บมจ. ทีโอทีได้มีจดหมายแจ้งดีแทคได้รับเลือกให้เป็นคู่ค้าทางธุรกิจเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างสัญญาทางธุรกิจ สำหรับให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในไทยที่จะนำเทคโนโลยีการสื่อสารชั้นนำของโลกล่าสุด 4G LTE-TDD มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile broadband) บนคลื่น 2300 MHz อันจะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ทั้งทีโอที ดีแทค ร่วมพลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย นำบริการ 4G LTE-TDD บนคลื่น 2300 MHz ให้คนดิจิทัลใช้เป็นครั้งแรกในไทยนี้ ทีโอทีและดีแทคเชื่อมั่นว่า จะสามารถลงนามในข้อตกลงภายในไตรมาสสี่ปีนี้ สร้างประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ และต่อยอดบริการดิจิทัลแก่ผู้ใช้งาน
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า “ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที มีมติเห็นชอบให้กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ โดยกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 กว่าแห่งให้ ทีโอที เช่าใช้งาน โดย บมจ.ทีโอที เป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายนี้ด้วยตนเอง และจะให้บริษัทในกลุ่มฯ ใช้บริการโดย บมจ.ทีโอที จะมีรายได้ ปีละ 4,510 ล้านบาท สำหรับการใช้งานโครงข่ายร้อยละ 60
โดยความสำเร็จครั้งนี้ บมจ.ทีโอที ขอขอบคุณรัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้การสนับสนุนดีลสำคัญในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจโดยการพัฒนาบริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ 4G LTE-TDD แล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างคุ้มค่า และเหนืออื่นใด สิ่งสำคัญ คือ การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมนำประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยประเทศไทยจะมีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัย ครอบคลุมประชากรมากขึ้น และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ก่อให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ”
นายมนต์ชัย กล่าวเพิ่มว่า “การร่วมมือระหว่าง ทีโอที และดีแทค จะนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งของประเทศและของทั้งสองหน่วยงานในการสร้างความเข้มแข็งและเติบโตให้กับทั้งสององค์กร โดย บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz จะขยายโอกาสให้ประชาชนได้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายมากขึ้น และรองรับกับความต้องการในการใช้ ข้อมูล (Data) ขนาดใหญ่ของตลาดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ด้วยจุดเด่นของบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งมีช่องสัญญาณที่กว้างถึง 60 MHz สามารถให้บริการดาวน์โหลดได้ถึง 300 Mbps โดยในอนาคต ทีโอที มีแผนที่จะนำไปขยายเพื่อให้บริการให้พื้นที่ห่างไกลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ”
การให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ด้วยเทคโนโลยี 4G LTE-TDD เป็นการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยจุดเด่นคือ ผู้ให้บริการมีความยืดหยุ่นในการจัดสรรสัดส่วนช่วงคลื่นการรับและส่งข้อมูลตามพฤติกรรมการใช้งาน ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักนิยมดาวน์โหลดข้อมูลและวิดีโอ มากกว่าอัปโหลด ด้วยเทคโนโลยี LTE-TDD จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการสามารถจัดสรรช่องสัญญาณเพื่อรองรับการดาวน์โหลดให้มากกว่าช่องสัญญาณอัปโหลด หากผู้ใช้งานเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน ผู้ให้บริการก็สามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรช่องสัญญาณได้ตามต้องการ ทั้งนี้ จากรายงานของ GSMA Intelligence ระบุว่า LTE-TDD เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่า ส่วนแบ่งตลาดของเทคโนโลยี LTE-TDD จะเพิ่มขึ้นเป็น 22% ของการเชื่อมต่อบนเทคโนโลยี LTE ทั้งหมดทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563
ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า “ความร่วมมือระหว่างดีแทคและทีโอทีที่จะเปิดให้บริการไร้สาย 4G LTE 2300 MHz บนแถบคลื่นที่กว้างถึง 60MHz ซึ่งเป็นแบนด์วิดท์บนคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย จะยกระดับประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโมบายล์บรอดแบนด์ของผู้ใช้งานดิจิทัลไปอีกขั้น และยังเปิดมิติใหม่ในการพัฒนาการสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมครั้งใหญ่ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้การใช้งานดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก”
ดีแทคและทีโอทีจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างสัญญาทางธุรกิจ โดยดีแทคเชื่อมั่นว่า ทั้งดีแทคและทีโอทีจะสามารถบรรลุข้อตกลงและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมดภายในไตรมาสสี่ของปีนี้
ทั้งนี้ ดีแทคและทีโอทีเมื่อสามารถบรรลุกระบวนการจัดทำร่างสัญญาทางธุรกิจ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยขยายโครงข่ายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ครอบคลุมประชากรร้อยละ 80 ของประเทศ เพื่อสนับสนุนแผนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมทั้งยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