วงการ เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) กำลังขาดแคลนชิปเซตอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ไม่ได้มีเพียงแค่ชิปเซตในสมาร์ตโฟนเท่านั้นที่ขาดแคลน แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมในอีกหลายภายส่วนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพีซี หรือแม้แต่อุตสาหกรรมการหล่อ ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันจากการขาดแคลนชิปเซต แล้วยังไม่มีแนวโน้มที่แน่ชัดว่า ว่าจะฟื้นตัวได้ช่วงไหน
เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน จากพิษการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตาม ผลักดันให้ผู้คนหลายล้านชีวิตหันมาเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมทั้ง การทำงาน การเรียน ความบันเทิง หรือการสังสรรค์ เป็นรูปแบบออนไลน์เป็นหลัก รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ที่จะมาขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ตลาดมีความต้องการชิปเซตมหาศาล
แต่ใครละที่จะคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ล่วงหน้าได้? ด้วยความต้องการชิปเซตพุ่งขึ้นเร็วเกินกว่าจินตนาการ ก็ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ผลิตชิปไม่ทันต่อความต้องการ ส่งผลให้ตลาดขาดแคลนชิปเซตในระยะสั้น จนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย และถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ววิกฤตในครั้งนี้จะได้รับการแก้ไขแน่นอน แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ใด ๆ เกิดขึ้น
อุตสาหกรรมยานยนต์
อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิปเซตสูงพอตัว เนื่องจากชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิตรถยนต์และรถบรรทุก ไม่สามารถทำงานได้ถ้าขาดชิป จึงทำให้ผู้ผลิตในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องหยุดชะงัก ทั้งนี้ ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) บริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกสัญชาติสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องหยุดการผลิต
บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เผยรายละเอียดเมื่อช่วงสิ้นเดือน มีนาคม ว่า ทาง ฟอร์ด มอเตอร์ จำเป็นต้องปิดไลน์การผลิตในโรงงานจำนวนมาก สาเหตุจากการขาดแคลนชิปเซต ทำให้ต้องลดกำลังการผลิตของรถกระบะรุ่น F-150 ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายก็รายงานถึงสถานการณ์ที่คล้ายกันแบบนี้
Stacy Rasgon นักวิเคราะห์ของ Bernstein กล่าวถึงความเห็นเกี่ยวกับการขาดแคลนชิปเซตสร้างผลถึงอุตสาหกรรมอื่นอย่างไร? ผ่าน MarketWatch ว่า ห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) หรือกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดสินค้าขึ้นมา อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดความผันผวนมากที่สุด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์น้อยลด เป็นเหตุให้ต้องยกเลิกคำสั่งซื้อทั้งหมด
แต่พอคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่กำลังจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก็ไม่ใช่ข่าวดีเท่าไรสำหรับวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะโรงงานกลับต้องเร่งผลิตชิ้นส่วนของส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีความต้องการสูงสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมไปถึงโรงงานที่เท็กซัสก็ประสบปัญหากับพายุหิมะอันหนักหน่วง จึงทำให้กระทบกับห่วงโซอุปทานโดยตรง แถมยังผู้ผลิตรถยนต์ก็ไม่สามารถเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไว้ในคลังได้มากนัก
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้เห็นอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนแปลงระบบการจัดการห่วงโซอุปทาน (Supply Chain Management) ยกใหญ่สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าปัญหาจะไม่จบพียงเท่านี้ Maribel Lopez นักวิเคราะห์ของ Lopez Research ยังกล่าวเสริมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์อีกว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะแต่ละชิ้นส่วนได้ผ่านการวิจัยมานานแรมปี ถึงจะได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย
อีกทั้งถ้าห่วงโซอุปทานขาด ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller) หรือที่เรียกว่า ชิปประมวลผล ที่คอยควบคุมเข็มขัดนิรภัย นักวิเคราะห์ Rasgon รับรองว่าเขาจะไม่มีทางผลิตรถยนต์คันนั้นแน่นอน ฉะนั้นแล้วอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากพอตัว เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ก่อนที่จะตัดสินใจตัดห่วงโซอุปทานบางอย่างทิ้งไป
แต่อย่างไรก็ดีเส้นทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในตอนนี้ก็ใช่ว่าจะมืดบอดทั้งหมด ล่าสุดบริษัทชิปเซตชั้นนำอย่าง อินเทล (Intel Corp) ได้ออกมาเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังเจรจากับทางบริษัทที่ออกแบบชิปสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในการเริ่มผลิต เพื่อช่วยแก้ปัญหาชิปเซตขาดตลาดในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับทางออกจากวิกฤตของอุตสาหกรรมยานยนต์
อุตสาหกรรมพีซี
วงการพีซีนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมพีซีที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกสูงจากพิษการแพร่ระบาดของโควิด เพราะบริโภคจำเป็นต้องปรับตัวกับสถานการณ์ รวมถึงต้องพึ่งพาอุปกรณ์พีซีในการทำงานที่บ้าน และเรียนออนไลน์ ส่งผลให้ยอดขายพีซีพุ่งสูงขึ้น โดย IDC (International Data Corporation) บริษัทให้คำปรึกษาและงานวิจัยระดับโลกคาดว่า ยอดขายพีซีจะเพิ่มขึ้นกว่า 18% ในปี 2021 โดยมียอดจัดส่งกว่า 357.4 ล้านชิ้น
ซึ่งก็กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ความต้องการพีซีระดับสูงเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกนานแค่ไหน เพราะ Stacy Rasgon นักวิเคราะห์ของ Bernstein ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ยอดประมาณการจัดส่งของข้อมูล IDC ในปี 2021 นับว่าสูงสุดในประวัติการณ์ ซึ่งมียอดการจัดส่งสูงกว่าสถิติที่ตั้งไว้ในปี 2011 ที่มียอดการจัดส่งอยู่ที่ 352.4 ล้านชิ้น
Rasgon ให้ข้อสังเกตุว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวตัวเขาเองก็จำเป็นที่ต้องซื้ออุปกรณ์พีซีเพิ่มขึ้นถึง 4 เครื่อง เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ถ้าพูดถึงสภาวะในปีนี้เขากลับไม่ต้องการซื้อพีซีเพิ่มอีกต่อไป จึงเป็นคำถามในใจของผู้ใช้งานอีกหลายคนว่าความต้องการซื้อพีซียังคงอยู่ในระดับสูงตามที่บริษัท IDC ได้คาดการณ์ไว้หรือไม่
อย่างไรก็ดีผู้ผลิต ซีพียู (CPU) ชิปประมวลผลสำหรับอุปกรณ์พีซี และไว้ใช้รวบรวมข้อมูลของระบบคลาวด์สาธารณะ บริษัทเจ้าตลาดก็ยังคงเป็น อินเทล และ เอเอ็มดี (AMD) ที่กำลังแข่งขันกันดุเดือด ส่วน จีพียู (GPU) ชิปประมวลผลกราฟิก ก็เป็น อินวิเดีย (Nvidia) และ เอเอ็มดี ที่ต่างได้รับผลกระทบเชิงบวกมหาศาล เนื่องจากได้รับความสนใจจากตลาดสูง ทั้งตลาดเกมคอนโซลรุ่นใหม่อย่าง PS5 (PlayStation 5) และตลาดขุดคริปโตฯ (Cryptocurrency)
ด้วยข้อได้เปรียบของจีพียูที่ว่า ไม่มีข้อจำกัดด้านอุปทาน (Not Supply-Constrained) แต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการผลิตเพื่อประกอบชิ้นส่วนนานเป็นพิเศษ จึงเป็นผลให้จีพียูตอนนี้อยู่ในสภาวะที่ขาดตลาด รวมถึงรายการสั่งซื้อก็ถูกจัดส่งอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นทางอินวิเดียจึงออกมายอมรับว่า สภาวะขาดตลาดเช่นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับทางอินวิเดีย
อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน
อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนถือว่าได้รับผลกระทบไม่น้อยจากปัญหาการขาดแคลนชิป ทาง ควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทซัปพลายเออร์รายใหญ่ออกมารายงานถึงสภาวะชิปเซตขาดตลาดว่า ถ้าไม่เกิดปัญหาด้านข้อจำกัดของอุปทาน รับรองได้ว่าทางบริษัทจะขายสินค้าได้มากขึ้นกว่านี้
แต่ถึงกระนั้นเอง สเตซี ราสกอน (Stacy Rasgon) นักวิเคราะห์ของ Bernstein กลับวิเคราะห์สถานะของอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนว่า ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนจะไม่ได้รับผลกระทบที่เลวร้ายมากนัก เพราะสัญญาณของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสมาร์ตโฟนเครื่องใหม่ดูอ่อนตัวลงกว่าเมื่อก่อน รวมถึงความจำเจของรูปแบบสมาร์ตโฟนที่มีความคล้ายกัน ผู้ใช้งานจึงอาจเห็นความจำเป็นที่ต้องอัปเกรดน้อยลง
ถึงแม้ว่าการเปิดตัวมาตรฐาน 5G ที่ผ่านมาไม่นานมานี้ ได้สร้างเสียงฮือฮาจากตลาดผู้บริโภคไม่น้อย แต่ความต้องการที่จะอัปเกรดสมาร์ตโฟนเป้น 5G ต่ำเอามาก ๆ จนแทบจะเป็น ‘ศูนย์’
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
โรงหล่อ (Fab) หรือที่รู้จักกันในนามอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นอุตสาหกรรมการผลิตชิปประมวลผลที่มีความซับซ้อนสูง ด้วยความละเอียดและแม่นยำระดับนาโนเมตร นับได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาชิปเซตขาดแคลนที่หนักห่วงสุด ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าโรงหล่อทั่วโลกได้เดินเครื่องการผลิตเต็มกำลังแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตให้ทันต่อคำสั่งซื้อที่ล้นหลามได้
ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงหล่อจำนวนมากก็ไม่นิ่งเฉยกับปัญหาก้อนโตที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจเพิ่มฐานการผลิตด้วยการลงทุนมูลค่า หลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายโรงงานและเพิ่มพื้นที่สำหรับคลังสินค้า แต่อย่างไรก็ดีดูเหมือนปัญหานี้จะไม่จบลงง่าย ๆ เพราะนอกจากจำเป็นที่ต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ก็ยังจำเป็นที่ต้องใช้เวลากว่า 2-3 ปี ในการสร้างโรงงานที่มีเทคโนโลยีสุดล้ำขนาดนี้
ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่สัญชาติไต้หวันอย่าง ทีเอสเอ็มซี (TSMC) วางแผนที่จะลงทุนในช่วง 3 ปี ข้างหน้าโดยใช้เงินลงทุนร่วมกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่บริษัท อินเทล เองก็มีแผนที่จะใช้จ่ายเงินกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออัปเกรดโรงผลิต และมีแผนที่จะขยายสาขาการผลิตไปสู่บริษัทภายนอก โดย ทีเอสเอ็มซี ตั้งเป้าจะช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอันดับแรก และคาดว่าปัญหานี้จะคลี่คลายในไตรมาสที่ 2
นอกจากนั้นสหรัฐฯ ก็ประกาศจะช่วยเหลืออุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มที่ โดยจะทุ่มเงินกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งให้อยู่ภายในประเทศ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างในภาคการผลิตก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงมาก ทั้งเรื่องการทำสงครามการค้ากับจีน และการแบนบริษัท หัวเว่ย (Huawei) อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ เผชิญความยากลำบากอยู่ขณะนี้ก็เป็นได้
เครดิต: Marketwatch, Brandbuffet, Keil-Cvi
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส