ถ้าพูดถึงเรื่องการทำอาชีพเดียวไปตลอดชีวิตมีน้อยคนนักที่จะทำได้ แม้จะรักอาชีพที่ทำมากน้อยแค่ไหน แต่ก็อาจจะต้องลาจาก ด้วยหลากหลายปัญหาที่ผ่านเข้ามา ทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหนึ่งคนที่สามารถก้าวผ่านทุกปัญหา และยืนอยู่ในอาชีพเดียวผ่านกาลเวลาถึง 22 ปี คนนั้นคือ ‘คุณหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’
ในบทความนี้สรุปเนื้อหาจากเวที Main Stage งาน CTC2022 ในหัวข้อ ‘One Life One Job: 22 Years Of Untold Business Lesson’ วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2565
พี่จอห์นเป็นเจ้านายตลอดกาลของผม ถ้าไม่มีพี่ จอห์น รัตนเวโรจน์ ในวันนั้น ก็ไม่มีหนุ่ย-แบไต๋ในวันนี้
หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ @ CTC 2022
จุดเริ่มต้นของ คุณหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เกิดขึ้นในปี 1994 หลังจากได้ชนะรายการประกวดแสดงความสามารถ พร้อมคว้าเงินรางวัล 1 ล้านบาทมาครอบครองได้ครั้งแรกในชีวิต เงินจำนวนนั้นก็ถูกเอาไปจับจ่ายซื้อสิ่งของต่าง ๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘คอมพิวเตอร์เครื่องแรก’ ที่เป็นเข็มทิศชี้ทางสู่โลกไอที หลังจากนั้นก็ได้ก้าวขาสู่สังคมออนไลน์ และเริ่มศึกษาเรื่องไอที จนได้ไปเป็นพิธีกรในงาน ICQ Party หลังจบงานก็ได้รับโอกาสจาก คุณจอห์น รัตนเวโรจน์ ให้ไปเป็นพิธีกรรายการไอทีในโทรทัศน์ครั้งแรกในไทย
อยากอยู่กับงานที่รักไปยาว ๆ ต้องทำอย่างไร ?
คุณหนุ่ย-พงศ์สุข ได้แชร์แนวคิดที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการทำอย่างไรถึงจะอยู่ในอาชีพที่รักได้นาน ๆ ไว้ด้วยกัน 4 หัวข้อ
- ค้นหาซับเซต (Subset) ของตัวเองให้เจอ
หนึ่งสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เรายังอยู่ในอาชีพที่รักได้นานคือ ‘ซับเซต (Subset)’ ในงานที่ทำอยู่ ซึ่งแต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน สำหรับคุณหนุ่ยเลือกเป็นพิธีกรที่พูดเกี่ยวกับไอทีและเทคโนโลยีอย่างเดียว แถมยกตัวอย่างแบบติดตลกว่า ถ้าเป็นกราฟิกดีไซน์อาจมีซับเซต (Subset) เป็นกำหนดส่งงาน (Deadline) แต่สำหรับบางคนคือแรงบันดาลใจ (Inspiration) จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เชื่อว่า ‘รายได้ที่ดี’ ก็เป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้คนอยากอยู่กับอาชีพที่รักไปนาน ๆ
- ดูแลตัวเองให้ดี
เรื่องสุขภาพและการดูแลตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แต่ก่อนคุณหนุ่ยเคยน้ำหนักเยอะ เพราะเกิดจากความเครียดสะสมแล้วไประบายออกด้วยการกิน แต่หลังจากที่มาทำรายการออนไลน์ก็เริ่มหันมาควบคุมน้ำหนัก และตัดการกินน้ำตาลเลยทำให้น้ำหนักลดลงและสุขภาพดีขึ้น
- ต้องปรับตัวให้ทัน ในวันที่โลกเปลี่ยนไป
