ศาลสูงในอังกฤษเผยว่าชีค มุฮัมหมัด บิน รอชิด อาล มักตูม (Sheikh Mohammed bin Rashid al-Maktoum) เจ้าผู้ครองรัฐดูไบ รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้สั่งแฮกมือถือของอดีตชายา เจ้าหญิงฮายา บินท์ อัล ฮุสเซน (Haya bint al-Hussein) (ซึ่งเป็นพี่น้องต่างแม่ของกษัตริย์อับดุลเลาะห์ของจอร์แดน) และสมาร์ตโฟนของทีมทนายของพระองค์ เพื่อปฏิบัติการข่มขู่ในการต่อสู้ทางกฎหมายแย่งสิทธิ์เหนือลูก ๆ ของทั้งสองพระองค์
มุฮัมหมัดสมรสกับเจ้าหญิงฮายาในปี 2547 ก่อนจะหย่ากันในปี 2562 โดยทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 2 พระองค์ คือจาลิลา (Jalila) วัย 13 ปี และซาเยด (Zayed) วัย 9 ขวบ ทั้ง 2 พระองค์ได้ต่อสู้เพื่อชิงสิทธิ์การเลี้ยงดูบุตรมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่เจ้าหญิงฮายาลี้ภัยไปยังสหราชอาณาจักรพร้อมด้วยลูกทั้งสองคน
โดยค่าใช้จ่ายในการสู้คดีที่ผ่านมาของทั้ง 2 พระองค์เหยียบหลายล้านปอนด์ และมีทนายระดับแนวหน้าเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเคยมีรายงานว่าค่าใช้จ่ายของการอุทธรณ์ 1 ครั้งสูงถึง 2.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 115 ล้านบาท)
ในคำตัดสินระบุว่า มุฮัมหมัดได้ใช้ซอฟต์แวร์สอดแนมที่ชื่อว่า เพกาซัส (Pegasus) ที่บริษัท NSO ของอิสราเอลพัฒนาขึ้นในการแฮกโดยอาศัยช่องโหว่ของ iPhone โดยเป้าหมายเป็น iPhone จำนวน 6 เครื่อง ซึ่งเป็นของเจ้าหญิงฮายาและคนใกล้ชิด ในห้วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563
“ผลการสืบสวนได้สะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างถึงที่สุด” ผู้พิพากษาแอนดรูว์ แม็คฟาร์เลน (Andrew McFarlane) ประธานฝ่ายครอบครัวในอังกฤษและเวลส์ ระบุในคำตัดสิน
ผู้เชี่ยวชาญพบการดาวน์โหลดข้อมูลความจุอย่างน้อย 265 เมกะไบต์ไปจากมือถือของเจ้าหญิงฮายา ซึ่งเทียบเท่าได้กับบันทึกเสียงความยาว 24 ชั่วโมง หรือรูปถ่าย 500 รูป
คนที่ทำงานให้มุฮัมหมัดยังได้พยายามซื้อคฤหาสน์ใกล้กับที่อยู่ของเจ้าหญิงฮายาในกรุงลอนดอน ศาลจึงตัดสินขยายคำสั่งห้ามไม่ให้มุฮัมหมัดซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใกล้กับที่อยู่กับอดีตชายา
“ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สามารถเคลื่อนไหวไปข้างหน้าได้อย่างอิสระในสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ในขณะที่ข้าพเจ้าถูกไล่ล่าและรู้สึกถูกไล่ล่าอยู่ตลอดเวลา มันรู้สึกเหมือนกำแพงกำลังบีบเข้ามาเรื่อย ๆ จนทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถปกป้องลูก ๆ ได้ และไม่มีที่ไหนที่รู้สึกปลอดภัย ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนไม่สามารถหายใจได้อีกต่อไป” เจ้าหญิงฮายากล่าวต่อศาล
ในบรรดาคนที่มุฮัมหมัดสั่งให้แฮก ยังรวมถึงบารอนเนส ฟิโอนา แชคเคิลตัน (Baroness Fiona Shackleton) ซึ่งเป็นทนายของฮายา และเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาขุนนางของสหราชอาณาจักรที่เป็นผู้แทนของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Prince Charles) เมื่อครั้งที่หย่ากับเจ้าหญิงไดอาน่า (Princess Diana)
เชรี แบลร์ (Cherie Blair) ภรรยาของ โทนี่ แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร หนึ่งในผู้ถูกแฮก และยังเป็นที่ปรึกษาของ NSO พร้อมด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์จากกลุ่มเฝ้าระวังอินเทอร์เน็ต Citizen Lab แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต้ (University of Toronto) เป็นผู้แจ้งเตือนเจ้าหญิงฮายาและทนายของพระองค์ ถึงการแฮกที่เกิดขึ้น
ทนายของเจ้าหญิงฮายาระบุว่า NSO ยกเลิกสัญญากับทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทันทีเมื่อการแฮกถูกเปิดโปง ทางบริษัทยังระบุว่าจะมีการดำเนินการทันทีหากพบการใช้เพกาซัสในทางที่ผิด
มุฮัมหมัดไม่ยอมรับในคำตัดสินของศาล โดยระบุว่า “ข้าพเจ้าปฏิเสธข้อกล่าวหาต่อข้าพเจ้ามาโดยตลอด และจะยังคงปฏิเสธต่อไป” พระองค์ให้เหตุผลว่าคำตัดสินไม่ได้มาจากการเห็นภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และไม่เคยมีการเผยหลักฐานให้พระองค์หรือที่ปรึกษาของพระองค์ได้ทราบมาก่อน จึงถือว่าไม่เป็นธรรม
เขาพยายามนำบุตรทั้ง 2 คนที่เกิดกับเจ้าหญิงฮายาไปยังดูไบมาโดยตลอด แต่ก็ไม่เป็นผลหลังแพ้คดีในศาลสหราชอาณาจักรนับครั้งไม่ถ้วน อย่างในคำตัดสินล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 ตุลาคม) ระบุว่าลูก ๆ ของทั้งคู่ควรอาศัยอยู่กับแม่
ทั้งนี้ มุฮัมหมัดเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นว่าเป็นผู้นำดูไบไปสู่การเป็นศูนย์ทางเศรษฐกิจของโลก พระองค์ยังได้เคยประกาศว่าจะกู้ชื่อเสียงของดูไบในปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค
อย่างไรก็ตาม ศาลสูงของสหราชอาณาจักรได้เคยตัดสินว่ามุฮัมหมัดได้เคยสั่งลักพาตัวพระธิดา 2 คนที่เกิดจากชายาพระองค์อื่นไปกักขังและทารุณ โดยได้สั่งให้ลักพาตัวเจ้าหญิงชัมซา (Shamsa) ในวัย 18 ปี บนถนนเมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) ในอังกฤษ และพากลับไปยังดูไบในปี 2543 ต่อมายังได้ขอให้กองกำลังอินเดียจับตัวเจ้าหญิงลาติฟา (Latifa) พระขนิษฐาของเจ้าหญิงชัมซากลางน่านน้ำสากลนอกชายฝั่งอินเดียในปี 2561
ทั้งนี้ ทีมทนายของเจ้าหญิงฮายาได้แจ้งต่อสำนักงานต่างประเทศของสหราชอาณาจักร (British Foreign Office) ถึงกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว และสำนักงานตำรวจอยากที่จะรับฟังคำให้การของเจ้าหญิงฮายาและทีมทนายในฐานะเหยื่อต่อไป
ที่มา Reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส