เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz ที่ดีแทคถือครองอยู่นั้นจะสิ้นสุดลง ก่อนหน้านี้ ทางกสทช. ได้ออกมาสงวนท่าทีในการอนุมัติแผนการเยียวยา และความคุ้มครองผู้ใช้งานที่ยังอยู่ภายใต้คลื่นความถี่ดังกล่าว
ล่าสุด ดีแทคได้เปิดพื้นที่สื่อ ชี้แจงและอธิบายถึงขึ้นตอนของการเตรียมความพร้อม ในการเยียวยาผู้ใช้งานที่จะได้รับผลกระทบหลังจากที่คลื่นความถี่ 850 MHz จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ โดยการนำทีมของนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นายราจีฟได้กล่าวว่า นับเป็นความรับผิดชอบของดีแทคในการต่อสู้เพื่อลูกค้า โดยในปี 2559 ดีแทคได้เรียกร้องให้มีการจัดประมูลคลื่นล่วงหน้า (Early auction) ตลอดจนแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap)
ซึ่ง กสทช.ได้จัดการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานล่วงหน้าเพียง 2 เดือน นอกจากนี้ ด้วยเงื่อนไขและสถานการณ์ที่แตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างทางเทคนิคระหว่างคลื่น 900 MHz และ 850 MHz ซึ่งในทางปฏิบัติต้องใช้เวลาประมาณ 24 เดือนเพื่อเปลี่ยนถ่ายอุปกรณ์ใหม่จำนวนมากกว่าหมื่นแห่ง
นอกจากนี้ เพื่อปฏิบัติตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ของ กสทช. เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม ซิมไม่ดับและมั่นใจในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดีแทค และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้ากรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ต่อ กสทช. ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช. ได้เคยอนุมัติการเยียวยาแก่ผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของดีแทคเป็นระยะเวลา 9 เดือน และ 26 เดือน อย่างไรก็ตาม กรณีของดีแทคที่กำลังจะหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz ลงในวันที่ 15 กันยายนนี้ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขในการได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ หากดีแทคเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ตามมติ กสทช. วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประกาศมาตรการเยียวยาของ กสทช.
ในขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งยังไม่ได้นำส่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ซึ่งดีแทคพูดเสมอว่าเรายินดีที่จะชำระค่าใช้คลื่นในช่วงที่เข้าสู่มาตรการเยียวยาฯ
ขณะที่เหลืออีกเพียง 9 วันก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ดีแทคจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ดังกล่าว เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้าดีแทคในการใช้งานคลื่น 850 MHz โดยปัจจุบัน ดีแทคมีลูกค้าในระบบสัมปทานกับ CAT จำนวน 90,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าดีแทคไตรเน็ต หรือ DTN อีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Domestic Roaming) บนคลื่น 850 MHz ทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการใช้งานของลูกค้า กสทช. ดีแทค และ CAT จำต้องร่วมรับผิดชอบในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ของ กสทช.
ก่อนหน้าที่จะจัดแถลงข่าวในครั้งนี้นั้น ในช่วงเช้า บอร์ดบริหารของดีแทคได้เดินทางไปยังศาลปกครองกลาง ยื่นขออำนาจศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz ที่ถือครองอยู่นั้น ไม่ให้สิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ดีแทคได้มองว่าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว รายได้หลังจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองชั่วคราวนั้น จะนำส่งให้กับทางรัฐหลังจากหักค่าใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่า รัฐไม่เสียผลประโยชน์ใดๆ เลย และในทางกลับกัน หากไม่มีคำสั่งดังกล่าวออกมา ความเสียหายจะเกิดขึ้น ทั้งระดับภาครัฐและในกลุ่มผู้ใช้งาน ดีแทคจึงมองว่า การคุ้มครองชั่วคราวในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย
ถึงแม้ว่ายังอยู่ในช่วงรอคำสั่งศาล แต่ทางดีแทคไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังได้เตรียมมาตรการในการคุ้มครองลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบ โดยจะทำการแจ้งไปยังลูกค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบดังกล่าวนี้ให้ทราบ นอกจากนี้ ยังได้เร่งขยายเสาสัญญาณคลื่นดีแทคเทอร์โบ (ความถี่ 2300 MHz ที่ได้รับจากทีโอที) ความกว้างของแบนด์วิดท์มากถึง 60 MHz ครอบคลุมถึง 40% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 1800 MHz นอกเหนือจากนี้ ยังได้เร่งขยายโครงข่ายคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 850 MHz รวมไปถึงย้ายลูกค้าที่ยังใช้งานซิมดีแทคจำนวน 340,000 ราย ให้มาใช้งานซิมของ DTN ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาต
นอกจากการเพิ่มความสามารถของระบบโครงข่ายและการย้ายลูกค้าแล้วนั้น ดีแทคยังได้จัดทีมงานขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ และยังจัดกลุ่มลูกค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลังจากนี้ โดยที่ลูกค้าจะได้รับข้อเสนอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟรีอินเทอร์เน็ตดาต้า และค่าโทรฟรี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลกระทบที่แต่ละคนจะได้รับ
โดยดีแทคได้แบ่งกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
กลุ่มที่ 1: ใช้ซิมจดทะเบียนดีแทคซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิม
ผลกระทบหลังจากนี้คือซิมดับ ไม่สามารถใช้งานได้ ในแนวทางแก้ไขคือ ให้ทำการเปลี่ยนซิมดีแทคเป็นซิม DTN ที่ศูนย์บริการดีแทค โดยสามารถตรวจสอบสถานะการใช้งานได้ด้วยการกด *444# แล้วโทรออก นอกจากจะได้รับซิมใหม่ฟรี ยังจะได้รับข้อเสนอพร้อมมือถือราคาพิเศษ
กลุ่มที่ 2: ใช้มือถือแบบปุ่มกด หรือฟีเจอร์โฟน ที่รองรับคลื่นความถี่ 1800 MHz และจดทะเบียนซิม DTN
ผลกระทบในกลุ่มผู้ใช้งานนี้จะไม่เกิดขึ้น และยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ ลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวจะยังได้รับข้อเสนอในการซื่อมือถือราคาพิเศษ ซึ่งรองรับการใช้งานในคลื่นดีแทคเทอร์โบ
กลุ่มที่ 3: ลูกค้าอยู่ในบางพื้นที่ อาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการใช้งาน
กลุ่มผู้ใช้งานในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยมาตรการคุ้มครองของลูกค้ากลุ่มนี้ก็คือ จะได้รับอินเทอร์เน็ตดาต้าฟรี และโทรฟรี ครอบคลุมลูกค้าที่ใช้งานในรูปแบบเติมเงิน และแบบรายเดือน ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบการใช้งานได้ที่หมายเลข *777# โทรออก (เลขหมายดังกล่าวจะเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน เป็นต้นไป)
อย่างไรก็ตาม ดีแทค ขอแนะนำให้ลูกค้ามาใช้บริการบนคลื่น 2300 MHz ดีแทคเทอร์โบ ซึ่งสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ลื่นขึ้น โดยดีแทคกำลังเร่งขยายโครงข่าย 2300 MHzให้ครบทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานบนคลื่น 2300 MHz ได้อย่างมีประสิทธิภาพในกลางปี 2562 ลูกค้าที่สนใจและอยู่ในพื้นที่ให้บริการสังเกต dtac-T เช็คความพร้อมที่โทร. *2300# และ www.dtac.co.th/network สามารถติดตามความคืบหน้าได้ที่ www.dtac.co.th/network