คุณหนุ่ยแชร์ให้ฟังว่าเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าอาชีพพิธีกรจะอยู่ได้ตลอดไปไหม ในวันที่ทุกอย่างเปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ? แล้วก็ได้คำตอบว่า ถ้าอยากเป็นพิธีกรไปนาน ๆ จำเป็นต้องมีรายการเป็นของตัวเอง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีรายการไอทีเยอะเหมือนปัจจุบัน ก็ทำเอง พอทำก็ทำแบบ ‘บ้าเลือด’ ทำทุกสิ่งให้อลังการ ทั้งการสร้างเกม ออกหนังสือ จัดงานอีเวนต์ จัดรายการ แน่นอนว่าบางครั้งก็ขาดทุน จากต้นทุนแฝงที่มองไม่เห็น
แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ อยู่ในช่วงทีวีดิจิทัล ที่ได้ตัดสินใจก็กระโดดเข้าไปผลิต 12 รายการส่งให้กับ 6 ช่องทีวี แม้จะมีคนดูมากมายเรื่องรายได้กลับขาดทุนจนต้องปิดหลายรายการลง และย้ายกลับมาสร้างสตูดิโอที่บ้านด้วยเงินก้อนสุดท้าย แต่ถึงอย่างนั้นโลกก็ยังหมุนต่อ คุณหนุ่ยเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นลู่ทางไหมก็เลยทำการ Media Transformation เปลี่ยนผ่านมาเป็นสื่อในโลกออนไลน์
พอมาทำสื่อออนไลน์ ก็ต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดและรูปแบบการทำงานให้เข้ากับยุคสมัย จากแต่ก่อนที่เคยกล่าวสวัสดีหรือต้องมีไตเติลเกริ่นก่อนเข้ารายการ ทั้งหมดก็ตัดออกไปเพื่อให้กระชับและเข้าเนื้อหาได้ทันที และปล่อยคอนเทนต์ตามโซเชียลต่าง ๆ เช่น LINE, Facebook, YouTube, Twitter รวมถึงใช้ข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์เพื่อเสิร์ฟเนื้อหาสาระให้ตรงกลุ่มคนดู และเปลี่ยนโลโก้ให้เป็นภาษาอังกฤษเพื่อสร้างการจดจำใหม่
- ส่งต่อคุณค่าผ่านงานที่ทำ
ต้องยอมรับว่ายุคนี้หลายคนทำงานแล้วลืมเรื่องคุณค่าของการทำงานไป ยกตัวอย่าง สื่อที่ต้องเอาตัวรอดด้วยการเสิร์ฟคอนเทนต์ที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ให้คนดู แน่นอนว่าถ้าทำนาน ๆ เข้า คุณค่าในงานที่ทำอาจจะหายไป เพื่อที่จะอยู่กับงานที่รักให้ได้นาน ๆ การหาคุณค่าในงานที่ทำจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เทคนิคการเล่าเรื่องฉบับ #beartai
นอกจากนี้คุณหนุ่ยยังบอกด้วยว่า เพราะความรู้มันเก่าเร็ว เราจึงต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา พร้อมกับฝากข้อคิดดี ๆ ว่าถ้าเราทำงานดีขึ้นสิ่งอื่นก็จะดีขึ้นตามไปด้วย และได้แชร์เทคนิคการเล่าเรื่องแบบแบไต๋ไว้ในช่วงสุดท้าย
- เล่าในสิ่งที่รู้ รู้ในสิ่งที่เล่า
- สื่อไหนเหมาะกับอะไร
- เติมความรู้ให้กับทีมเสมอ
- ใช้สูตร S.P.Y.
- Simple เรียบง่าย
- Persuasive โน้มน้าวใจ
- Youthful สดใหม่เสมอ
- ภูมิใจเสนอ อยู่เสมอ โอบรัดกับความรู้สึกดีที่ได้แบ่งปัน
ทำคอนเทนต์ให้ดี แล้วงานโฆษณาจะเข้ามาเอง
หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ @ CTC 2022
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส