ดีแทคจับมือเอ็มวิชั่น และบุญเติม เปิดตัวแพลตฟอร์มจักรยานยนต์ไฟฟ้า EV ชูจุดเด่นลดมลพิษ พร้อมทั้งขยายธุรกิจที่เป็นมากกว่ามือถือ พร้อมจำหน่ายจริงมิถุนายนนี้
dtac ทำอะไรกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม EV Connectivity จะเป็นผู้ที่เชื่อมโยงผู้ผลิตรถไฟฟ้า EV บริษัทประกัน บริษัทเช่าซื้อและสถาบันการเงินและสินเชื่อ บริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่หลายจุดทั่วกรุงเทพฯ บริการการรับชำระเงินผ่านระบบบิลลิ่งของดีแทคและพันธมิตร รวมถึงบริการซ่อมบำรุงหลังการขาย ทั้งหมดนี้เพื่อมอบความสะดวกสบายในการใช้งานของลูกค้า ซึ่งเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ผ่านการเชื่อมต่อของซิมดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นหัวใจในการเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชัน ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า EV
โดยบริการทั้งหมดได้ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกันผ่านแอปพลิเคชั่นเดียว ที่ให้ความสะดวกและความคุ้มค่า ที่นอกเหนือจากการใช้งานบนฟีเจอร์การขับขี่ปกติ เช่น เช็คสถานะแบตเตอรี่ ชำระค่าเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ การแจ้งระยะทางและระบบอำนวยความสะดวกในการค้นหาเส้นทางการเดินทาง ระบบกันขโมย การกำหนดความเร็วสูงสุด แล้วยังสามารถชำระค่าเช่าซื้อ การรับประกันได้อีกด้วย นอกจากนี้ ดีแทคและกลุ่มพันธมิตรยังจัดเตรียมความพร้อมด้านบริการหลังการขายและการซ่อมบำรุงอย่างครบวงจร
ในเฟสแรก ดีแทคและฟอร์ทสมาร์ท ร่วมกันเปิดจุดบริการชาร์จไฟฟ้าและเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านตู้อัจฉริยะในพื้นที่ทดลองให้บริการในกรุงเทพฯ และจะขยายจุดบริการเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต ส่วน เอ็ม วิชั่น เป็นตัวกลางประสานงานกับผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยดีแทคพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ ที่จะเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อช่วยผลักดันให้ไทย เกิดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม EV ในเฟสต่อไป
หนึ่งในเป้าหมายของ dtac คือแก้ไขปัญหามลพิษ
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ปัญหามลพิษ ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า EV ที่นอกเหนือจากจะช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางการอากาศอย่างยั่งยืน ดังเช่น หลายเมืองในสาธารณรัฐประชาชนจีนรณรงค์ให้ประชาชนใช้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า อันเป็นกลยุทธ์สำคัญของแผนการพัฒนาเมืองที่กำลังเติบโต…
…การใช้รถไฟฟ้าอย่างแพร่หลายยังสามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อสิ่งแวดล้อมของไทยได้ สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ EV นโยบายทางภาษี ในการผลิต EV ในประเทศไทย”
ทำไมดีแทคต้องก้าวเข้ามาสู่เรื่องราวของ Electric Vehicle หรือ EV
ต้องบอกก่อนว่าก่อนหน้านี้ ดีแทคได้ทดลองทำโครงการที่เกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้มาหลายต่อหลายโครงการ หลังจากนั้นมาดูกันว่าปัญหาที่มีอยู่นั้น มันคืออะไร จึงพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือฝุ่น และมลภาวะ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ดีแทคได้จับมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้นำในแต่ละด้าน มาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่มี และผลัดกันให้เกิดสมาร์ทซิตี้ให้เกิดผลสำเร็จ นอกเหนือจากนี้ ดีแทคได้มองว่าต้องการที่จะเป็นมากกว่าผู้ที่ให้บริการโครงข่ายและบริการมือถือ จึงต้องการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ทั้งสองอย่างนี้จะดูไม่เข้ากันก็ตาม แต่ก็ไม่ได้แยกออกจากกันเลย
ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม EV Connectivity ของดีแทคจะได้ประโยชน์ในการใช้งานที่สำคัญดังนี้
- ช่วยประหยัดค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ได้มากกว่าจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน โดยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าถึง 50%
- สะดวกสบาย ด้วยการมีแอปพลิเคชัน ในการควบคุม ขับขี่ได้ง่าย ไม่เกิด ฝุ่นควันพิษ ไม่มีเสียงดัง บำรุงรักษาง่าย รวมถึงสามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้บนแอปพลิเคชั่นเดียว
- มีพันธมิตรผู้ผลิตหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ ทั้งจากผู้ผลิตแบรนด์จีน และยุโรป ที่พร้อมใช้ด้วยแอปพลิเคชันเดียวกัน
“การให้บริการแพลตฟอร์ม EV connectivity ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรก ในการขยายธุรกิจ ที่เป็นมากกว่าผู้ให้บริการมือถือ ของดีแทค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการกลับมาเติบโตในธุรกิจอีกครั้ง” – อเล็กซานดรา ไรช์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด (มหาชน)
ปิดท้ายที่นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART กล่าวว่า “ในนามของ FSMART และบริษัทในเครือมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือครั้งนี้ โดย FSMART และบริษัทในเครือจะเข้าไปดูแลในส่วนของการให้บริการสถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าผ่านตู้อัจฉริยะที่เตรียมให้บริการในอนาคต ตามสถานที่และจุดบริการต่างๆ อาทิ แหล่งชุมชน สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยอาศัยจุดแข็งการบริหารจัดการด้านทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม พร้อมขยายจุดให้บริหารจากตัวแทนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ จากการพัฒนาที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ในรูปแบบการติดตั้งบริเวณออฟฟิศ คอนโด (Station) และการติดตั้งในบ้านพักอาศัย (Wall type) และเตรียมติดตั้งเพื่อให้บริการตามสถานที่ต่างๆในปีนี้
สำหรับการให้บริการชาร์จไฟฟ้าและเปลี่ยนแบตเตอรี่ในครั้งนี้ นอกจากบริษัทฯจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐเพื่อลดปัญหาทางด้านมลพิษทางอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อม ยังเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจหลักของบริษัทฯที่มุ่งเน้นในการเพิ่มความสะดวกให้กับทุกชมชน ตลอดจนสรรหาและพัฒนารูปแบบบริการให้มีคุณภาพและหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด
รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายใต้แพลตฟอร์มของดีแทค จะเริ่มทำตลาดเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน โดยจะมีรุ่นที่เข้าร่วมเบื้องต้น 3-5 รุ่น โดยดีแทคมีแผนที่จะวางจำหน่าย รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้
และพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการครอบครองโดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงเดือนมิถุนายน ทางดีแทคได้นำมาจำหน่ายภายในงาน จำนวน 200 คัน ในราคาพิเศษ 75,000 บาท จากราคาจำหน่ายปกติ 95,000 บาท ท่านใดที่สนใจอยากจะยลโฉมและสอบถามข้อมูล สามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่ของบูธดีแทค ภายในงาน Thailand Mobile Expo 2019 ได้ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ไบเทคบางนา (ฮอลล์ 98)