำนวนการส่งลดลงก็ถือว่าเป็นการลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าในการขนส่งทุกครั้งจะมีสินค้าอัดเต็มตลอด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตัวแทนจำหน่ายด้วย หากไม่มากก็ไม่เต็มคลังอยู่ดี
ทางแก้ปัญหาที่ดูจะยั่งยืนกว่าคือการทำให้สินค้านั้นสามารถกลับมาใช้อีกครั้งหรือซ่อมใหม่จะเป็นทางออกที่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า อย่างกรณีหูฟังไร้สาย AirPods ที่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าหูฟังแบบมีสายเนื่องจากอาศัยแบตเตอรี Lithium-Ion และไม่สามารถซ่อมได้ ต้องเปลี่ยนใหม่อย่างเดียวเพราะถูกออกแบบมาให้เปลี่ยนแบตเตอรีได้ยากมาก
ทั้งนี้ Apple ให้คำมั่นสัญญาว่าบริษัทจะปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 และยังมีการเปิดตัวหุ่นยนต์ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า “Dave” เพื่อแยกชิ้นส่วน iPhone เก่าและแยกวัสดุที่สามารถใช้งานได้อีกครั้งด้วย
เรียบเรียงจาก The Verge
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส