5. ปีแห่งของใหม่ (ที่ไม่ได้ใหม่) จาก Apple
4. ปีแห่งความสำเร็จในการเดินทางสู่อวกาศ
3. ปีแห่งการทำข้อมูลหลุด
2. ภัยไซเบอร์ “กระทบทั่วโลก”
1. ปีแห่งวิถีชีวิตใหม่ ความท้าทายใหม่ ๆ
1. ปีแห่งวิถีชีวิตใหม่ ความท้าทายใหม่ ๆ
- เชื่อว่าทุกคนที่ผ่านปี 2020 นี้ไป จะจดจำปีเลขสวยนี้ไปตลอดชีวิต เพราะ Covid-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทุกคน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเปลี่ยนไปตลอดกาลได้ไหม แต่ก็เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากกับ New Normal หรือวิถีชีวิตใหม่
- ซึ่งหลายเทคโนโลยีที่พูดถึงมาเป็นเวลานาน ก็ถูกจุดติดอย่างจริงจังในปีนี้ เพราะ “เราจำเป็นต้องใช้”
- ก่อนหน้านี้หลายบริษัทก็ไม่เชื่อว่าการ Work From Home นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ แม้ว่าเทคโนโลยีการประชุมทางไกล หรือการจัดการงานผ่านระบบ Cloud จะพัฒนาจนได้รับการยอมรับในองค์กรที่เน้นด้าน IT แล้ว แต่ด้วย Covid-19 ทำให้ทุกคนต้องทำงานแบบมีระยะห่าง
- ทำให้โปรแกรมประชุมทางไกลอย่าง Zoom หรือบริการทำงานเป็นทีมอย่าง Microsoft Team ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นทันที นี่ยังไม่รวมถึงโปรแกรมยอดนิยมอย่าง LINE หรือ facebook messenger ที่ปรับปรุงให้สามารถประชุม Video Call ได้เก่งขึ้นในปีนี้ด้วย
- ซึ่งโลกการทำงานหลังยุค Covid-19 ก็มีแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปในรูปแบบ Hybrid มากขึ้น คือผสมผสานกันระหว่างการทำงานในออฟฟิศแบบเดิม แต่มีทางเลือกให้ทำงานจากบ้านกันได้ง่ายขึ้น
- ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงออฟฟิศยุคใหม่ ที่ไม่ต้องมีขนาดใหญ่เท่าแต่ก่อนแล้ว เพราะไม่ต้องรองรับทีมงานทุกคนเข้ามาทำงานพร้อมกันในออฟฟิศเดียว แต่เป็นการสลับทีมงานบางส่วนให้เข้ามาทำงาน แต่อีกส่วนก็ทำงานอยู่บ้านไป
- แอปสั่งอาหารและ e-commence ก็เป็นเรื่องที่ถูกจุดติดในปีนี้ด้วย จากเดิมที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับโลกดิจิทัล แต่เมื่อ covid-19 บังคับให้ผู้คนไปซื้อของ ซื้ออาหารได้ยากขึ้น ก็ทำให้คนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคยกับบริการดิจิทัลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ และกลายเป็นความคุ้นเคยใหม่ๆ ทำให้ใช้บริการออนไลน์ผสมกับบริการแบบออฟไลน์เพิ่มมากขึ้น
- ซึ่งเรื่องเหล่านี้เองก็เป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่โลกธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ๆ แบบนี้ ซึ่งสำหรับคนไทยในหลายส่วนอาชีพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว การขนส่งต่างๆ ก็ต้องหาช่องทางปรับตัว เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้
- ในส่วนของ “เรื่องเล่นๆ” การที่เราต้องกักตัว พบเจอผู้คนได้น้อยลง ก็ทำให้เกิดกระแสความสนุกของ TikTok และ Nintendo Switch เป็นฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นมาในปีนี้
- และ facebook ก็ยังเพิ่มไอคอน “ห่วงใย” ให้เรา ซึ่งจะใช้กันบ่อยมากๆ ในปีที่ผ่านมา
- แม้ว่าเราจะจบปี 2020 กันอย่างไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในไทยยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็หวังว่าปี 2021 ก็น่าจะเป็นปีที่ดีขึ้นนะ
2. ภัยไซเบอร์ “กระทบทั่วโลก”
- ในปี 2020 นี้ถือว่าเป็นปีที่มีการใช้งานเทคโนโลยีกันอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนั่นหมายความว่า ภัยไซเบอร์ก็ได้ทวีความน่ากลัวมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกันตั้งแต่เรื่องของ iMessage ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเป็นข้อความแนวเชิญชวนให้คลิก Link แปลก ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก แม้แต่คนที่ไม่ได้เปิดรับ SMS จากฝั่งโอเพอเรเตอร์ก็ตาม
- เรื่องของ Message ปลอมที่ระบาดในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่แจ้งให้เราทำการลงทะเบียนหรือกดเพื่ออัปเกรดแอป SCB easy ของคุณ ซึ่งกลายเป็น Fishing ที่หลอกเอารหัสลูกค้าของ SCB ไปเพื่อขโมยเงิน ส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานจำนวนมาก และทาง SCB ก็รีบแก้ปัญหารวมไปถึงเยียวยาผู้เสียหายจากเหตการณ์นี้
- ซึ่งวิธีป้องกันคือ เราไม่ควรกด Link แปลก ๆ ที่ถูกส่งมาผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมไปถึงเพื่อนของเรา เพราะอาจจะเป็นไวรัสหรือมัลแวร์ก็เป็นได้ส่วนเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของ Ransomware ที่เข้ามาล็อกเครื่องของเราเพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Garmin ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งต้องเสียเงินค่าไถ่กว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับเคสนี้
- ส่วนในประเทศไทยก็มีเรื่องของโรงพยาบาลสระบุรีติด Ransomware จนไม่สามารถดึงเอาข้อมูลคนไข้มาใช้งานได้เลยและถูกเรียกค่าไถ่จำนวนหนึ่ง (ซึ่งไม่มีการเปิดเผยมูลค่า) ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าผลกระทบของภัยไซเบอร์ยังได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ๆ เลยครับ
3. 2020 ปีแห่งการทำข้อมูลหลุด
- ปี 2020 ถือเป็น “ปีแห่งการทำข้อมูลหลุด” บริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยอย่าง AIS, true, Eatigo, Wongnai, Lazada หรือในต่างประเทศอย่าง Microsoft, Zoom, Capcom, Razer, Nintendo ฯลฯ ต่างก็ตกเป็นข่าวเรื่องการทำข้อมูลหลุด
- เดือนมกราคม Microsoft ทำข้อมูลการซัพพอร์ตลูกค้า (Customer Service and Support – CSS) ระหว่างปี 2005-2019 จำนวนกว่า 250 ล้านรายการ หลุดออกมาโดยไม่ตั้งใจ
- เดือนมีนาคม บริษัทเดินเรือระดับโลก Princess Cruises และ Holland America ออกมาประกาศยอมรับว่ามีข้อมูลส่วนตัวของ พนักงาน ผู้เข้าพัก ลูกเรือ รั่วไหลจากการโดนแฮก
- เดือนเมษายน ผู้ให้บริการประชุมออนไลน์ อย่าง Zoom โดนโจรมือดี แฮกบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านกว่า 5 แสนชื่อ มาวางขายในขายในตลาดมืด และยังมีข้อความแช็ต รวมถึงรูปภาพที่หลุดมาพร้อมกันอีกด้วย
- และในเดือนเดียวกันนี้เองที่โรงแรมในเครือ Marriott ตรวจสอบพบว่ามีข้อมูลของแขกที่เข้าพักรั่วไหลกว่า 5.2 ล้านราย เช่น ชื่อ ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทร ฯลฯ แต่เชื่อว่าไม่มีข้อมูลการเงินของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ หรือมีการนำข้อมูลไปหาประโยชน์
- วนกลับมาที่ไทย ในเดือนพฤษภาคม AIS ผู้ให้บริการค่ายเขียวทำข้อมูลทราฟฟิกการใช้งานอินเตอร์เน็ต (DNS Querry) รั่วไหลออกมามากถึง 8,300 ล้านข้อมูลเลยทีเดียว แต่ข้อมูลนี้ “ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคล” เลยทำให้ผู้ใช้งานไม่ได้รับผลกระทบ
- นอกจากนี้แล้ว SkillsSelect แพลตฟอร์มจัดหางานของออสเตรเลียทำข้อมูลเกี่ยวกับผู้อพยพรวมถึงผู้ที่กำลังจะอพยพมาออสเตรเลียหลุดออกมาราว 7 แสนรายชื่ออีกด้วย
- เดือนมิถุนายน Nintendo โดนแฮกเกอร์เจาะข้อมูล ทำให้บัญชีผู้ใช้เครื่อง Switch กว่า 140,000 ราย หลุดออกไป ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์ข้อมูลหลุดไปแล้วกว่า 160,000 ราย รวมกันสองครั้งกลายเป็น 300,000 กว่ารายเลยทีเดียว
- เดือนพฤษจิกายน ถือว่าเป็นข่าวใหญ่เมื่อสำนักข่าว Reuters รายงานว่ามีข้อมูลส่วนตัวของคนไทยถูกวางขายในเว็บมืดกว่า 13 ล้านราย ประกอบด้วย ชื่อ, เบอร์โทร, อีเมล รวมถึงประวัตการซื้อและช่องทางการส่งสินค้า โดยข้อมูลทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า หลุดมาจากแพลตฟอร์มจัดการออเดอร์และสต็อกสินค้าชื่อดัง
- สังเกตได้ว่า ข้อมูลที่หลุดมาส่วนใหญ่จะเป็น “ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน” เช่น ชื่อ-นามสกุล เพศ อายุ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขบัตรเครดิต บัญชีธนาคาร ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ใช้งานโดยตรง ถ้าไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ อาจถูกนำไปในทางผิดกฎหมาย หรือ โจรกรรมทางการเงินได้
- โดยปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหลมีสองรูปแบบหลัก ๆ คือ “ความสะเพร่าในการจัดเก็บขององค์กร” และ “การถูกแฮกระบบโดยมิจฉาชีพ” ซึ่งอย่างแรกมักจะเกิดขึ้นค่อนข้างน้อยเพราะแต่ละองค์กรก็จะมีมาตรการดูแลอยู่แล้ว แต่ปัจจัยเรื่องโดนแฮกอันนี้จะมีให้เห็นบ่อยสุดเพราะว่า เหล่ามิจฉาชีพนั้นต้องการเจาะระบบเพื่อเอาข้อมูลไปขาย
- “ข้อมูลมีมูลค่ามากกว่าที่คิด” แจ๊กหม่าเคยกล่าวไว้ว่า ข้อมูลมีมูลค่าเทียบเท่ากับน้ำมันดิบ เพราะสามารถนำไปต่อยอดได้มากมาย เช่น เอาไปให้ AI เรียนรู้, เอาไปสร้างแคมเปญในการยิงโฆษณา รวมถึงสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้ รวมถึงยังเอาไปใช้โจรกรรมเงินในบัญชีด้วย แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานแน่นอน
- ปัจจุบันประเทศไทยมีการร่างกฏหมายกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลแล้วในชื่อ PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 แต่ทั้งนี้มีการเลื่อนการบังคับใช้ไปเป็น 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเราต้องดูกันอีกทีว่าจะพร้อมประกาศใช้เมื่อไร
- ถึงแม้กฏหมายยังไม่ประกาศใช้ แต่ทางภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งเฉย ทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องข้อมูลหลุด ก็จะมีการเรียกเข้าไปชี้แจง เช่น กสทช. ก็การเรียกผู้ให้บริการที่ทำข้อมูลหลุดออกมาชี้แจง และถ้าผิดจริงก็จะมีบทลงโทษตามมา”
4. “ปีแห่งความสำเร็จในการเดินทางสู่อวกาศ
- การเดินทางสู่อวกาศได้กลับมาคึกคักอีกครั้งในปี 2020 นำโดยภารกิจ Demo-2 ของยานอวกาศ Crew Dragon ในการส่งลูกเรือสนับสนุนขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ และยานสำรวจ Chang’e-5 (ฉางเอ๋อ-5) ของจีนที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
? ภารกิจ Demo-2 ความหวังของการท่องอวกาศเชิงพาณิชย์
- วันที่ 30 พฤษภาคม 2020 สองลูกเรือ Bob Behnken และ Doug Hurley ได้เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติด้วยยาน Crew Dragon ซึ่งมีการปล่อยตัวจากศูนย์อวกาศเคเนดีในรัฐฟลอริดาด้วยจรวด Falcon 9 เมื่อเวลา 02:22 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) ภารกิจในครั้งนี้นับว่าเป็นการส่งนักบินอวกาศจากแผ่นดินสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี
- ยาน Crew Dragon ที่บริษัท SpaceX ของ Elon Musk ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับ NASA มีความพิเศษคือ ‘บางชิ้นส่วน’ สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งหลังจากซ่อมแซมแล้ว ซึ่งจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ต้นทุนในการเดินทางสู่อวกาศถูกลง และอาจนำไปสู่การเดินทางในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต
- ในอดีต NASA มีโครงการที่เรียกว่า Space Transportation System (STS) หรือระบบการขนส่งอวกาศเพื่อลำเลียงนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศโดยใช้กระสวยอวกาศ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1981 โดยเป้าหมายของโครงการคือการพัฒนาการเดินทางด้วยกระสวยอวกาศที่คาดว่าจะนำ ‘บางชิ้นส่วน’ กลับมาใช้ได้ใหม่เพื่อลดต้นทุน แต่หลังจากการสูญเสียกระสวยอวกาศและลูกเรือไปหลายครั้ง บวกกับค่าใช้จ่ายต่อที่นั่งที่สูงถึง 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ทาง NASA จึงตัดสินใจยุติโครงการลงในปี 2011
- ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่าน NASA ได้ใช้บริการยานอวกาศ Soyuz ของรัสเซียในการเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก โดยมีค่าใช้จ่ายต่อที่นั่งเพียง 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเรื่องประหยัดต้นทุนนี้ส่งผลให้ลูกเรือของสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความยากด้านการควบคุมยานที่ใช้ภาษารัสเซียทั้งหมด บวกกับศักดิ์ศรีของ NASA และสหรัฐฯ ในฐานะที่เคยไปเหยียบดวงจันทร์เป็นชาติแรก การลดการพึ่งพารัสเซียจึงถือเป็นเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้ได้
- ต่อมาในปี 2014 ทาง NASA ได้คัดเลือก 2 บริษัทเอกชน คือ Boeing และ SpaceX เพื่อทำหน้าที่ขนส่งลูกเรือของสหรัฐฯ ไปและกลับจากสถานีอวกาศโดยใช้ยานอวกาศ CST-100 Starliner ของ Boeing ด้วยงบมูลค่า 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ Crew Dragon ของ SpaceX ด้วยงบมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติการพึ่งพารัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Commercial Crew
- หลังจากเหตุการณ์ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2020 พวกเราคงเห็นแล้วว่ายาน Crew Dragon ของบริษัท SpaceX ประสบความสำเร็จเพียงใด แต่ถ้ายังนึกภาพไม่ออก เราบอกได้แค่ว่าการเดินทางครั้งนี้ทำให้ NASA ประหยัดค่าใช้จ่ายต่อที่นั่ง โดยใช้เพียง 25 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง
- เมื่อเปรียบเทียบจากงบประมาณที่ให้ จำนวนเงินที่ประหยัดได้ ชิ้นส่วนยานที่นำกลับมาใช้ได้อีก (และอย่าลืมชุดอวกาศสุดเท่!) ทาง NASA และ Elon Musk คงแฮปปี้ไม่น้อยกับภารกิจ Demo-2 ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นจุดไปต่อของการเดินทางสู่ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และการท่องอวกาศเชิงพาณิชย์ต่อไป
? เมื่อมหาอำนาจในอวกาศไม่ได้มีแค่ 2 ประเทศ
- เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2020 ยานสำรวจ Chang’e-5 (ฉางเอ๋อ-5) ของจีนได้ลงจอดลงบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดย China National Space Agency (CNSA) หรือองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ได้เปิดเผยภาพความสำเร็จคือ ธงชาติจีนที่กางเด่นอยู่บนดวงจันทร์
- ยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 มีภารกิจในการเก็บดินและหินตัวอย่างจากดวงจันทร์ โดยใช้แขนหุ่นยนต์ในการเก็บ เมื่อเสร็จสิ้นและปิดผนึกตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว ยานก็ทะยานออกจากพื้นผิวดวงจันทร์ ในช่วงดึกของวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเดินทางไปยังจุดนัดพบและเข้าเทียบท่ากับยานโคจร และยานส่งกลับที่อยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งการเดินทางกลับนี้จะลงจอดที่อำเภอซื่อจื่อหวัง (Siziwang) ที่อยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียทางตอนเหนือของจีน
- หากภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ จีนจะกลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลกต่อจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ที่สามารถเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับโลกได้สำเร็จ ซึ่งนับว่าแสดงถึงความล้ำหน้าของเทคโนโลยีของชาติไปอีกก้าว
? เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ใช้ดีจนต้องร้องว้าว!
- บริษัท SpaceX ได้เริ่มทดสอบ ‘Starlink’ ซึ่งเป็นบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม โดยซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมทดสอบจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้า 499 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,600 บาท) สำหรับค่าเราเตอร์และเสาอากาศในการเชื่อมต่อใช้บริการ รวมทั้งจ่ายค่าบริการรายเดือนอีก 99 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,000 บาท) ทั้งนี้ ผู้ใช้จะได้รับอินเทอร์เน็ตความเร็วตั้งแต่ 50 Mbps ถึง 150 Mbps และมีความหน่วงแฝงที่ 20 มิลลิวินาทีถึง 40 มิลลิวินาที
- ผู้ใช้ Reddit เว็บ Social news ในสหรัฐฯ ชื่อบัญชี Wandering-coder ได้แบ่งปันประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม Starlink บริเวณป่าสงวนแห่งชาติของรัฐไอดาโฮ โดยได้ยืนยันว่าสามารถดาวน์โหลดข้อมูลด้วยความเร็ว 120 Mbps อัปโหลด 12 Mbps และมีเวลาแฝง 37 มิลลิวินาที
- นอกจากนี้ ผู้ใช้ Reddit คนเดิมยังได้นำอุปกรณ์ไปทดสอบในพื้นที่ที่บริการบรอดแบนด์มือถือ Google Fi โดยเครือข่าย T-Mobile และ U.S. Cellular มาไม่ถึง แต่เมื่อทดสอบอินเทอร์เน็ตด้วย Starlink เขาบอกได้เลยว่าทำงานได้ดีและวิดีโอคอลแบบเรียลไทม์ได้อย่างลื่นไหล
- แม้ NASA จะประกาศให้ปี 2021 ที่กำลังจะมาถึงเป็นปีแห่งอวกาศ แต่พวกเรา (ซึ่งน่าจะทั้งหมด) คงไม่ได้ไปอวกาศในเร็ว ๆ นี้แน่ การสัมผัสเทคโนโลยีอวกาศคงทำได้ผ่านการใช้เน็ต Starlink ไปก่อนนะ…
5. ปีแห่งของใหม่ (ที่ไม่ได้ใหม่) จาก Apple
- ปีนี้เป็นปีที่น่าสนใจสำหรับสาวก Apple จริง ๆ เพราะมีการเปิดตัวสินค้าและนวัตกรรมออกมาเยอะแยะมากมาย ซึ่งบางตัวก็เป็นของใหม่จริง ๆ อย่างเช่นชิป M1 นี่ก็เรียกได้ว่าเปลี่ยนยุคสมัยเลย แต่หลาย ๆ ตัวเนี่ย มานึกดูดี ๆ มันก็ไม่ได้ถึงกับใหม่มาก แค่เปลี่ยนกลับไปใช้ดีไซน์เดิมเฉย ๆ เป็นดีไซน์ใหม่ที่ไม่ใหม่ (อันนี้เพลงใหม่เก็ตสึโนวา?)
- iPad Pro รุ่นที่ 2 หลังจากรอมาสองปี ก็ได้เปิดตัว iPad Pro รุ่นที่ 2 พร้อมท้าชนโน้ตบุ๊กด้วยชิป A12 Z Bionic หน้าจอ Liquid Retina พร้อมจอนุ่ม ProMotion ปรับ Refresh Rate ได้สูงสุด 120 Hz มาพร้อมกับ Magic Keyboard ที่มี Track Pad และช่อง USB-C ให้อีกต่างหาก (และยังคงงอได้เหมือนเดิม)
- iPhone SE รุ่นที่ 2 ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เปิดตัวรุ่นที่สองของ iPhone SE แม้ดีไซน์จะเป็นแบบเดียวกับ iPhone 8 แต่ไส้ในถือว่าเทียบเท่า iPhone 11 เพราะใช้ ชิปเซ็ต Apple A13 Bionic เหมือนกัน กล้องหลัง (ตัวเดียว) ก็ 12 ล้านพิกเซลเหมือนกัน ที่เหนือกว่าก็คือ ยังคงมี Touch ID ให้เราสแกนนิ้วปลดล็อกเครื่องได้แม้ตอนใส่หน้ากากอนามัย!
- iPad Air 4 ถ้าอยากได้ iPad Pro แต่งบไม่ถึง iPad Air 4 ก็น่าจะตอบโจทย์ เพราะใช้ดีไซน์หน้าจอไร้ขอบและตัวเครื่องขอบเรียบเหมือนกัน ใช้ Apple Pencil 2 และ Magic Keybaord ได้เหมือนกัน และยังคงมี Touch ID แต่ย้ายไปไว้ที่ปุ่มเปิด/ปิดเครื่องแทน แต่ที่ว้าวจริง ๆ ก็คือคราวนี้เขาใช้พอร์ต USB-C แทน Lightning ด้วยนะ
- iPhone 12 / MagSafe / HomePod mini เรียกว่าเป็นไฮไลต์แห่งปีเลย กับดีไซน์ใหม่ (ที่ไม่ใหม่) ของ iPhone 12 ที่เหมือน iPhone 4 เด๊ะเลย คราวนี้เขาเปิดตัวซอยถี่ยิบ 4 รุ่น 3 ขนาด ตั้งแต่ iPhone 12 Mini รุ่นเล็กสุด iPhone 12 , iPhone 12 Pro และตัวท็อป iPhone 12 Pro Max ทั้งหมดใช้ CPU Apple A14 ขนาด 5 นาโนเมตร จอ Super Retina XDR ถ่ายวิดีโอ Dolby HDR รองรับ 5G แต่ดันไม่มี Touch ID ที่ปุ่มเปิด/ปิดให้มาซะงั้น และอย่างที่ทราบ ต่อไปนี้ Apple จะไม่ใส่ Adaptor และหูฟังมาให้ในกล่องอีกแล้วเพื่อความรักโลก อยากได้ก็ซื้อแยกจ้า (T T) ซึ่ง Apple ก็เลยเปิดตัวและเสนอให้ใช้ MagSafe ระบบชาร์จไร้สายแบบแม่เหล็กที่ชาร์จได้ไวถึง 15W แทนซะเลย นอกจากนี้ก็ยังมี HomePod mini ลำโพงอัจฉริยะรุ่นน้องของ HomePod ในราคาย่อมเยาแต่ประสิทธิภาพจัดเต็มอีกด้วย
- ชิปประมวลผล M1 หลังจากที่ Mac พึ่งพาอาศัยหน่วยประมวลผล X86 ของ Intel มาช้านาน คราวนี้ขอปลดแอก พัฒนาชิป M1 ที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM 5 นาโนเมตรแบบเดียวกับที่ใช้ใน iPhone ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม 3 เท่า ด้วย CPU 8-core และ GPU 8-core ที่มากกว่ารุ่นเดิมถึง 6 เท่า พร้อมทั้งเปิดตัว MacBook Air MacBook Pro และ Mac mini ซึ่งเป็น 3 ผลิตภัณฑ์แรกของ Apple ที่มีการใช้ชิปประมวลผล M1
- AirPods Max เป็น One more thing ก๊อกสุดท้ายปลายปีจริง ๆ กับ AirPods Max หูฟัง Headphone ของ Apple รุ่นแรกที่นำเทคโนโลยีจาก Airpod มาปรับใช้ สามารถใช้งานได้สูงสุด 20 ชั่วโมง มาพร้อมกับ Smart Case ที่เมื่อเก็บหูฟังเข้าไปแล้วจะเปลี่ยนเป็นโหมตพลังงานต่ำได้ด้วย กับราคาสุดพรีเมียมเพียง 19,900 เอ๊งงง
ข่าวที่น่าพูดถึง 1
ปีแห่งการล่ม! Google ล่ม, LINE ล่ม, messenger ล่ม, แบงค์ไทยล่มทุกเดือน, dtac ล่ม, Twitter ล่ม
- ในปี 2020 เป็นปีที่การสื่อสารหลากหลายแพลตฟอร์มเกิดปัญหา จนต้องการขาดการติดต่ออยู่ช่วงเวลานึง จนหลายคนเกิดอาการลงแดงสุด ๆ #beartai เลยขอรวมเรื่องล่มแห่งปี 2020 ที่เราตั้งชื่อว่า “ปีแห่งการล่ม!”
- เริ่มต้นตั้งแต่อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้งในประเทศไทยเกิดปัญหาไม่สามารถโอนเงินและชำระสินค้าข้ามธนาคารผ่านระบบพร้อมเพย์และเลขที่บัญชีจริงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ช่วงเวลา 16.30 – 17.30 น. และ 18.25 – 18.42 น จนทางธนาคารประเทศไทยออกแถลงการเรื่องสาเหตุที่ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากมีธุรกรรมสูงกว่าปกติ ทำให้ทุกธนาคารไม่สามารถใช้งานได้ในเวลาดังกล่าว
- ตามมาด้วยแอปพลิเคชันสนทนาอย่าง Facebook Messenger และ LINE ที่ล่มจนไม่สามารถส่งข้อความหรือรูปภาพได้อยู่ช่วงนึง แต่ทั้งคู่ไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูลของผู้ใช้รั่วไหลออกไป
- Google ก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัญหาโควต้าที่เก็บข้อมูลภายในของระบบเอง บริการต่าง ๆ ที่ต้องมีการใช้บัญชีหรือล็อกอินพบอัตราการทำงานที่ผิดพลาดสูง ทำให้เราไม่สามารถใช้บริการต่าง ๆ เช่น GMail , Google Drive , Google Office Suite และ YouTube เป็นเวลา 45 นาที จากทีมงานเข้าไปแก้ไขระบบสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
- แต่ที่ใกล้สุด และหนักหน่วงสำหรับผู้ใช้หลายคนที่สุดคือ DTAC ล่ม เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ “คนละครึ่งเฟส 2” จำนวนมาก ทำให้ผู้ใช้หลายรายไม่ได้รับรหัส OTP ที่ส่งผ่าน SMS จนนำไปสู่การเสียสิทธิ์ของผู้ลงทะเบียนและเกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์อย่างดุเดือด จนทำให้ลูกค้าบางส่วนเลือกที่จะย้ายค่าย
- อย่างไรก็ตาม ทาง Dtac ได้พยายามเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มแพ็กเสริมโทรฟรีในเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดนาน 3 เดือน หรือรับส่วนลดค่าเครื่อง 3,500 บาท สำหรับเครื่อง 5,000 บาทขึ้นไป ที่ดีแทคชอป ถือเป็นเรื่องส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าที่ใช้เครือดีแทคอยู่พอสมควร”
ข่าวที่น่าพูดถึง 2
Intel เจอศึกหนัก ทั้งจาก AMD และ Apple
- ดูจะหมดยุคสมัยของ Intel ที่ถือครองตำแหน่งมหาเทพแห่งวงการ CPU ไปเสียแล้ว เพราะตลอดปี 2020 ที่ผ่านมานี้ ผู้ท้าชนหน้าเดิมอย่าง AMD ยังคงทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีผู้ท้าชิงหน้าใหม่ไฟแรงอย่าง Apple M1 ที่ทำให้วงการชิปประมวลผลสั่นสะเทือน!
- นับตั้งแต่ที่ AMD Ryzen เปิดตัวในปี 2017 นั้น Intel ก็ต้องเจอกับนวัตกรรมของ AMD ที่กลบจุดอ่อนมากมายของ Intel ได้
- ทั้งกินไฟที่น้อยกว่าและความร้อนที่ออกมาน้อยกว่า ในราคาถูกที่เป็นมิตร
- ถึงขั้นที่ว่าในปี 2020 นี้ Linus Torvalds ศาสดาผู้สร้าง Linux ยังเลือกที่จะบอกลาผลิตภัณฑ์ชิปประมวลของ Intel หลังจากที่เปลี่ยนใช้มาหลายรุ่นในคอมส่วนตัวมากกว่า 15 ปี และหันมาใช้ AMD Ryzen แทน
- ในด้านของผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 AMD ก็ยังคว้าส่วนแบ่งบนตลาด CPU ไปได้สูงถึง 40% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีเลยทีเดียว
- ในขณะที่ทาง Apple ก็ได้เปิดตัวชิปใหม่ในชื่อ M1 ที่ต้องบอกว่ามีความก้าวหน้าสูงมาก ๆ เพราะมีการยัดเอาหลาย ๆ อย่างที่จำเป็นเอาไว้ในชิปเดียว ทั้ง CPU จำนวน 8 คอร์, GPU 8 คอร์, Neural Engine, DRAM และ Cache โดยเป็นชิปแบบสถาปัตยกรรม ARM ออกแบบบนขนาด 5nm ซึ่งทาง Apple ได้เคลมไว้ว่านี่คือชิปที่มีหัวคอร์เดี่ยวที่รวดเร็วที่สุดในโลก โดยคะแนนทดสอบจาก GeekBench 5 นั้น พบว่า MacBook Air รุ่นใหม่ที่ใช้ชิป Apple M1 สามารถทำคะแนน Single-core ไปได้ 1,678 คะแนน และคะแนน Multi-core ทำได้ 7,433 คะแนน ซึ่งแรงกว่า Intel Core i9 รหัส H9880 ที่ใช้ใน MacBook Pro 16 นิ้ว
- จากความก้าวหน้าของคู่แข่งทั้งสองก็ได้ส่งผลให้ Intel กำลังตกที่นั่งลำบาก ไม่ว่าจะรายได้ของบริษัทที่ลดลงไปถึง 4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2020
- และในแง่ของคู่ค้านั่นก็น่ากลัวไม่ใช่น้อย เพราะ Nvidia ที่เป็นพันธมิตรกันมาอย่างเนิ่นนานก็ได้เข้าซื้อบริษัท ARM ซึ่งทำให้สำนักสื่อและนักวิเคราะหลายเจ้าคาดการณ์ว่าค่ายเขียวอาจกำลังผลิต CPU เป็นของตัวเองเพิ่มเติม จากเดิมที่ทำ Tegra และเงียบๆ ไปในช่วงหลัง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส