แม้ซีอีโอของ Apple อย่างทิม คุก (Tim Cook) ได้ประกาศว่า ข้อมูลของผู้บริโภคจะปลอดภัย แต่ศูนย์ข้อมูลของ Apple ที่กุ้ยหยางกลับต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน ทำให้ข้อมูลของผู้บริโภคชาวจีนจะไม่ปลอดภัยเหมือนที่ Apple เคยโฆษณาเอาไว้
New York Times ออกมาแฉว่า Apple ละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเอง โดยยอมประนีประนอมให้กับกฎหมายในประเทศจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของความปลอดภัยของผู้ใช้งานให้อยู่ในความเสี่ยง โดยได้มีการเผยแพร่เอกสารข้อมูลจากการสัมภาษณ์พนักงาน Apple และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจำนวน 17 คน ที่ทำงานอยู่กับ Apple ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นหลักฐานถึงการยอมลดมาตรการความปลอดภัยของบริษัทเพื่อรัฐบาลจีน
แม้ทิม คุกจะออกมาพูดบ่อย ๆ เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของ Apple ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัว แต่กลับพบว่า Apple ได้ทำให้ ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคชาวจีนตกอยู่ในความเสี่ยง อีกทั้งยังยินยอมทำตามรัฐบาลจีนในการคัดกรองบางแอปออกจาก App Store อีกด้วย ที่จริงแล้ว Apple ถึงขนาดยอมตัดประโยค “Designed by Apple in California” ออกจากฝาหลังของเครื่อง iPhone เลยทีเดียว
เมื่อคุณย้อนดูพฤติกรรมของรัฐบาลจีนที่ผ่านมา คุณจะไม่เห็นการขัดขืนใด ๆ จาก Apple เลย ไม่มีการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อหลักการที่ Apple อ้างว่าตัวเองยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น
นิโคลัส เบคิวลิน (Nicholas Bequelin) ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ Amnesty International (กลุ่มสิทธิมนุษยชน)
ที่น่าตกใจที่สุดคือ New York Times พบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีแอปพลิเคชันหลายหมื่นแอปฯ ที่หายไปจาก App Store เวอร์ชันสำหรับประเทศจีน ตัวอย่างชนิดของแอปฯ ที่หายไปได้แก่ ช่องข่าวต่างประเทศ แอปฯ เดทสำหรับเพศทางเลือก หรือแอปฯ ส่งข้อความเข้ารหัส เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการแบนแอปพลิเคชันเกี่ยวกับ การจัดการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงแอปฯที่พูดถึงดาไล ลามะ
ข้อมูลทางสถิติเผยว่าตั้งแต่ปี 2017 ถึงปัจจุบัน แอปพลิเคชันประมาณ 55,000 แอปฯ ได้หายไปจาก App Store เวอร์ชันประเทศจีน โดยมีแอปพลิเคชันประมาณ 35,000 แอปฯ ที่เป็นเกม ส่วนอีก 20,000 แอปฯ สามารถแบ่งประเภทได้อย่างกว้างขวางตั้งแต่แอปฯ ออกกำลังกายไปจนถึงแอปฯ ที่สอนท่วงท่าลีลาการร่วมเพศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและวิศวกรจาก Apple ให้ข้อมูลว่า การประนีประนอมของ Apple ทำให้ทางบริษัทไม่มีทางที่จะหยุดรัฐบาลจีนไม่ให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้เลย ทั้งอีเมล รูปภาพ เอกสาร ข้อมูลผู้ติดต่อ และตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้งานหลายล้านราย รัฐบาลล้วนสามารถเข้าถึงได้ทั้งสิ้น
Apple ออกมาตอบโต้ประเด็นดังกล่าวว่า บริษัทดำเนินการตามกฎหมายของจีนและทำทุกอย่างเพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานให้ปลอดภัย รวมถึงอธิบายว่า บริษัทยังคงเป็นผู้ควบคุมกุญแจที่ปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังได้ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดในการเข้ารหัสข้อมูล ส่วนเรื่องแอปพลิเคชัน ทางบริษัทจำเป็นต้องลบแอปฯ บางตัวออกไปตามที่กฎหมายของประเทศจีนกำหนด อย่างไรก็บริษัทยังคงเน้นความสำคัญในการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้อยู่ดี
ระบบ iCloud ของ Apple ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บข้อมูลส่วนตัว เช่น รายชื่อผู้ติดต่อ รูปภาพ หรืออีเมล ไว้ในศูนย์ข้อมูลของบริษัท iCloud สามารถสำรองข้อมูลทั้งหมดมาเก็บไว้ และยังเผยตำแหน่งอุปกรณ์ได้อีกด้วย โดยในตอนแรกข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ที่ศูนย์ข้อมูลของ Apple ที่อยู่นอกจากประเทศจีน แต่หลังจากการออกกฎหมายใหม่ของรัฐบาลจีน ซึ่งระบุว่า “ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำคัญที่เกิดขึ้นภายในประเทศจีนจะต้องถูกเก็บไว้ในจีนเท่านั้น” จึงเป็นสาเหตุที่ Apple ต้องย้ายเซิฟเวอร์เก็บข้อมูลมาอยู่ในประเทศจีนนั่นเอง
เพื่อสร้างความสบายใจกับผู้ใช้งาน Apple ออกมาประกาศว่า กุญแจเข้ารหัสยังคงถูกเก็บไว้กับบริษัท และมีเพียงบริษัทเท่านั้นที่สามารถควบคุมการใช้งานได้
อ้างอิง: New York Times
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส